xs
xsm
sm
md
lg

เบนซ์ E200 NGT ของดีราคาสมเหตุผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พลังงานทางเลือกสำหรับรถยนต์ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับเมืองไทย ทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังต้องสร้างกันอีกในระยะยาว แม้เราจะเห็นรถแท๊กซี่ติดแก๊สใช้งานมานานนับ 10 ปี แต่ถ้าถามว่า คุณรู้หรือไม่ว่าแก๊สที่เขาติดเป็นอย่างไร? ปลอดภัยหรือเปล่า และใช้งานได้ดีเทียบเท่าเชื้อเพลิงน้ำมันแค่ไหน?
คำตอบอยู่ในใจคุณแล้ว ฉะนั้นหนทางที่จะสร้างองค์ความรู้และทำให้พลังงานทางเลือกแจ้งเกิดได้ แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญอยู่ที่นโยบายของภาครัฐต้องชัดเจน ประกอบกับผู้ผลิตรถยนต์ต้องมีรถยนต์ผลิตออกมาจำหน่ายพร้อมกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือต่อผู้บริโภค แต่ ณ เวลานี้เมืองไทยมีผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีรถยนต์พลังงานทางเลือก (ผลิตโดยตรงจากโรงงาน) ออกมาจำหน่าย นั่นก็คือ “เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นอี200 เอ็นจีที(E200 NGT)”

ครั้งหนึ่ง “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” เคยนำเสนอบททดสอบมาแล้ว ในโฉมเก่า ดังนั้นเมื่อมีการปรับโฉมใหม่เราจึงขอกระตุ้นการรับรู้เรื่องรถยนต์พลังงานทดแทนด้วยการทดสอบ อี200 เอ็นจีที โฉมเฟคลิฟท์กันอีกสักหน และเป็นเรื่องบังเอิญของผู้เขียนที่ รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส ป้ายแดง (โฉมเฟคลิฟท์) 5 คันหลังสุดที่พบเจอ มี 3 คันเป็นรุ่น อี200 เอ็นจีที และ อี220 ซีดีไอ กับ อี200 คอมเพรสเซอร์ อีกอย่างละคัน

เมื่อเห็นเช่นนั้นต่อมความคิดประมวลผลออกมาว่า “ฤ กระแสของการใช้พลังงานทางเลือกกำลังเกิดขึ้นในหมู่ผู้ใช้รถระดับบน” แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคงรวมกับเหตุผลด้านราคา เนื่องจากอี200 เอ็นจีทีเป็นรุ่นถูกที่สุดของตระกูล อี-คลาส ส่งผลให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจเลือกใช้รถแบบไบ-ฟิว (ใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ชนิด) มากขึ้น แต่หลักใหญ่ใจความ คงเป็นเรื่องความรู้และมั่นใจ เพราะถ้าไม่รู้ ใครจะกล้าเสี่ยงจ่ายเงินเป็นล้าน

มาเข้าเรื่องของตัวรถ เมอร์เซเดส กล่าวว่า อี200 เอ็นจีที เป็นรถรุ่นที่ให้ความคุ้มค่าด้านอัตราความสิ้นเปลืองดีที่สุด เมื่อเทียบกับรถเบนซ์ในตระกูลอี-คลาสด้วยกัน อี200 เอ็นจีที พัฒนาโดยใช้พื้นฐานมาจากรุ่น อี200 คอมเพรสเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1,796 ซีซี กำลังสูงสุด 163 แรงม้าที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตรที่ 3,000-4,000 รอบ/นาที ทว่ามีการปรับเปลี่ยนทางเทคนิคเพื่อความเหมาะสมในการใช้ก๊าซเล็กน้อย

ด้านความแตกต่างทางเทคนิครุ่น เอ็นจีที มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ในเวลา 10.8 วินาที ช้ากว่ารุ่น คอมเพรสเซอร์ 0.1 วินาที แต่ความเร็วสูงสุดยังคงเท่ากันที่ 227 กม./ชม. และปริมาณไอเสียเอ็นจีทีปล่อยออกมาน้อยกว่าคือ 168 กรัม/กม. ขณะที่รุ่นคอมเพรสเซอร์ปล่อยออกมาถึง 215 กรัม/กม.

จุดใหญ่ใจความอยู่ตรงอัตราความสิ้นเปลืองเฉลี่ยรุ่น คอมเพรสเซอร์ 9.0 ลิตร/100 กม. หรือคิดเป็นเงิน 2.7 บาท/กม. (ในกรณีน้ำมันเบนซิน95 ราคาลิตร 30 บาท จะใช้เงิน 270 บาท/100 กม.) ส่วน เอ็นจีที 6.1 กิโลกรัม/ 100 กม. หรือ ประมาณกม.ละ 0.50 บาท (ก๊าซเอ็นจีวีราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท จะใช้เงิน 49.14 บาท/100 กม.)

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองดังกล่าวอ้างอิงตามข้อกำหนดมาตรฐานของสหภาพยุโรป 93/116/EC และใช้อ้างอิงสำหรับก๊าซธรรมชาติกลุ่ม H โดยอาจจะแตกต่างกันขึ้นกับประเทศ แต่ความคาดเคลื่อนถ้ามีเราคาดว่าคงจะไม่มากเท่ากับตัวเลขการใช้เงินเติมพลังงานที่แตกต่างกันถึง 5 เท่า และด้วยเหตุผลนี้ทำให้เอ็นจีทีเป็นรุ่นที่น่าสนใจที่สุด สอดคล้องกับสิ่งที่เราประสบมา

เมื่อมีจุดเด่นระดับสุดยอดอาจจะมีข้อสงสัยว่า แล้วสมรรถนะหรืออุปกรณ์ จะแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ หรือไม่ เราพิสูจน์มาให้ท่านทราบแล้วว่า วัสดุและอุปกรณ์ของอี-คลาสทุกรุ่นมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ส่วนจุดต่างคือ น้ำหนักรถหนักกว่าเล็กน้อยเป็น 1,765 กิโลกรัม และพื้นที่บรรจุของด้านท้ายรถลดลงเหลือ 400 ลิตร จาก 510 ลิตรในรุ่นคอมเพรสเซอร์ เหตุจากติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี

ด้านสมรรถนะการขับขี่ เอ็นจีที ออกตัวนุ่มนวล อัตราเร่งเมื่อคิกดาวน์ตอบสนองแม้จะไม่ปรู๊ดปร๊าด แต่กระชับกระเฉงทันใจ และเมื่อนึกถึงว่า 1 แรงม้าต้องรับน้ำหนักถึงกว่า 10 กิโลกรัมแล้วได้ขนาดนี้ดีเกินคาด ส่วนการเร่งแซงขณะวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60-80 กม./ชม. มั่นใจแซงพ้นชัวร์ ซึ่งไม่เห็นความแตกต่างทั้งใช้น้ำมันและก๊าซเอ็นจีวี

ความเร็วสูงสุดเราลองวิ่งถึง 180 กม./ชม. สบายๆ เสียงลมเริ่มดังรบกวนที่ความเร็ว 160 กม. ส่วนความเร็วระดับ 120 กม./ชม.เป็นช่วงที่เราชอบ เพราะรู้สึกว่าขับสบายที่สุด รถนิ่ง เสียงรบกวนต่ำ พวงมาลัยน้ำหนักพอเหมาะมือ ขับเพลินๆ อาจไหลไปถึง 140 กม./ชมโดยไม่รู้สึก สอบผ่านทุกย่านความเร็ว

สิ่งสำคัญอย่างที่จะอดพูดถึงไม่ได้ คือเรื่องของสถานีบริการก๊าซ เอ็นจีวี โดยส่วนตัวผู้เขียนเองถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากในบริเวณที่พักอาศัยแม้จะมีสถานีให้บริการถึง 2 แห่งคือที่ปั๊มปตท. ริมถนนวิภาวดีตรงข้ามสำนักงานใหญ่ปตท. และปั๊มตรงหมอชิต2 แต่กลับติดปัญหาเรื่องการรอคิวครั้งละไม่ต่ำกว่า 6 คิว (จำนวน 5 ใน 6 ที่รอเป็นแท็กซี่)

คิดง่ายๆ ถ้าแต่ละคันใช้เวลาเติม 5 นาที 6 คัน ผู้เขียนต้องเสียเวลารอถึง 30 นาที ซึ่งเป็นสิ่งที่เราขอออกตัวว่า “รับไม่ได้” หากต้องเสียเวลาเติมเชื้อเพลิงนานขนาดนั้น และเมื่อย้อนไปดูข่าวเก่าของ ปตท.พบว่า มีการพูดถึงการขยายสถานีบริการปั๊มเอ็นจีวีให้มากขึ้นถึงกว่า 200 สถานีภายในปี 2549 แต่จนแล้วจนรอดจะสิ้นปี 2550 อยู่ไม่กี่เดือนยังขยายไม่ถึง 100 สถานีเลยด้วยซ้ำ

ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่อเปิดสมุดซึ่งแสดงสถานีให้บริการเติมเอ็นจีวีและโทรสอบถามพบว่า หลายแห่งปิดกิจการไปแล้ว ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอนาคตของพลังงานทดแทนชนิดนี้จะสดใสเหมือนอย่างในโฆษณาว่าเอาไว้จริงหรือโม้กันแน่

นั่นยังไม่รวมถึงการที่ปตท. ออกมาขอขึ้นราคาค่าก๊าซเอ็นจีวีจากกิโลกรัมละ 8.50 บาท เพิ่มเป็นเต็มเพดานราคาคือครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซลหรือประมาณ 12 บาทกว่า โดยอ้างเหตุผลด้านต้นทุน แต่ฟ้ายังมีตาให้ประชาชนไทยยังได้ใช้ของถูก เมื่อรมต.พลังงานไม่บ้าจี้ตามปตท. พร้อมสั่ง กลับไปทบทวน-คำนวณต้นทุนมาให้ดูใหม่และระงับการขึ้นราคาเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด เว้นหากการเมืองเปลี่ยนเราต้องรอลุ้นกันอีกที

ดังนั้นเราขอตั้งธงสำหรับผู้ที่สนใจก่อนจะออกเจ้า อี 200 เอ็นจีที นอกจากท่านจะมั่นใจเรื่องนโยบายพลังงานแล้ว เราแนะนำว่าควรสำรวจสถานีบริการเชื้อเพลิงใกล้บ้านว่า มีก๊าซเอ็นจีวี ไว้บริการด้วยหรือไม่ ถ้ามีสังเกตอย่าต้องรอคิวนานๆ เหมือนแถวบ้านของผู้เขียนก็ดี หรือหากคุณรอได้ คงไม่มีปัญหา

บทสรุป ถ้าตัดเรื่องทิศทางของรัฐกับนโยบายเอ็นจีวีออกไป แล้วดูเฉพาะตัวรถ พูดได้ไม่อายใครว่า มีดีแบบไร้ซึ่งข้อสงสัย กอปรกับราคาสมเหตุสมผล 3.7 ล้านบาท ถูกที่สุดในตระกูลอี-คลาส ผสานการประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงระดับเหนือเทพ ทำให้เราเอ่ยได้เต็มปากว่า “ขอฝาก อี200 เอ็นจีที เป็นหนึ่งตัวเลือกในดวงใจสำหรับเศรษฐีน้อย-ใหญ่ทั้งหลายด้วย”








กำลังโหลดความคิดเห็น