ปี 2009 ตลาดรถยนต์หรูระดับสูงสุดของค่ายยุโรปดูจะคึกคักเป็นพิเศษหลังการเปิดตัวและรุกทำตลาดอย่างเต็มเหนี่ยวของ “ซีรี่ส์ 7” รถธงค่ายใบพัดฟ้าขาว เพื่อหวังช่วงชิงลูกค้าของคู่แข่งตลอดกาล “เอส-คลาส” แห่งค่ายดาวสามแฉก ที่ครองความเป็นเจ้าตลาดรถระดับนี้ของเมืองไทยอยู่
ช่วงแรกบีเอ็มดับเบิลยู เปิดตลาดซีรี่ส์ 7 ด้วยรุ่นนำเข้าสำเร็จรูป(CBU) ก่อนที่จะเผยโฉมรุ่นประกอบในประเทศ ด้วยราคาที่ต่ำลงกว่าเดิมนับล้านบาทสำหรับรุ่น 740Li สนนราคา 8.999 ล้านบาท ให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น พร้อมกับการมาของทางเลือกในรุ่น เครื่องยนต์ดีเซล 730Ld ที่มากับค่าตัว 7.599 ล้านบาท
ซึ่งASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง มีโอกาสได้ทดลองขับทั้ง 2 รุ่นในคราวเดียวกัน จากการเชิญไปร่วมทริปทดลองขับซีรึ่ส์ 7 บนเส้นทางกรุงเทพฯ- พัทยา พร้อมแวะชมโรงงานประกอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูที่จังหวัดระยอง เพื่อให้เห็นกระบวนการผลิตอันทันสมัยและพิถีพิถันได้คุณภาพสมกับความเป็นรถสัญชาติเยอรมัน
ก่อนอื่นเราขอบอกถึงความแตกต่างด้านสเปคของทั้ง 2 รุ่นก่อนนอกเหนือจากเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลที่มีพละกำลังต่างกันแล้วจะมีเรื่องของ อุปกรณ์ของรุ่นเบนซินที่จะมากกว่า ได้แก่ ขนาดของล้อและยางเป็น 19 นิ้วขณะที่รุ่นดีเซลเป็น 18 นิ้ว, มีระบบแจ้งข้อมูลบนกระจกหน้าหรือ Head up display และระบบปรับอากาศตอนหลังด้านบน ส่วนที่เหลือจะเหมือนกัน
การเดินทางเริ่มจากโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ เราประจำตำแหน่งผู้ขับก่อนในเจ้า 730Ld พร้อมนำพาผู้ร่วมเดินทางอีก 3 ชีวิต สัมผัสแรก คือการได้รู้สึกถึงคุณภาพระดับเนียบสุดของวัสดุภายในไม่ว่าจะเป็นคอนโซลหน้า,คอนโซลกลาง, เบาะหนังแท้และแผงข้างประตู
การจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในจุดที่ใช้งานง่ายกว่ารุ่นก่อนหน้า การบังคับและใช้งานปุ่ม ไอ-ไดร์ฟ (i-Drive)ไม่ยากเหมือนก่อน แต่อาจจะต้องทำความเข้าใจและอาศัยเวลาสร้างความคุ้นเคยมากกว่าเดิมหน่อย เนื่องจากฟังก์ชั่นเมนูควบคุมที่ละเอียดและหลายหลายขึ้น
ติดเครื่อง เปิดประตู ฟังเสียงของเครื่องยนต์ดังกระหึ่มชนิดไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นเครื่องยนต์ดีเซล แต่เมื่อปิดประตู ความเงียบเข้ามาแทนที่เช่นเดียวกับรถดีเซลรุ่นอื่นๆ ของค่ายใบพัดฟ้าขาว เมื่อทุกอย่างพร้อมเหยียบคันเร่ง แรงบิดสูงสุดระดับ 540 นิวตันเมตรที่รอบกว้าง 1750-2500 รอบ/นาที นำพา 730Ld ทะยายออกไปอย่างสบายๆ และนุ่มนวล
การขับช่วงแรกแบบในเมือง ด้วยความเป็นรถซีดานขนาดใหญ่ มุมมองต่างๆ ด้านหน้าจึงค่อนข้างกว้างและชัดเจน แต่ความคล่องตัวจะน้อยกว่ารถเล็ก บางจังหวะของการเปลี่ยนเลนจำต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะความยาวของตัวรถเป็นต้นเหตุนั่นเอง (ประกอบกับราคาค่าตัวกว่า 7 ล้านบาททำให้ผู้ขับหวั่นใจพอสมควร)
สำหรับตัวรถแม้จะมีน้ำหนักรวมกว่า 2 ตัน แต่พละกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ดีเซล 218 แรงม้า เพียงพอสำหรับการขับขี่ในทุกย่านความเร็ว ซึ่งเราได้พิสูจน์หลังจากขับวิ่งออกนอกเมืองบนถนนเส้นมอเตอร์เวย์ เพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดระยองอันเป็นจุดหมายแรก
ระหว่างการเดินทางสอบถามผู้โดยสารที่นั่งตอนหลังทั้ง 2 ท่านซึ่งเป็นสุภาพสตรีว่า รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง พวกเธอบอกว่า นั่งสบายดี เบาะปรับได้หลายทิศ แถมมีทีวีดูแบบส่วนตัวทั้งเบาะซ้ายและขวา เฉพาะเบาะซ้ายมีปุ่มปรับเลื่อนเบาะผู้โดยสารด้านหน้าได้อีกด้วย หรูหราดูไฮโซมากค่ะ
เราขับด้วยความเร็วเฉลี่ยระหว่าง 120-140 กม./ชม. ตามตำรวจที่มานำขบวนซีรี่ส์ 7 เกือบ 10 คันของทริปนี้ บางช่วงเราพยายามทำความเร็วสูงสุดได้เต็มที่ 160 กม./ชม. ทั้งที่พละกำลังยังเหลืออีกมาก แต่ด้วยข้อจำกัดการขับเป็นขบวนจึงไม่สามารถขับเร็วกว่านั้นได้
ความรู้สึกเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงแทบไม่แตกต่างจากการวิ่งด้วยความเร็วสัก 100 กม./ชม. รถยังคงนิ่งและเกาะถนนตามสไตล์บีเอ็มดับเบิลยู พวงมาลัยให้ความรู้สึกกระชับหนักแน่น การส่งกำลังของเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดทำได้อย่างนุ่มนวลไร้รอยต่อ
730Ld จะมีเรื่องขัดใจเรานิดหน่อย ก็ตรงเสียงของเครื่องยนต์ดีเซลที่ดังเข้ามารบกวนเล็กน้อยในยามกดคันเร่งคิกดาวน์ อันเป็นสไตล์ของรถเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป ส่วนเสียงลมเริ่มดังรบกวนเล็กน้อยที่ความเร็วแตะ160 กม./ชม.
เมื่อถึงจุดหมายโรงงานประกอบรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูเข้าไปดูไลน์ผลิตและการตรวจสอบคุณภาพรถพอหอมปากหอมคอ และเมื่อออกมาก็ถึงคิวของการเปลี่ยนรถมาขับในรุ่น เครื่องยนต์เบนซินบ้าง
สำหรับตัวเบนซินแม้ชื่อเรียกจะเป็น 740Li แต่เครื่องยนต์ที่ประจำการอยู่เป็นเครื่องยนต์ขนาด 3.0 ลิตร ที่มีกำลังสูงสุด 326 แรงม้า เนื่องจากบีเอ็มดับเบิลยูต้องการสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่าย ถึงความแตกต่างจากซีรี่ส์ 7 รุ่นย่อยอื่น
ความรู้สึกแรกหลังเข้าประจำการ ไม่มีอะไรแตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล แต่เมื่อเราติดเครื่องและเหยียบคันเร่งออกตัว ความแตกต่างชัดเจนมาก ทั้งในด้านของกาาตอบสนอง และระบบแสดงข้อมูลบนกระจกหน้า ที่ให้เราทราบข้อมูลความเร็ว โดยไม่ต้องละสายตาจากหน้ารถ
ในส่วนของพละกำลัง 326 แรงม้าของเบนซิน จัดจ้านกว่ารุ่นเครื่องยนต์ดีเซลไม่น้อย แถมยังดีกว่าในด้านของเสียงรบกวนเมื่อยามเรากดคันเร่งคิกดาวน์ ความเร็วสูงสุด เราวิ่งได้เพียง 150 กม./ชม. เพราะต้องไปเป็นขบวน การตอบสนองของเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมทุกย่านความเร็ว คงเอกลักษณ์ความเป็นสปอร์ตของบีเอ็มดับเบิลยูไว้ไม่เสื่อมคลาย
ความรู้สึกของช่วงล่างหนึบเช่นเดียวกับรุ่นดีเซล เราขับเป็นระยะทางเกือบ 100 กม. ด้วยเวลาไม่นานก็มาถึงที่พัก รอวันพรุ่งนี้สำหรับการขับซีรี่ส์ 7 กลับเข้ากรุงเทพฯ
ช่วงขากลับเราได้ขับรุ่นดีเซลอีกครั้งตามการตกลงของทีมงานบีเอ็มดับเบิลยู โดยครวนี้ผู้เขียนขอจองที่นั่งทางด้านหลัง เพราะได้ฟังความร่ำลือจากผู้โดยสารที่นั่งก่อนหน้าและทีมผู้บริหารของค่ายใบพัดฟ้าขาวที่นำเสนออย่างออกนอกหน้าว่า เบาะหลังนั้นสร้างมาเพื่อบุคคลผู้นำโดยเฉพาะ
เบาะนั่งหลังปรับได้ แต่ปรับอย่างไรก็ไม่เหมาะกับเราเท่าไหร่ นั่งมาได้ไม่นานในเส้นทางเดิมที่ขับมา รู้สึกชัดเจนว่า นั่งสบายสู้เบาะนั่งของผู้ขับไม่ได้ (สงสัยผู้เขียนคงจะเหมาะกับการเป็นสารถีมากกว่า การเป็นผู้นำ) เช่นเดียวกับสุภาพสตรีที่เคยนั่งอยู่ด้านหลังได้ไปนั่งที่เบาะโดยสารด้านหน้าแล้วแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้เขียนว่า เบาะหน้านั่งสบายกว่าจริงๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามเบาะนั่งด้านหลังนั้นเมื่อเทียบกับซีรี่ส์ 7 รุ่นก่อนๆ ถือว่าโฉมปัจจุบันได้ปรับให้มีความสบายมากขึ้นแล้ว แม้จะไม่มากกว่าเบาะนั่งด้านหน้าแต่ก็ถือว่า ดีกว่าเดิม ขณะที่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส เสียงจากผู้เคยนั่งบอกอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า เบาะนั่งหลังของเบนซ์สบายกว่าเบาะนั่งหน้า
สรุป บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 7 ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลหรือเบนซิน นับเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้บริหารที่ชอบขับรถเองมากกว่านั่งเฉยๆ ทางด้านหลัง ด้วยออปชันและสมรรถนะเรียกว่าไม่เป็นรองคู่แข่ง จะมีก็เพียงราคา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนขณะนี้ จึงต้องบอกว่า สูงเอาเรื่อง แต่หากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจดี ราคาแค่นี้เศรษฐีไทยบอกว่า “จิ๊บๆ”