ความทรงจำ 60 ปี DATSUN และ NISSAN ในบ้านเรา
สยามกลการ “เพื่อนที่แสนดี” ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ 4 กันยายน ค.ศ. 1952 เบ็ดเสร็จก็ 60ปี ...หากย้อนหลังกลับไปซักครึ่งศตวรรษยุคปี ค.ศ. 1962 ที่สยามกลการเปิดศูนย์ ศรีจันทร์ ประกอบรถ ดัทสัน เมื่อเดือนสิงหาคม และเปิดดำเนินการในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1962 ในวงเงินจดทะเบียนสองล้านบาท และเพิ่มทุนดำเนินการอีก 40 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่คุ้นเคยกับรถญี่ปุ่นซักเท่าไรนัก เพิ่งจะมาทำความรู้จักกับรถญี่ปุ่นครั้งแรกก็ตอนแม่พาไปเที่ยว เพราะเป็นช่วงที่รถแท็กซี่เริ่มเปลี่ยนจากรถฝรั่ง เรโนลต์ กับ อัสติน มาเป็นรถ ดัทสัน บลูเบิร์ด จึงได้สัมผัสกับรถญี่ปุ่นครั้งแรกก็ตอนนั้นเอง
ยังจำได้เลยว่ายุคนั้นค่าแท็กซี่ที่ไม่มีแอร์และต้องต่อรองราคากัน มักจะอยู่ที่ 6-10 บาทเป็นพื้น แต่ถ้าไปไกลหรือเป็นสถานที่ซึ่งคนขับแท็กซี่ไม่รู้จัก ก็จะเรียกค่าโดยสารเอาไว้ก่อนที่ 12 บาท จึงเป็นอันรู้กันว่าถ้าแท็กซี่เรียก 12 บาท เมื่อไหร่ แสดงว่าไปไกล หรือแท็กซี่ไม่รู้จักสถานที่ว่าอยู่ตรงไหน เตรียมตัวบอกทางซะดี ๆ ไม่งั้นหลงไม่รู้ด้วย
ยุคนั้นรถแท็กซี่จะหันมาใช้ ดัทสัน บลูเบิร์ด กันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะแข็งแรงทนทาน ดูดี และนั่งสบาย จนต่อเนื่องมาถึงยุค ดัทสัน บลูเบิร์ด ตัว 510 หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่ารุ่น “เพลาลอย” ซึ่งคราวนี้ดีกรีความนิยมขึ้นกันชนิดสูงสุด และไม่ได้จำกัดเฉพาะแท็กซี่เท่านั้น ส่วนตัวก็มีใช้กันอย่างคับคั่ง จำได้ว่ารุ่นแรกจะมีเครื่อง 1300 ซีซี บล็อก L 13 กับ 1600 ซีซี บล็อก L 16 แผงมาตรวัดเป็นสี่เหลี่ยมยาว เกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ เป็นเกียร์พวงมาลัย ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ในยุคที่นิยมเกียร์มือ ส่วนเกียร์กระปุกที่ตั้งบนพื้นจะถือว่าเป็นเกียร์ของรถบรรทุก นอกจากนั้นยังมีรุ่นพิเศษเกียร์อัตโนมัติเครื่อง 1800 ซีซี บล็อก L 18 เข้ามาเป็นพิเศษด้วย และสำหรับตัว 510 รุ่นสุดท้ายก็จะใช้เครื่อง 1400 ซีซี บล็อก L14 แผงมาตรวัดเปลี่ยนเป็นทรงตั้งดูทันสมัยขึ้น
ช่วงนั้นหากเป็นวัยรุ่นรถในฝันก็ต้องเป็น ดัทสัน 1200 ตัว B 110 ที่หล่อถูกใจวัยรุ่นในยุคนั้นมากมาย แต่อันที่จริงสุดยอดแห่งฝันก็ต้อง ดัทสัน 240 Z หรือ FAIRLADY Z ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก ดัทสัน FAIRLADY SPL311 รถสปอร์ตดั้งเดิมของค่าย ดัทสัน ที่วางเครื่องบล็อก R4 1596 ซีซี 96 แรงม้า ซึ่งถูกซื้อกลับไปญี่ปุ่นหรือต่างประเทศกันหมดแล้ว เพียงแต่รู้ตัวว่า ไกลเกินฝัน สำหรับวัยรุ่นยุคนั้น โดยรถรุ่นนี้ไปสร้างชื่อให้กับ ดัทสัน ในสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างมาก ชนิด ฟาร์ราห์ ฟอว์เซตต์ “นางฟ้าชาร์ลี” ยังใช้เลยคิดดูละกัน สำหรับวัยรุ่นบ้านเรายุคนั้นหากไต่ระดับไปไม่ถึง ดัทสัน 1200 ก็ต้องยอมลดระดับลงมาหน่อย โดยหันไปคบกับ ดัทสัน 1000 แทน ทั้งรุ่น 2 ประตู 4 ประตู และตัวคูเป้ ซึ่งก็ถือว่าโฉบเฉี่ยวยั่วใจสาวได้มากแล้ว
จุดเด่นอันเป็นที่รู้จักสำหรับรถที่มีตรา ดัทสัน แปะอยู่ก็คือเรื่องของความประหยัดน้ำมัน ซึ่งอยู่ในแถวหน้ามาตลอดโดยเฉพาะตัว ดัทสัน ซันนี่ จะขึ้นชื่อเลยว่าประหยัดน้ำมันอย่างสุด ๆ ดังนั้นหากใครต้องการรถที่ประหยัดน้ำมัน ก็ต้องหันไปชี้นิ้วที่ตัว ดัทสัน ซันนี่ เป็นอันดับแรก แต่ในช่วงยุคของรถขับหลังที่ยังได้รับความนิยมสูง(มาก) อยู่นั้น ทางดัทสัน ก็นำเสนอรถ ดัทสัน CHERRY 100 A ต้นกำเนิด ดัทสัน PULSA มาในรูปแบบของขับเคลื่อนล้อหน้าที่กว้างขวางและประหยัดน้ำมัน เพียงแต่ตอนนั้นค่านิยมของรถขับหน้ายังไม่สู้ดี ในเรื่องของความทนทานก็เลยไม่ได้รับความสนใจซักเท่าไหร่นัก
ยุคที่มีการเปลี่ยนชื่อจาก ดัทสัน มาใช้ นิสสัน เหตุการณ์ที่ไม่ลืมเลือน ก็เป็นเรื่องของตัว นิสสัน เซฟิโร A31 ที่มาในรูปลักษณ์ของรถขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลัง ช่วงเปิดตัวตอนแรก ซึ่งยังไม่มีการลดภาษีถึงแม้ค่าตัวจะว่ากันเกินล้านบาท แต่ก็มีการต้อนรับอย่างคับคั่งเกินความคาดหมาย เป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับวงการรถบ้านเรา ส่งสัญญาณบอกกล่าวว่าหากเป็นรถดีมีความทันสมัย แม้รถจะมีราคาแพงไปบ้างก็จะมีการตอบรับที่สะใจ
ยุคบุกเบิกของรถกระบะที่ยังไม่เป็น “โปรดักต์แชมเปี้ยน” เหมือนสมัยนี้รถกระบะของ ดัทสัน ก็ได้รับความนิยมสูงมาก บางปีก็เป็นรถกระบะที่มียอดจำหน่ายสูงสุด สำหรับตัวเริ่มต้นที่แรกรู้จักนั้น ช่วงปีสูงสุด สำหรับตัวเริ่มต้นที่แรกรู้จักนั้น ช่วงปี 1965-1969 จะเป็นตัว L 520 วางเครื่องบล็อก J 13 ความจุ 1299 ซีซี 62 แรงม้า และช่วงปี 1968-1973 ก็มี PL 521 วางเครื่องยนต์ 1600 กับ 1800 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรุ่น 620 ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญและตั้งฉายาให้กับรถรุ่นนี้ว่า “กระบะช้างเหยียบ” โดยการโฆษณาจะเอาช้างเดินขึ้นกระบะท้าย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักและความทนทาน กลายเป็นชื่อสร้างความนิยม และสร้างความรู้จักกับรถกระบะ ดัทสัน เป็นอย่างดี
ปกติพวกรถกระบะยุคแรกนั้นมักจะใช้เครื่องยนต์เบนซินกันเป็นพื้น หรือแม้กระทั่งพวกรถบรรทุกคันโตก็ยังใช้เครื่องยนต์เบนซินเหมือนกัน ซึ่งพวกเครื่องจะมีปัญหาเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง สมัยน้ำมันราคาถูกก็แค่เปรย ๆ กันเท่านั้น แต่เมื่อน้ำมันเบนซินเริ่มแพงขึ้นเรื่อย ๆ คราวนี้เริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงบ่นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทาง ดัทสัน นั้นไวอยู่แล้วเลยนำเอาเครื่องดีเซลเข้ามาใส่ในรถกระบะ ช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำลง และที่สำคัญเครื่องดีเซลจะมีการบำรุงรักษาต่ำกว่าเครื่องเบนซินเยอะ ไม่ต้องดูแลอะไรกันมาก นอกจากนี้เครื่องดีเซลยังมีอายุการใช้งานยืนยาวมากกว่าเครื่องเบนซินอีกด้วย ทำให้เครื่องยนต์ดีเซล ที่มีปัญหาเรื่องเสียงดัง สั่นสะเทือน เหม็นน้ำมัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
จุดเด่นของรถกระบะ ดัทสัน ที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้ อยู่ที่ความกว้างขวางภายในของห้องโดยสาร แม้จะเป็นแค็บเดี่ยวก็ยังนั่งสบายกว่าคู่แข่งที่คับแคบอึดอัด ช่วงล่างก็แข็งแกร่งทนทาน นุ่มนวลและมีประสิทธิภาพสูงกว่า ทำให้ผู้ที่ต้องการรถไว้ใช้งานบรรทุกอย่างแท้จริงจัดเป็น “ขวัญใจของคนทำกิน” อย่างตัว 720 ที่มีวิ่งกันเกลื่อนเมืองในยุคนั้น ก็ได้รับความนิยมอย่างมากมาย เรียกว่าหากใครจะซื้อรถกระบะต้องมองเป็นตัวเลือกอันดับแรกเลย หรือแม้จะเปลี่ยนมาเป็นรุ่น BIG M แล้ว ก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างไม่เสื่อมคลาย
อันที่จริงรถ ดัทสัน หรือที่ตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น นิสสัน นั้นถือได้ว่าเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ของรถยนต์อย่างแท้จริง เพียงแต่มาไวและเร็วมากจนกระทั่งบางทีผู้ใช้รถก็ตามกันไม่ค่อยจะทัน อย่างเช่นเป็นผู้ริเริ่มใช้เครื่องยนต์ดีเซลในรถกระบะ ใช้กระจกละลายฝ้าด้านหลังให้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ในรถกระบะหรือเป็นผู้ริเริ่มใช้เกียร์อัตโนมัติกับรถขนาดเล็ก ๆ รวมทั้งริเริ่มนำรถขับเคลื่อนล้อหน้าเข้ามาใช้ในบ้านเรา ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายเกินจะกล่าว และล่าสุดก็เปิดตัว นิสสัน March รถ Eco Car เป็นรายแรก อันเป็นการสร้าง นวัตกรรมในด้านประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลภาวะ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเกินความคาดหมาย
อาณาจักรของสยามกลการยิ่งใหญ่และกว้างขวางเกินบรรยาย จากประวัติอันยาวนานของบริษัท จึงผูกพันกับรถยนต์ในบ้านเรามาช้านาน จนยากที่จะกล่าวถึงได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น INFINITI Q45 , CEDRID , PRESEA , PRIMERA , PULSAR , 300 ZX , 200 SX , PATROL, TERRANO II , SERENA ฯลฯ ซึ่งมีโลดแล่นให้เห็นอยู่ตามท้องถนนในทุกวันนี้
เรื่องโดย.... วิเชียร ไชยอนงค์ศักดิ์
คัดลอก หนังสือ 60 ปีสยามกลการ