หากคุณมีหัวใจเป็นนักเดินทาง ชอบการผจญภัย ไม่กลัวความลำบาก มีเวลาว่างแยะ ที่สำคัญชอบขับรถ และเงินมิใช่ปัญหาใหญ่ละก็ อยากเชิญชวนให้ลองขับรถเที่ยวบนเส้นทางแพรไหม เส้นทางการค้าที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันออกสู่ตะวันตก แทนการเที่ยวแบบหรู ๆกันดูบ้าง เพราะสิ่งที่คุณพบเห็น และสัมผัส จะทำให้คุณประทับใจชนิดลืมไม่ลง
เหนืออื่นใดเส้นทางแพรไหมนี้ในอดีตมีบุคคลสำคัญของโลกถึง 3 ท่าน ได้เดินทางผ่าน และมี 2 ท่านใช้เส้นทางแพรไหมเดินทางเพื่อจารึกแสวงบุญและอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียกลับมายังประเทศจีนและนำมาแปลเป็นต้นแบบในการสั่งสอนประชาชนคนจีนและได้ส่งผลต่อพระพุทธศาสนาในประเทศจีนต่อมาอย่างลึกซึ้ง
คนแรกคือ พระฝ่าเสียน (Fa Xian) หรือหลวงจีนฟาเหียน ท่านได้ออกจาริกไปตามเส้นทางแพรไหมในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ปีค.ศ. 399) และกลับถึงนครฉางอันในปี ค.ศ. 414 รวมระยะเวลาเดินทาง 15 ปี สำหรับคนที่สองคือ พระถังซำจั๋ง ในสมัยราชวงศ์ถัง การเดินทางของท่าน 16 ปี นับเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่จนเป็นที่เล่าขานในตำนานซีโหยจี้ หรือไซอิ๋ว
บุคคลที่ 3 คือ มาร์โค โปโล สำหรับนักเดินทางคนนี้ออกเดินทางไปยังประเทศจีนตั้งแต่อายุ 17 ปี และกลับมาถึงมาตุภูมิแผ่นดินเกิดเมื่ออายุได้ 51 ปี (ค.ศ.1271ถึง1259) และมรดกสำคัญชิ้นหนึ่งของตะวันออกที่ได้ติดตามตัวมาร์โค โปโล กลับมาถึงเมืองเวนิส ด้วยคือ เส้นก๋วยเตี๋ยว ที่นำไปดัดแปลงให้เป็นเส้นสปาเกตตีจนเป็นอาหารประจำชาติของอิตาลีมาถึงปัจจุบัน
บวกกับสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างทางไม่ว่าจะเป็น มหาสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ,กำแพงเมืองซีอัน, ด่านเจี่ยยวี่กวน ด่านที่ยิ่งใหญ่ด้านตะวันตกของกำแพงเมืองจีน, ภูเขาทรายหมิงซาซาน ถ้ำโม่เกา , เมืองเกาชางเมืองเก่าแก่ในดินแดนของมุสลิม ,ยอดขายเทียนซานที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี ,พิพิธภัณฑ์ประจำเมืองซินเกียง ที่มีซากมัมมี่ที่เก่าแก่ให้ชม,ทะเลสาบไซราม เป็นต้น นี่ยังไม่รวมความสวยงามของวิวทิวทัศน์สองข้างทาง วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนแถบนี้ ซึ่งหาชมได้ยากนอกจากเส้นทางแพรไหมเท่านั้น
อ่านดูแล้วหลายคนเริ่มสนใจ แต่อยากจะบอกว่าที่เกริ่นมาข้างต้นนั้นเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังเปิดไม่ครบและสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังบรรยายไม่หมด ...หากคุณได้ไปจริง ๆ จะอึ้ง ทึ่ง เสียว (เสียวว่าจะผ่านด่านหรือไม่) กว่านี้แยะ
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้เกิดขึ้นจากบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย จำกัด ต้องการต่อยอดการเดินทางในรูปแบบคาราวาน ไฮลักซ์ วีโก้ ที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2547 จากเมืองไทยไปยังลี่เจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหนึ่งปีต่อมา คาราวานไฮลักซ์ วีโก้ เดินทางต่อจากเมืองลี่เจียงสู่กรุงลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต และครั้งที่ 3 เป็นการเดินทางสู่เส้นทางแพรไหม เริ่มจากเมืองซีอัน สาธารณรัฐประชาชนจีนไปสิ้นสุดทางหลวงสายเอเชีย Asia Highway ที่เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน รวมระยะทาง 5,000 กม. ตลอดระยะเวลา 14 วัน
แน่นอนพาหนะสำหรับการเดินทางยังคงเป็น “ไฮลักซ์ วีโก้” และ “ฟอร์จูนเนอร์” คันเดิมที่พาเราเดินทางมา 2 ทริปแล้ว และครั้งล่าสุดเจ้าไฮลักซ์ วีโก้ และฟอร์จูนเนอร์ก็ไม่ทำให้ผิดหวังสามารถพาผู้ร่วมเดินทาง 40 กว่าชีวิต ถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยชนิดไม่มีงอแง ทั้งที่เจอ ทั้งฝน ทั้งลม ทั้งเกล็ดน้ำแข็ง แถมอากาศหนาวเหน็บแทบขาดใจ งานนี้แอบเห็นอูฐ 2 โหนก สัตว์ที่คนโบราณใช้เป็นพาหนะในการเดินทางบนเส้นทางสายนี้น้ำตาซึมเพราะเจอคู่แข่งที่มีความแข็งแรง ทรหดไม่แพ้กัน
หากคุณจะเดินทางจริงเราขอแนะนำว่านอกจาก “ใจ” และ “กาย” ที่พร้อมจะเผชิญอุปสรรคข้างหน้าแล้ว คุณต้องเลือกพาหนะที่มีความอดทนเช่นเดียวกับอูฐ ซึ่งก็คือโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ หรือ ฟอร์จูนเนอร์ ด้วยเหตุผลสั้น ๆว่า เราได้พิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเอง
จุดเริ่มต้นของเส้นทางแพรไหมอันยาวไกลที่เราชักชวนคุณให้มาสัมผัสเริ่มต้นของเช้าวันที่ 3 ต.ค. 2550 โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นำพากลุ่มสื่อมวลชนจากหลายสำนักและนักวิชาการระดับแถวหน้าของเมืองไทยอีก 3 ท่าน คือ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และ อ.สมฤทธิ์ ลือชัย รวมทั้งหมดกว่า 40 ชีวิต เดินทางบนเส้นทางแห่งนี้ ภายใต้ชื่อ “ Hilux VIGO Challenger Caravan Trip To Silk Road”
ทั้ง 40 กว่าชีวิตบินลัดฟ้าจากกรุงเทพฯสู่เมืองกวางเจาก่อนต่อเครื่องบินไปเมืองซีอันจุดหมายปลายทางและจุดสตาร์ทของการเดินทางบนเส้นทางประวัติศาสตร์กว่า 3,000 ปี แต่ก่อนที่ขบวนคาราวานของเราจะออกเดินทาง คณะเราได้มีโอกาสเที่ยงชมเมืองซีอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี นครหลวงโบราณของจีน โดยมีจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของจีน “จิ๋นซีฮ่องเต้” เป็นผู้รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นและตั้งเป็นเมืองหลวงขึ้นมา
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ซีอันจะเป็นแหล่งโบราณคดีล้ำค่าอย่าง สุสานจักรพรรดิจิ๋นซีและสุสานทหารดินเผา รวมถึงวัดต้าสือเอินซื่อ หรือวัดเจดีย์ห่านป่าใหญ่ ซึ่งเป็นวัดที่พระถังซำจั๋งได้ขอจักรพรรดิถังเกาสร้างเจดีย์ (เจดีย์ต้าเอี้ยนถ่า) เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปและพระไตรปิฎกที่อัญเชิญมาจากอินเดียให้ปลอดภัย และแน่นอนพวกเราได้มีโอกาสไปเยือนวัดนี้ด้วยเช่นกัน
...ซือโฉวจือลู่ (Si Chou Zhi Lu) เป็นชื่อที่คนจีนเรียกเส้นทางแพรไหม คำว่า “ซือ” หมายถึง ผ้าไหม “โฉว” หมายถึง ผ้าแพร “จือลู่” หมายถึง เส้นทาง ดังนั้นเมื่อนำมาผสมกันจึงกลายเป็น “เส้นทางแพรไหม” ส่วนคำในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Silk Road ” เสียงอ. วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เปิดฉากเล่าถึงชื่อเสียงของเส้นทางที่เรากำลังเดินทางอยู่ผ่านคลื่นวิทยุ “ไฮลักซ์ วีโก้ หลังจากทุกคนได้แวะถ่ายภาพสัญลักษณ์ซึ่งเป็นรูปปั้นแกะสลักหินสีน้ำตาลอมส้มเป็นรูปขบวนกองคาราวานที่มีทั้งคนและอูฐ สลักโดยสถาบันศิลปวิทยาการแห่งเมืองซีอันเมื่อปี ค.ศ. 1988 และถือว่าจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแพรไหมอันยาวไกล...ปู้น
สภาพเส้นทางในช่วงแรกทั้งในเมืองและนอกเมืองค่อนข้างยุ่งเหยิงทั้งคน รถใหญ่ รถเล็ก จนถึงรถจักรยาน วิ่งกันขวักไขว่ไปหมด โดยเฉพาะผู้คนในเมืองดูเหมือนพวกเขาไม่ค่อยห่วงชีวิตของตนเองสักเท่าไร อยากจะข้ามถนนก็ข้ามแม้รถจะวิ่งมา บางคันรถต้องหยุดเพื่อให้คนข้ามไปก่อนก็มี ส่วนสภาพถนนนอกเมืองก็อยู่ในระหว่างก่อสร้าง ถนนจึงขรุขระ เป็นหลุม เป็นบ่อแยะมาก บางช่วงถนนก็ตัดผ่านหุบเขา บางช่วงเป็นอุโมงค์ที่ขุดทะลุภูเขาและเราก็ขับทะลุมาหลาย 10 ลูก แถมมีฝนตกอีกต่างหาก ทำให้การขับรถในช่วงแรกค่อนข้างวุ่นวายกันพอสมควร
......ขอตั้งทิศก่อนนะครับ ขอตั้งทิศก่อนนะครับ เสียงแจ๋ว แจ๋ว ของอ. วิโรจน์ ออกอากาศอีกแล้ว ตอนนี้เรากำลังมุ่งไปทางทิศตะวันตก ข้างหลังเราคือทิศตะวันออก ขวาคือทิศเหนือ ซ้ายมือคือทิศใต้ ทิศตะวันออกหลังท่านคือ มหาสมุทรแปซิฟิก ท่านกำลังทิ้งมหาสมุทรแปซิฟิกมุ่งหน้าไปสู่ทะเลทราย ทิศเหนือจะมีแม่น้ำเหลือง ขยับเหนือขึ้นไปอีกจะเป็นแนวกำแพงเมืองจีน ส่วนทางซ้ายเป็นทิศใต้จะมีแม่น้ำแยงซีวิ่งขนาบอยู่ เพราะฉะนั้นขบวนคาราวานกำลังถูกแม่น้ำแยงซีกับแม่น้ำเหลืองขนาบทำแซนด์วิชอยู่นะครับ
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ..คนจีนจะเรียกทิศนี้ว่า ทิศพายัพ ซึ่งเป็นที่ราบสูงดินโรด ขณะเดียวกันอ. บอกให้ทุกคนมองไปทางขวามือของเราจะเห็นดินที่อยู่ข้างทางเป็นสีเหลือง ทางวิชาการเรียกดินนี้ว่า LEOS นะครับและดินนี้แหละที่ไหลลงสู่แม่น้ำเหลืองจนทำให้แม่น้ำสายนี้กลายเป็นสีเหลือง ที่สำคัญในปีหนึ่งจำนวนดินเหลืองที่ชะลงไปในแม่น้ำเหลืองมีจำนวนถึง 1.6 ล้านล้านตันนะครับ
นอกจากดินสองข้างทางจะเป็นสีเหลืองแล้ว สภาพอากาศตอนนี้มีหมอกที่หนาแน่นมากแทบจะมองอะไรไม่เห็น เพื่อร่วมเดินทางต้องคอยหาผ้ามาเช็ดฝ้าที่กระจกรถให้คนขับสามารถมองเห็นถนนข้างหน้าชัดขึ้นบวกกับอุณหภูมิอากาศภายนอกอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หนาวจับขั้วหัวใจเลยทีเดียว อุปกรณ์กันหนาวที่ตอนแรกไม่ได้สนใจสักเท่าไรเริ่มหยิบมาสวมใส่ทั้งถุงมือ ถุงเท้า (ใส่ทับไปอีก) หมวกไหมพรม เสื้อกันหนาว และไม่ลืมที่จะรูดซิปจนสุดลูกคอเลยทีเดียว
จากความที่หมอกลงแยะมากในช่วงวันแรก ๆ จนทำให้นึกไปว่าเรากำลังอยู่เมืองในหมอกหรือเปล่าเนี่ยเพราะขับผ่านมา 2-3วันหมอกก็ยังคงหนาแน่นเช่นเดิม หายใจก็ติด ๆ ขัดๆ จนอ.ชาญวิทย์ต้องถาม อ.วิโรจน์ ว่า “เนี่ยมันหมอกหรืออะไรกันแน่” อ.วิโรจน์ ก็เรียนท่านไปว่า เป็นทั้งหมอกที่เป็นธรรมชาติและเป็นทั้งหมอกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ของคนจีนนี่แหละ เพราะเชื้อเพลิงที่เมืองจีนเผาส่วนมากมาจากถ่านหิน เมื่อถ่านหินถูกเผาขึ้นไปแล้วก็จะเกิดเป็นควันกำมะถัน และควันกำมะถันนี่แหละจะอุ้มไอน้ำ อุ้มฝุ่น อุ้มเอามลพิษไว้ และกลายเป็นหมอกอย่างที่เราเห็นนี่แหละครับ
อย่างไรก็ตามในช่วงวันแรกของการเดินทางครั้งนี้ โตโยต้า ได้จัดให้มีการทดสอบประหยัดด้วยน้ำมัน 1 ถัง กับระยะทาง 1,465 กิโลเมตร สำหรับไฮลักซ์ วีโก้ ขับเคลื่อน 2 ล้อ เครื่องยนต์ 2500 ซีซี เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ และระยะทาง 1,200 กิโลเมตร สำหรับไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ เครื่องยนต์ 3000 ซีซี เทอร์โบ อินเตอร์ คูลเลอร์ โดยเริ่มต้นหลังการเติมน้ำมันเต็มถังที่ 76 ลิตร ที่เมืองเทียสุย ในวันที่ 5 ต.ค.
สำหรับคันของผู้เขียนใช้รถรุ่นพรีรันเนอร์ และไม่ได้ร่วมแข่งประหยัด (คันที่แข่งจะวิ่งกันประมาณ 40-80 กม./ชม. ) แต่วิ่งตามปกติเหมือนกับใช้งานทั่วไปคือ 90-100 กม./ชม.และบางช่วงบนถนนไฮเวย์ของจีนที่ดีเอามาก ๆ ทำให้โชเฟอร์ของเราเหยียบกันเป็นว่าเล่น 120 -140 กม./ชม.
สรุปแล้วคันของเรา มาเติมน้ำมันหลังจากวิ่งมาได้ 1146.2 กม.ไป 73.81 ลิตร จากน้ำมันที่เราเติมเต็มถัง 76 ลิตร ดังนั้นอัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ยประมาณ 15.5 กม./ลิตร แต่อย่างไรเราก็พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ และแอบจะปลื้มเล็ก ๆ กับโตโยต้าที่ว่าไฟแดงโชว์ที่หน้าปัดรถแต่ยังสามารถวิ่งได้อีก ประมาณ 108.1 กม. ก่อนจะเติมน้ำมัน ดังนั้นผู้ที่ใช้รถไฮลักซ์ วีโก้ สบายใจได้
สาเหตุที่เราเติมน้ำมันก่อนจะถึงตัวเลข 1,200 กม.ที่โตโยต้ากำหนดเนื่องจากในช่วงนั้นใกล้จะค่ำและไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะมีปั้มน้ำมันอีกไหม บวกกับหากเราฝืนขับแล้วน้ำมันเกิดหมดจริงจะทำให้ขบวนคาราวานยุ่งยากขึ้นต้องนำน้ำมันสำรองมาเติมเพื่อให้รถวิ่งได้ และถนนในช่วงนั้นเป็นสองเลนสวนจึงทำให้การขับขี่ค่อนข้างลำบากประกอบกับเริ่มมืดกลัวจะเกิดอันตรายจึงตัดสินใจเติมน้ำมันก่อนจะครบระยะทางที่โตโยต้ากำหนดไว้
สำหรับตัวรถแทบไม่มีอาการให้เห็นทั้งที่อากาศและสภาพถนนค่อนข้างโหด เพราะเราเจอทั้งฝน หมอก และอุณหภูมิภายนอกที่เหลือ 0 องศาเซลเซียส ในบางช่วงของเส้นทางที่ต้องปืนไต่ไปตามยอดเขา น้ำฝนที่ตกลงมาบนกระจกหน้ารถยังมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็ง.. ไอ้เรื่องจะเปิดแอร์ เปิดกระจกนั่นไม่ต้องพูดถึง เพราะลองเปิดดูปรากฎว่าลมที่พัดผ่านเข้ามาเย็นไปถึงกระดูก บรื๊อ...
บางช่วงเจอลม ซึ่งไม่ใช่ลมธรรมดานะครับขอบอก.. แต่เป็นลมโคตะระเลยละ เพราะขนาดจอดรถชิ้งฉ่องตัวแถบจะปลิวไปกับลมหลังลงจากรถ คนที่นั่งอยู่บนรถยังรู้สึกว่ารถโยกเยก แถมบรรดาสุภาพบุรุษหลังการเสร็จสิ้นภารกิจขากางเกงเปียกกันเป็นแถว ๆนั่นเป็นเพราะแรงลมนะครับท่าน...ฮ่า.ฮ่า
เรื่องลมโคตะระนั้นเขาเรียกว่า คลังลม จะเป็นอย่างนี้ตลอดทั้งปี และคลังลมที่พวกเราจะเจออีกทีคือเมือง ทูหลู่ฟาน ตรงนั้นจะเป็นคลังลมที่ร้ายแรงมาก ปีที่แล้วลมที่เราผ่านมานี้หอบรถไฟตกขบวนมาแล้ว 1 ขบวน และเมื่อต้นปีนี้ก็หอบรถไฟตกไปอีกหนึ่งขบวนนะครับ เท่ากับว่าขบวนเราได้ผ่านสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์คือคลังลมนั่นเอง อ.วิโรจน์ ไขข้อข้องใจเรื่องลมให้ฟัง
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในระหว่าง 2-3 วันแรกมีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะวันที่ 6 ต.ค.เราผ่านเมืองอู่เว่ย ซึ่งเมืองนี้เป็นสถานที่ขุดค้นพบหม่าถ่าเฟยเอี้ยนหรือม้าสวรรค์ซีเทียนหม่าในรูปม้าเหยียบบนนกนางแอ่นเหินลม ในปี 1969 พร้อมโบราณวัตถุอีกกว่า 230 ชิ้น อายุกว่า 2,000ปี ตำนานร่ำลือว่าเหงื่อของม้าสวรรค์มีสีแดงประดุจชาด ในยามส่งเสียงร้องอย่างคึกคะนองนั้นสามารถสยบม้าของศัตรูให้หมอบราบคาบได้โดยง่าย
ขณะที่กำแพงเมืองจีน สัญลักษณ์ของเมืองซีอันคู่กับเจดีย์ต้าเอี้ยน สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง มีความยาวด้านละ 10 กิโลเมตร ล้อมเมืองทั้ง 4 ด้าน รวมความยาวถึง 40 กิโลเมตร โดยกำแพงเมืองที่เห็นอยู่ทุกวันนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยของจักรพรรดิหมิงไท่จู ในปีค.ศ. 1380-1384 มีความยาว 14 กม. น้อยกว่าสมัยราชวงศ์ถัง 26 กิโลเมตร มีประตู 4 ทิศ ซึ่งชื่อทั้ง 4 ประตูมีความหมายถึง ความปลอดภัยและความสันติสุขอันนิรันดร์กำแพงนี้มีการบูรณะใหญ่ในสมัยจักรพรรดิคังซีและเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง พอถึงครั้งสงครามกับญี่ปุ่นและสมัยปฎิวัติวัฒนธรรม ใต้กำแหงเมืองถูกใช้เป็นหลุมหลบภัยและซ่อนตัวหลายปี
หลังจากนั้นพวกเราได้ไปมนัสการ เจดีย์ห่านป่าใหญ่ หรือ ต้าเอี้ยนถ่า ในวัดต้าสือเอินซื่อ เป็นสถานที่ซึ่งพระถังซัมจั๋งได้จำพรรษาและแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกหลังจากกลับจากอินเดีย วัดต้าสือเอินซื่อ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 648 ในสมัยจักรพรรดิถังไท่จง โดยพระโอรสเจ้าชายหลี่จื้อเพื่อเป็นการเทิดพระคุณของพระราชมารดา หลังจากขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังเกาจง ส่วนเจดีย์ต้าเอี้ยนถ่า สร้างขึ้นตามคำขอของพระถังซัมจั๋งในปีค.ศ. 652 องค์เจดีย์มีรูปแบบเรียบง่ายศิลปะจีนผสมอินเดียสูง 5 ชั้น แต่เมืองซีอันประสบเหตุแผ่นดินไหวมาหลายครั้ง จึงได้มีการบูรณะเรื่อยมา โดยการปฎิสังขรครั้งใหญ่มีขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ปัจจุบันองค์เจดีย์มีความสูง 7 ชั้น สูง 64.1 เซนติเมตร เจดีย์ห่านป่าใหญ่และพระถังซำจั๋งได้ทูลขอจักรพรรดิถังเกาจง สร้างเจดีย์หลังจากได้รับทราบตำนานการสร้งเจดีย์ห่านป่าใหญ่ของอินเดีย
และในวันแรกที่เราพักเมืองซีอันได้มีโอกาศไปเที่ยวชม สุสานกองทัพทหารดินเผา "ปิงหมาหย่ง" ห่างจากมหาสุสานจักพรรดิจิ๋นซีไปทางทิศตะวันออกราว 1.5 กิโลเมตร เป็นกองทัพรูปปั้นทหารและม้าดินเผา จำนวนกว่า 8,000 ตัวที่ถูกฝังไว้ใต้ดินตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและถูกขุดพบโดยชาวนาในปี ค.ศ.1974 รูปปั้นทหารทุกตัวมีขนาดเท่าตัวคนจริงและมีใบหน้าแตกต่างกันทุกตัว เหนืออื่นใดเพื่อนสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มสังเกตเห็นว่ามุ่นมวยผมทำไมถึงเอียงไปในทางด้านขวาเหมือนนัดกันไว้ ไม่มีซ้ายแม้แต่คนเดียว ..สรุปเพื่อนคนเดิมบอกว่า "สงสัยจะเป็นทรงที่เขาฮิตกันในยุคนั้น"
เมื่อมาถึงเมืองซีอันขอเล่าประวัติของเมืองนี้ให้ฟังกันสักหน่อย ชื่อเดิมของเมืองซีอันคือ นครฉางอัน ได้รับการก่อตั้งเป็นราชธานีขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou) ในช่วง 1,100-221 ปี ก่อนคริสต์กาล และเจริญสุดขีดสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยของจักรพรรดินีหวู่เจ๋อเทียน หรือที่รู้จักดีในนาม “บูเช็คเทียน” ราชวงศ์ถังได้เจริญถึงที่สุดทั้งด้านการเมืองและการค้ามีพ่อค้าตะวันตกจากยุโรป และเปอร์เซียเข้ามาตามเส้นทางแพรไหม อันยาวไกล โดยสินค้าที่ต้องการและมีราคาคือ ผ้าแพรและผ้าไหม พร้อมนำวัฒนธรรมจากแดนไกลมาสู่ราชวงศ์ถัง
นครฉางอัน กลับมาเป็นราชธานีอีกครั้งในช่วงสั้น ๆ ของช่วงก่อตั้งราชวงศ์หมิง ปีค.ศ.1368 โดยจักรพรรดิหมิงไท่จู ผู้ล้มราชวงศ์หยวนของมองโกล ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังนานกิง และเป่ยผิง ต่อมาเมืองเป่ยผิงได้เปลี่ยนชื่อเป็นเป่ยจิง หรือ ปักกิ่งในปี ค.ศ. 1402 และราชวงศ์หมิงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงปักกิ่งในสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ
ในวันที่ 7 ต.ค.ขบวนคาราวานเดินทางมาถึง เมืองเจี่ยยวี่กวน และเราได้ไปชมด่านเจี่ยยวี่กวน ด่านที่ยิ่งใหญ่ด้านตะวันตกของกำแพงเมืองจีน ที่สำคัญอ.วิโรจน์ บอกว่าด่านนี้เขาเรียกกันว่า “ด่านเมืองผี” เมื่อเราออกจากด่านนี้เมื่อไรเราจะเข้าสู่เมืองผี น้ำตาจะอาบ 2 หน้า เพราะว่าข้างหน้าไม่มีฝน ไม่มีน้ำ มีแต่ทะเลเทรายครับ
โปรดติดตามตอนต่อไป
ขอขอบคุณ สมชาย เกตุหอม (ป๋าต๊ะ) ช่างภาพมือหนึ่งของโตโยต้า กับภาพสวย ๆ เหล่านี้
บอกเล่าถึงความประทับใจ
อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เส้นทางสายนี้มันน่าสนใจเพราะเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์จากตะวันออกสู่ตะวันตก คือเอเชียสู่ยุโรป ที่จะหาโอกาสมายากมาก และปัจจุบันมันกลับมามีความสำคัญอีกเนื่องจากเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้า ขนถ่ายน้ำมันและแก๊ส และสิ่งที่ผมประทับใจมากในทริปนี้คือความยากลำบาก จากการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของจีน สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ที่ใช้เวลาแต่ละด่านเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมง และค้นกระเป๋าทุกใบจนวุ่นวายไปหมด ผมรู้สึกว่าข้าราชการที่ทำหน้าตรวจคนเข้าเมืองจะมีความสม่ำเสมอในการทำความลำบากให้แก่ผู้เดินทางและดูเหมือนจะเป็นอย่างนี้เกือบทุกประเทศ ตรงจุดนี้แหละครับทำให้ผมประทับใจ.....เพราะมันลำบากเลย..จำแม่น