xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์บริการ vs อู่ซ่อม : จะเลือกที่ไหนดี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถยนต์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างด้วยวัสดุที่ทนทานแข็งแรงและมีคุณภาพนั้นก็จริงอยู่ แต่ด้วยการใช้งานของแต่ละคนและสภาพท้องถนนนั้นจึงทำให้รถของคุณป่วยได้ และเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการซ่อมได้ ซึ่งหลายคนก็มีหลากหลายวิธีในการซ่อมรถตั้งแต่ขั้นซ่อมเอง (กรณีเป็นไม่มาก) จนถึงต้องเอาเข้าศูนย์หรือเข้าอู่ แต่จะทำอย่างไรให้ซ่อมได้อย่างคุ้มค่าที่สุด "ผู้จัดการ มอเตอริ่ง" มีทางเลือกของการซ่อมมาให้ลองพิจารณาดูกัน


รถยนต์ใหม่....ต้องเข้าศูนย์บริการ

รถยนต์ป้ายแดงทุกรุ่นต้องมีการรับประกันคุณภาพในขอบเขตที่เหมาะสมเช่นความบกพร่องของอุปกรณ์ ความเสียหายอย่างผิดปกติจากการผลิตหรือประกอบโดยมีการยกเว้นการใช้งานผิดประเภทหรืออุปกรณ์ที่ต้องเสื่อมสภาพ ผู้ประกอบการแต่ละรายกำหนดระยะเวลารับประกันคุณภาพแตกต่างกันออกไปหรือแม้แต่รถยนต์ยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรุ่นหรือรุ่นเดียวกันแต่ในช่วงเวลามีข้อเสนอส่งเสริมการจำหน่ายอาจมีเงื่อนไขการรับประกันคุณภาพที่แตกต่าง เช่น บางรายรับประกันคุณภาพถึง 2 ปีหรือ 100,000 กิโลเมตร และเตรียมงบไว้ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนที่สึกหรอ เช่น ยาง ผ้าเบรก ฯลฯ

หากยังอยู่ในระยะรับประกันควรนำรถยนต์เข้ารับบริการตรวจสอบสภาพและดูแลที่ศูนย์บริการเท่านั้น เพื่อให้การรับประกันยังครอบคลุมอยู่ การนำรถยนต์ไปซ่อมนอกศูนย์บริการ อาจทำให้การรับประกันในทุกกรณีถูกยกเลิก รวมถึงการละเลยไม่ยอมนำรถเข้าศูนย์บริการตรงตามเวลาที่กำหนดเช่น ทุก 3,000 - 5,000 กิโลเมตร ก็อาจจะถูกยกเลิกการรับประกันเช่นเดียวกัน

ผู้ที่ใช้รถยนต์ใหม่และยังอยู่ในระยะรับประกัน จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดและถ้ามีปัญหาในการใช้งานเช่น รถยนต์เสียกลางทางสามารถให้ช่างทั่วไปซ่อมแซมเบื้องต้นได้แต่ห้ามเปลี่ยนอุปกรณ์หลักโดยเด็ดขาด รวมถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์ตกแต่งเพราะมีผลต่อการรับประกันคุณภาพโดยตรง เช่น การโมดิฟายด์เครื่องยนต์อาจทำให้มีผลต่อเนื่องไปยังอุปกรณ์อื่นด้วย

เมื่อหมดระยะรับประกันคุณภาพแล้ว อาจปรับการดูแลรักษารถยนต์ได้ เช่นใช้บริการในศูนย์บริการเช่นเดิม หรือไม่ก็หาอู่มาตรฐานหรือบางคนอาจจะเป็นอู่เล็กๆซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันออกไป

ศูนย์บริการมั่นใจได้.....แต่(มักจะ)แพง

คุณต้องเข้าใจว่าศูนย์บริการนั้นเป็นตัวทำกำไรสำคัญของผู้จำหน่ายรถยนต์ทุกราย หลักในการให้บริการ มักถูกประยุกต์จากต้นกำเนิดบริษัทแม่ซึ่งคำนวณอายุการใช้งานเฉลี่ยของทุกชิ้นส่วนไว้แล้ว แต่ผู้ใช้รถยนต์ชาวไทยมักใช้วิธีเสียแล้วค่อยเปลี่ยนซึ่งถือว่าผิดหลักการอยู่บ้างแต่ก็ช่วยเซฟเงินในกระเป๋าไว้ได้ การนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการเมื่อพ้นระยะรับประกัน ควรแจ้งความประสงค์ให้ชัดเจนว่าตรวจสอบว่ามีอะไหล่ชิ้นไหนที่เสียและให้ช่างแจ้งราคาก่อนลงเมื่อเปลี่ยนทุกครั้งไม่ควรบอกช่างว่าถ้าเจออะไหล่ชิ้นไหนเสียก็ให้เปลี่ยนได้เลย เพราะช่างจะเปลี่ยนอะไหล่ของรถคุณชนิดที่ราคาออกอาจจะเป็นลมเพราะอะไหล่บางชิ้นนั้นถึงแม้ว่าอาจจะเสื่อมลงบ้างแต่ก็ยังใช้งานได้อยู่หรือไม่ก็อาจจะหมดอายุการใช้งานแล้วแต่คุณใช้รถมาอย่างทะนุถนอมก็อาจจะใช้งานได้อีก แต่ถ้าช่างได้ยินที่คุณบอกให้เปลี่ยนไปเลยเข้าก็จะเปลี่ยนให้ใหม่หมด (อย่าลืมว่าศูนย์บริการคือตัวทำกำไรของผู้จำหน่าย)

แต่ถึงกระนั้นการเข้าศูนย์บริการก็มีข้อดีอยู่ที่มีการรับประกันทั้งคุณภาพการซ่อมและอะไหล่ที่มั่นใจได้ แต่บางครั้งอาจจะมีอะไหล่ที่ราคาถูกมีคุณภาพแต่เราก็อาจจะไม่ได้ใช้โดยรวมเมื่อเอาเข้าศูนย์จึงมีราคาแพงและเจ้าของไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

อู่ทั่วไปมีหลายระดับ....คุณก็เลือกเองได้

อู่ทั่วไปนั้นแบ่งเป็นหลายระดับ ผลงานในการซ่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่บริการและเครื่องมือเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับฝีมือของช่างและคุณภาพของอะไหล่ด้วย ไม่ควรเลือกอู่ที่ขาดอุปกรณ์มาตรฐานที่จำเป็นหรือสกปรกไปด้วยฝุ่นทรายคราบน้ำมันจนเกินไป บางอู่อาจสร้างความประทับใจด้วยการคิดค่าแรงต่ำแล้วเอากำไรด้วยการบวกค่าอะไหล่แทน บางครั้งอาจจะบวกค่าอะไหล่เกิน 100 % ด้วยซ้ำ หากคุณสงสัยให้ลองโทรสอบถามร้านอะไหล่อื่นๆแต่อย่าไปอ้างถึงศูนย์ที่ไปซ่อมเด็ดขาด หรือไม่ก็ลองเช็คราคาจากหลายๆแห่ง

ในส่วนของความคุ้มค่ากับการใช้อู่ทั่วไปให้เน้นที่ผลงานการซ่อม คุณภาพ และราคาอะไหล่ รวมถึงการคิดราคาอย่างตรงไปตรงมา อีกเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามก็คือการเช็คสภาพรถของคุณก่อนเข้าอู่ว่าอยู่ในสภาพไหน เลขไมล์ที่เท่าไหร่เพราะบางอู่อาจจะมีช่างที่แอบเอารถลูกค้าออกไปใช้งานหลังจากซ่อมเสร็จหรือบางทีอาจจะทำให้อุปกรณ์ของเราเสียไปด้วย ฉะนั้นควรจดจำและตรวจให้รอบคอบเสียก่อนว่ารถของคุณก่อนและหลังเข้าซ่อมนั้นมีอะไรที่เสียหายหรือแปลกไปบ้างจะได้อ้างกับเจ้าของอู่ได้

ศูนย์ซ่อมอิสระ.....ทางเลือกใหม่ของผู้ใช้รถยนต์

อู่แบบนี้จะเหมือนเป็นการรวบรวมข้อดีของศูนย์บริการและอู่ทั่วไปเข้าไว้ด้วยกัน มีการระบุค่าแรงในการซ่อมแต่ละประเภทอย่างชัดเจน ไม่มีการคิดตามอำเภอใจ จึงมีจุดเด่นคือ คิดค่าแรงถูกว่าศูนย์บริการหรือบางแห่งก็ไม่คิดค่าแรงมีเครื่องมือมาตรฐานที่ครบครันและมีอะไหล่หลากหลายยี่ห้อให้เลือกไม่จำเป็นต้องใช้อะไหล่แท้เท่านั้นแต่ก็สามารถรับประกันได้ด้วย

โดยอะไหล่ที่นำมาใช้นั้นบางครั้งอาจจะถูกผู้จำหน่ายรถกล่าวอ้างว่าเป็นอะไหล่ปลอมเชื่อถือไม่ได้ ไม่มีคุณภาพ ทั้งที่ในความเป็นจริงบริษัทรถส่วนใหญ่ก็สั่งจากผู้ผลิตอื่นให้ผลิตให้ซึ่งผู้ผลิตเหล่านั้นหลายรายก็ผลิตอะไหล่ออกมาจำหน่ายในยี่ห้อของตัวเอง ในคุณภาพที่ทัดเทียมกับที่ส่งให้กับบริษัทรถและไม่ได้จัดเป็นอะไหล่ปลอมแต่เป็นอะไหล่ทดแทน ที่มีราคาถูกว่าเกือบครึ่ง ฉะนั้นศูนย์บริการแบบนี้จึงเฟ้นหาอะไหล่แบบนี้มาบริการดึงดูดลูกค้ากัน

แต่ศูนย์ซ่อมอิสระนี้ส่วนใหญ่เน้นที่การดูแลรักษาโดยใช้เวลาไม่นานมากคืองานซ่อมย่อยๆถึงปานกลาง เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง , เปลี่ยนยาง , ตั้งศูนย์ถ่วงล้อ , เปลี่ยนโช้กอัพ , เปลี่ยนผ้าเบรก ฯลฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่แนวทางในการเลือกเท่านั้น เพราะหากรถของคุณเสียมากขึ้นมาวันใดก็ควรเอาเข้าศูนย์ที่ใกล้ที่สุดไว้ก่อนจะดีที่สุด หรือไม่ก็ลองเช็คจากหลายๆที่เพื่อดูว่าที่ไหนจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปเพราะ "ผู้จัดการ มอเตอริ่ง" ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าศูนย์ไหนหรือว่าอู่ไหนจะดีที่สุด แต่อยู่ที่คุณเป็นคนตัดสินใจ.......
กำลังโหลดความคิดเห็น