xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ 4 ห้องหัวใจของเอ๋-อรรถวิชช์(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์รถคลาสสิกของเราอาจจะคุ้นเคยกับผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดี แต่ถ้ายังนึกไม่ออกก็ขอบอกเลยว่าเขาคือ "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" หรือ คุณเอ๋ เลขาธิการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย  อดีตข้าราชการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รวมถึงว่าที่ผู้สมัครสส.กรุงเทพฯ เขตพญาไท-ราชเทวี นอกจากนี้ก็ยังเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย

นอกจากงานที่ทำทุกวันแล้ว ยามว่างคุณเอ๋ยังได้ชื่อว่าเป็นนักสะสมรถโบราณตัวยงที่มีอายุน้อยเพียง 29 ปีเท่านั้น ความชอบเหล่านี้สะสมมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อจนทำให้ค่อยๆซึมซาบไปทีละน้อย ตั้งแต่อายุได้เพียง 12 ปีจนกระทั่งทุกวันนี้เขามีรถโบราณที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และกำลังซ่อมแซมกว่า 30 คัน ซึ่งครั้งนี้ "ผู้จัดการ มอเตอริ่ง" จะพาไปชมอู่ของคุณเอ๋ที่ใช้เป็นบ้านของเจ้ารถพวกนี้กัน

“เรื่องรถโบราณนี่จะบอกลำบากนะว่าชอบที่ตรงไหน รู้แต่ว่าครั้งแรกที่เห็นรถพวกนี้รู้สึกเหมือนเป็นคนคุ้นเคยกันเหมือนเห็นเพื่อนที่รู้จักกันมานาน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าคุณพ่อของผมท่านก็ให้ความสำคัญกับรถพวกนี้จนทำให้ผมอยากศึกษาให้ละเอียดทุกชิ้นส่วนว่ารถแต่ละคันนั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร มันขับเคลื่อนด้วยระบบอะไร การออกแบบเป็นยังไง ขนาดสมัยเด็กๆถ้ามีเงินค่าขนมผมก็ไม่เอาไปซื้อของเล่นอย่างเพื่อนๆเลยนะ จะเอาไปซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับรถคลาสสิก และมีเหตุการณ์ที่น่าจดจำของพ่อผมสมัยที่ท่านเคยใช้รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น 170V ช่วงที่มีเหตุการณ์ตุลา 19 คุณพ่อผมขึ้นไปไฮด์ปาร์กและร่วมเดินขบวนทุกวัน แต่มีอยู่วันหนึ่งรถเกิดเสียด้วยความที่อยากไปร่วมขบวนก็เลยซ่อมอยู่เป็นวันๆทำให้ไม่ได้ไป พอฟังข่าวจึงรู้ว่ามีการยิงกันขึ้นทำให้คุณพ่อไม่ถูกยิงเพราะรถเสียเลยกลายเป็นว่ารถเบนซ์คันนี้คือผู้ช่วยชีวิตคุณพ่อนั่นเองครับ"

เมื่อโตขึ้นคุณเอ๋ได้มีโอกาสไปศึกษาที่ต่างประเทศระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้เรื่องรถโบราณจากหนังสือรวมถึงอู่รถที่มีอยู่ตามเมืองต่างๆ จนกระทั่งได้ซื้อรถเก่ามาคันหนึ่งเพื่อลองซ่อมเองแต่ก็ไม่ได้ผล ทำให้รถเสียไป 2-3 คัน แต่จากนั้นก็มีความชำนาญมากขึ้นชนิดที่ถอดออกมาทุกชิ้นส่วนแล้วก็เอากลับเข้าไปได้ไหม่

"บางคนอาจจะมองว่ารถพวกนี้ก็แค่ของเก่าๆไม่มีค่า แต่ผมกลับมองอีกอย่างหนึ่งว่ามันสอนให้เรารู้ถึงอดีตว่าเป็นอย่างไร รถทุกคันมีประวัติที่แตกต่างกันไปนี่ก็คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของมัน ลองคิดดูว่ารถบางรุ่นเหลือแค่ 1 คันในโลกมันจะมีค่าแค่ไหนถือว่าเป็นประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ บางรุ่นเคยเป็นรถของผู้มีชื่อเสียงมาก่อน บางคันเป็นรุ่นผลิตพิเศษ สำหรับผมมันทำให้เราย้อนไปในอดีตเหมือนนั่งไทม์ แม็กซีนไปเลยครับ"

คุณเอ๋เล่าให้เราฟังว่ารถบางคันซื้อหามาในราคาไม่กี่พันไปจนถึงหลักแสนหลักล้าน ขึ้นอยู่กับสภาพและความหวงแหนของเจ้าของเก่า บางคนต้องรอให้ตัวเองตายไปก่อนถึงยอมให้ลูกหลานขายได้ บางคนต้องไปตามง้อตามตื้อเป็นหลายปีกว่าจะยอมขายให้ แต่คุณเอ๋ก็ทำเพราะอยากนำมาบูรณะใหม่ให้มันกลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

"เมื่อได้รถมาขั้นแรกเลยผมจะศึกษาเรื่องอะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆว่ามีครบไหม สถาพรถเป็นอย่างไรต้องซ่อมกี่ส่วน แล้วต้องเป็นอู่ที่มีความชำนาญด้วย แต่ตอนนี้ผมทำบ้านให้เป็นอู่ไปเลย เอาช่างมาอยู่ที่บ้านทำกันเป็นเรื่องเป็นราวบางคันถ้าทำแบบจริงจังก็เสร็จภายในไม่กี่เดือน ที่สำคัญคือเราต้องแม่นเรื่องอะไหล่และช่างหาช่างที่ชำนาญเฉพาะด้านหรือช่างที่ชำนาญยี่ห้อนั้นๆโดยตรงจะช่วยให้รถมีสภาพเดิมมากที่สุด แล้วต้องมีความอดทนด้วยเพราะบางครั้งต้องรออะไหล่เป็นเดือนๆหรือเป็นปีก็ต้องรอให้ได้เพื่อความสมบูรณ์ที่สุด แล้วรถผมก็ใช้อะไหล่แท้ๆทุกคัน"

เมื่อถามว่ารถโบราณคันไหนคือรถในฝันของคุณเอ๋ เขาตอบทันทีว่าไม่มีเพราะรถทุกคันก็คือรถที่สวยหมด ไม่มีคันไหนที่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอยู่ที่มุมมองของคนมากกว่า ขนาดการประกวดของทางสมาคมฯและทั่วโลกก็ยังต้องแบ่งเป็นหลายๆประเภท แต่ที่ใหญ่ก็คือ 4 ประเภทด้วยกัน อาทิ ปี 1939 - 1945 "รถก่อนสงครามโลก" ปี 1940 - 1955 "รถหลังสงครามโลก" ปี 1956 - ปัจจุบัน หรือรถที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปคือ "รถคลาสสิก" และอีกประเภทก็คือ "รถอเมริกัน" แล้วทั้งหมดนี้คุณเอ๋ก็มีครบทุกประเภทแถมยังชนะการประกวดมาแล้วทั้งนั้น อย่างที่เราจะพาไปดูกันทีละคันๆ


Austin Seven Chummy ปี 1929 "อีโคคาร์ยุคโบราณ"

คันนี้คุณเอ๋บอกว่าเป็นรถดาราเพราะมีคนขอยืมไปเป็นรถในการแสดงละครและภาพยนตร์หลายเรื่องทีเดียว อาทิ โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง ด้วยความที่เป็นรถโบราณที่มีสีเขียวสดใสน่ารักและรูปทรงที่ไม่เหมือนใคร ลักษณะคล้ายเกวียนถ้าสังเกตดีๆ สำหรับรถรุ่นนี้ถือว่าเป็น City Car รุ่นแรกของโลกเพราะเป็นรถที่คันเล็กๆวิ่งไม่เร็วมากมีชื่อเฉพาะของรุ่นว่า Chummy แปลว่าใกล้ชิดสนิทสนม

"ได้ชื่อว่า Chummy เพราะเวลานั่งแล้วคนขับและคนข้างๆนี่จะหัวไหล่สีกันเลยครับ หนุ่มสาวสมัยนั้นจะฮิตกันมากเพราะมันดูน่ารักและได้ใกล้ชิดกันแบบไม่น่าเกลียด ทั้งยังเป็นรถที่ผลิตมาเยอะประหยัดน้ำมันด้วยจากคู่มือและการศึกษาของผมเลยเจอว่าสเปกของคันนี้เทียบได้กับรถประหยัดน้ำมันหรืออีโคคาร์ยุคนี้เลย"

ที่มาของเจ้าออสตินคันนี้คุณเอ๋บอกว่าได้มาจากรุ่นพี่ที่รู้จักกันในสมาคมเป็นรถที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว และเคยเป็นรถของสุลต่านคนหนึ่ง สภาพที่ได้มานั้นคุณเอ๋บอกว่าดูไม่จืดที่เดียวเพราะถูกซ่อมและแต่งมาจนผิดรูปผิดร่าง ต้องถอดออกมาหมดแล้วนำอะไหล่ของออสตินแท้ๆมาใส่ ใช้เวลาซ่อมเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น

เพียงแค่คันแรกที่เรานำมาให้ชมนั้นก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้วสำหรับผู้ชายคนนี้แต่คุณเอ๋ยังบอกอีกว่าสิ่งที่อยากให้คนไทยและรัฐบาลให้ความสำคัญกับรถโบราณเหล่านี้เพราะถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยเลยก็ว่าได้ กฎหมายของไทยถือว่ายังไม่คลอบคลุมในเรื่องนี้ดูจากการที่สามารถให้คนต่างชาติซื้อรถออกนอกประเทศได้ แต่ห้ามเอารถเข้าประเทศทำให้คนไทยสูญเสียรถโบราณที่มีคุณค่าหลายคันไป

"นอกจากเรื่องของกฎหมายนำเข้ารถแล้วเรื่องของการเก็บภาษีก็ยังเป็นอีกประเด็นที่ทางสมาคมได้หารือกันและเห็นด้วยว่ารัฐบาลน่าจะมีการตรวจสอบและลดภาษีคือปัจจุบันเก็บภาษีป้ายวงกลมตามความจุของซีซีถ้ายิ่งสูงก็ยิ่งแพง แล้วรถโบราณนั้นความจุมัน 3000 ซีซีขึ้นไปเกือบทั้งนั้น เจ้าของก็ต้องจ่ายอ่วมเลยทั้งๆที่ไม่ได้เอาไปขับแถมยังต้องมาเสียภาษีกันอีก ไหนจะค่าซ่อมบำรุงอีก ตรงจุดนี้มันทำให้เกิดปัญหาอีกอย่างก็คือรถโบราณที่อยู่นอกระบบคือไม่มีทะเบียน หรือเอาทะเบียนอื่นมาสวมแทน จุดนี้ทำให้เจ้าของรถบางคนก็ท้อไปเลยเพราะงบน้อยแต่ใจรัก"

ส่วนทางออกของเรื่องนี้คุณเอ๋เสนอว่าทางสมาคมฯอยากแนะนำให้รัฐบาลลองพิจารณาออกแผ่นป้ายทะเบียนรถโบราณเหมือนที่ต่างประเทศคือเป็น “รถยนต์เพื่อการอนุรักษ์” (Historic Plate) ขับได้เฉพาะก่อนเวลาพระอาทิตย์ตกเหมือนรถป้ายแดง จะทำให้เมืองไทยมีรถโบราณมากขึ้นด้วย

สำหรับครั้งต่อไปเราจะพาไปดูรถโบราณอีกรุ่นของคุณเอ๋ว่ามีความสวยงามและทรงคุณค่าเพียงใด โปรดติดตาม............

กำลังโหลดความคิดเห็น