xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้าปลุกจิตสำนึกคนไทยรักษ์สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะครู-นักเรียน-เจ้าหน้าที่เทศบาล ร่วมถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก ณ สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้า ชิราคาวา-โก
เพราะโลกนี้มิใช่ของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของเราทุกคน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงจับมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปลุกจิตสำนึกให้ชุมชนทั่วประเทศตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน Global Warming ผ่านโครงการที่ชื่อว่า "ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา"
สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้า ชิราคาวา-โก
ตลอด 4 ปีที่โตโยต้า และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกันทำโครงการ “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ หนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้เมือง โรงเรียน และชุมชนทั่วประเทศตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ,ริเริ่มวิธีลดการใช้พลังงานและลดก๊าซเรือนกระจกในเมืองของตนให้อย่างเหมาะสมกับบริบทของเมือง

ทิวทัศน์รอบ ๆ สถาบันฯ
สอง ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับเทศบาลให้สามารถเป็นหน่วยงานหลักและเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโลกร้อน รวมถึงแนวทางในการดำเนินงานเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และสุดท้าย เพื่อสร้างเครือข่ายแกนนำลดเมืองร้อน ทั้งในส่วนของเทศบาลแกนนำและโรงเรียนแกนนำในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย

ห้องเก็บหิมะขนาดใหญ่เพื่อใช้ทำความเย็นทดแทนเครื่องปรับอากาศในฤดูร้อน
ดังนั้นในแต่ละปีจะมีเทศบาลและโรงเรียนทั่วประเทศที่มีใจรักที่จะปกป้องโลกเข้าร่วมโครงการผ่านการนำเสนอโครงงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี ซึ่งตัวแทนจากเทศบาลและคณะครู เยาวชน ที่ได้รับการคัดเลือกนั้นจะได้รับการอบรมแกนนำโครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีเทศบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 104 เทศบาล 126 โรงเรียน ใน 61 จังหวัด ทำให้เกิดโครงการที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนที่เป็นรูปธรรมกว่า 300 โครงการ
เมื่อมาถึงสถาบันฯเด็ก ๆ ก็เริ่มกิจกรรมแรกกันเลย
พื่อเป็นการตอบแทนสำหรับความมุ่งมั่นของครู เยาวชน และตัวแทนจากเทศบาล โตโยต้า มอบรางวัลทัศนศึกษาและอบรมด้านสิ่งแวดล้อมแก่โครงการดีเด่น 3 อันดับ ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมและอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ณ สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้า ชิราคาวา โก ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการในอนาคต

ธารน้ำหน้าสถาบันฯที่นักเรียนนำมาทดลอง
3 โครงการที่ชนะใจกรรมการคือ “โครงการนครตรังร่วมใจ สร้างเครือข่าย ต้านภัยโลกร้อน” เทศบาลนครตรังและโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา “โครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ขยะรวมใจ ห่วงใยโลกร้อน” เทศบาลตำบลท่าลี่และโรงเรียนท่าลี่วิทยา และ “โครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ชาวเกาะคา” เทศบาลตำบลเกาะคาและโรงเรียนเกาะคาวิทยาคม รวมคณะครู นักเรียน และตัวแทนจากเทศบาลทั้งหมด 24 คน

กิจกรรมนี้สอนให้นักเรียนแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำแล้วนำไฮโดรเจนมาขับเคลื่อนรถยนต์จำลอง
ภารกิจแรกของการเดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของครู เยาวชน และตัวแทนจากเทศบาล เริ่มจากการเข้าเยี่ยมชม “หอนิทรรศการโตโยต้าไคคัง” ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและสื่อภาพและเสียงเพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า ทั้งในการผลิตรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,การรับผิดชอบต่อการรีไซเคิลรถเก่า ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากมาย รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์อย่างไฮบริดและรุ่นไฟน์-เอ็กซ์ ยานยนต์ในทศวรรษหน้าที่กำลังพัฒนาขึ้นเพื่อการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงของหุ่นยนต์เล่นดนตรีให้ชมกันด้วย


ภารกิจที่สองทั้งคณะได้ไปเยือนโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า ซิซิมิ ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบแห่งความยั่งยืน (Sustainable Plant) หรือโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพนักงานทุกคนเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (อ่านรายละเอียดครั้งหน้า)
ต้นไม้ในป่าที่ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างสมบูรณ์
สำหรับไฮไลท์ของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่ “สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้าชิราคาวา-โก” สถาบันแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นโรงเรียนธรรมชาติ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชิราคาวา-โกที่งดงามที่สุดในประเทศทางตะวันออกเหนือสุดของเขตปกครองจังหวัดไจฟู (Gifu) ที่สำคัญที่นี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1995 มีบ้านแบบกัสโชสึคุริ (Gassho-zukuri) เป็นบ้านชาวนาโบราณที่มีอายุมากกวา 250 ปี ดังนั้นเมื่อเด็ก ๆมาถึงต่างตื่นเต้นกับบรรยากาศรอบ ๆตัวรวมถึงกิจกรรมทีทางเจ้าหน้าที่เตรียมไว้ต้อนรับตั้งแต่วินาทีแรกเมื่อมาเยือน
ครูฝึกกำลังสอนวิธีการตัดต้นไม้ที่ถูกต้อง
โปรแกรมแรกที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คือ กิจกรรมพลังงานทดแทน กิจกรรมนี้สอนให้นักเรียนสามารถแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำแล้วนำไฮโดรเจนที่ได้มาขับเคลื่อนรถยนต์จำลอง โดยนำน้ำจากธารน้ำมาทำการทดลองแยกน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อให้ได้ไฮโดรเจนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับ fuel cell และเรียนรู้ว่าเราได้พลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติและให้รู้ถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ในการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้ และน้ำถือเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไปได้และเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเพราะไอเสียที่ออกมาคือน้ำ และสอนให้เห็นความสำคัญของป่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำด้วย จากการทดลองนี้ยังเชื่อมโยงถึงความเป็นไปได้ในอนาคตในการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำคือ Toyota FCHV (Fuel Cell Hybrid Vehicle อีกด้วย

ก่อนจะตัดต้นไม้ ต้องตัดอย่างถูกต้องคือเป็นรูปสามเหลี่ยมปากฉลาม
กิจกรรมที่สองเป็นการเดินสำรวจป่าในตอนกลางคืน กิจกรรมนี้สอนให้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการใช้ชีวิตกับธรรมชาติให้อยู่อย่างกลมกลืน พอเพียง เมื่อก่อนเราไม่มีไฟฟ้าแต่มีเพียงเทียนไขเล่มเดียว เราก็สามารถอยู่ในป่าได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้พวกเราทดลองปิดตาหนึ่งข้างแล้วมองที่แสงไฟจากเทียนไขสักครู่จากนั้นให้เปิดตาทั้ง 2 ข้าง ดูว่าความชัดเจนในการมองเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งตาที่เราไมได้ปิดนั้นจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าเพราะธรรมชาติของมนุษย์จะสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้
ช่วยกันดึงหลังจากผูกเชือกแล้ว
นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ให้พวกเราหามุม สถานที่เหมาะ ๆ ในการยืน หรือนั่ง อย่างสงบนิ่ง เพื่อให้เราฟังเสียงจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา พร้อมสอนให้เราอยู่กับตัวเอง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น

วิธีการดึงต้นไม้หลังจากตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก่อนเดินทางกลับเช้าของวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่นำคณะออกเดินทางเข้าป่าอีกครั้งเพื่อเรียนรู้การดูแลรักษาป่า เนื่องจากในญี่ปุ่นจะมีป่าไม้มากกว่าประเทศไทยและก็ไม่มีคนทำลายป่าเพราะผลิตภัณฑ์จากป่าไม่ค่อยมีราคา ปัญหาคือทำให้ต้นไม้ในป่าเติบโตได้ไม่เต็มที่ กิจกรรมนี้สอนให้นักเรียนรู้จักการดูแลป่าไม้ โดยต้นไม้ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์นั้นจะต้องมีพื้นที่อย่างเพียงพอสำหรับราก ลำต้น กิ่งก้านสาขา และได้รับแสงแดดเพียงพอในการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ หากป่าไม่ได้รับการดูแลรักษาต้นไม้ขึ้นเบียดเสียดกันมากเกินไปไม้แต่ละต้นก็จะไม่แข็งแรง ความสามารถในการกักเก็บน้ำ หรือเกาะยึดผิวดินก็จะไม่ดีเท่าที่ควร

ตัดใบไม้มาทำเป็นปุ๋ย ส่วนลำต้นนำมาใช้ทำฟืน
การดูแลป่าของคนญี่ปุ่นคือเลือกตัดต้นไม้บางต้นเพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างต้นให้ต้นไม้เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาได้อย่างเต็มที่และช่วยเร่งการเติบโตขึ้นมาเพื่อรับแสงแดด ซึ่งวิธีการตัดต้นไม้ก็ต้องตัดอย่างถูกต้อง โดยคำนวณดูทิศทางที่ต้นไม้จะล้ม,ผูกเชือกไว้ที่ต้นไม้เพื่อดึงลง,ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมปากฉลามโดยมีคนดูทั้ง 2 ด้าน ขณะตัดใบของต้นที่ตัดก็จะนำมาเป็นปุ๋ยให้กับต้นที่เหลืออยู่ ส่วนลำต้นที่ตัดมาก็นำมาใช้ทำฟืนต่อได้

เหลือแต่ต่อ
กิจกรรมนี้จึงสอนให้นักเรียนเลือกตัดต้นไม้ที่ไม่เหมาะสมออกบ้าง เพื่อให้ไม้ใหญ่ได้เติบโตอย่างเต็มที่ โดยสอนถึงวิธีการตัดไม้อย่างถูกต้องและฝึกการทำงานเป็นทีม รวมถึงการสอนการนับวงปีเพื่อดูอายุไม้ด้วย

ครู-นักเรียน-เจ้าหน้าที่เทศบาลนครตรัง และโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เชื่อว่าคงไม่สูญเปล่า คณะครู นักเรียน เจ้าหน้าที่เทศบาล จะนำไปถ่ายทอดพร้อมปรับใช้ในชุมชนของตนเองและชักชวนให้เพื่อน ๆ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เนื่องจากภาวะโลกร้อน Global Warming กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ณ ปัจจุบัน ฉะนั้นทุกคนบนโลกต้องช่วยกันดูแลรักษา เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า “โลกนี้ไม่ใช่ของเราเพียงคนเดียว” แต่เป็นของเราทุกคน

ครู-นักเรียน-เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลท่าลี่  และโรงเรียนท่าลี่วิทยา จ.เลย
ครู-นักเรียน-เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเกาะคาและโรงเรียนเกาะคาวิทยาคม จ.ลำปาง
ผู้บริหารโตโยต้าให้การต้อนรับคณะครู นักเรียน เจ้าหน้าที่เทศบาล จากไทย
บ้านสไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม เรียกว่า กัสโซสึคุริ  ซึ่งแปลว่า พนมมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น