ก่อนอื่นขอเอ่ยคำว่า “ยินดีต้อนรับ” อย่างเป็นทางการสำหรับ “เชฟโรเลต แคปติวา” เอสยูวี น้องใหม่ล่าสุดของตลาดเมืองไทย ที่เพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมาหลังจากมีข่าวและภาพหลุดทยอยออกมาเป็นระยะเวลาร่วมปี รวมถึงการแนะนำตัวอย่างไม่เป็นทางการเมื่องาน “มอเตอร์โชว์” และได้กระแสตอบรับอย่างดีด้วยยอดจองเกือบ 1 พันคัน
สำหรับเจ้าแคปติวานั้นเชฟโรเลตตั้งใจมาทำตลาดแทน “ซาฟิรา” ซึ่งยุติการจำหน่ายไปแล้ว โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 รุ่นคือ เบนซินขนาดความจุ 2.4 ลิตร แบบ ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์(DOHC) 4 สูบ 16 วาล์ว กำลังสูงสุด 136 แรงม้า ที่ 5000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตรที่ 2200 รอบ/นาที
อีกรุ่นเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ขนาดความจุ 2.0 ลิตร แบบ VCDi แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว คอมมอนเรล ไดเร็คอินเจคชั่น พร้อมเทอร์โบแปรผัน ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้าที่ 4000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตรที่ 2000 รอบ/นาที โดยแบ่งออกเป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้ออีกในแต่ละรุ่นเครื่องยนต์ให้เลือกคบหากัน
การเปิดตัวนั้นอย่างที่ทราบกันว่า เชฟโรเลต เลือกที่จะเปิดตัวรุ่น 2.4 ลิตรเครื่องยนต์เบนซิน ทั้งขับเคลื่อน 4 ล้อและ 2 ล้อก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะเปิดตัวรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ในวันเปิดตัว “ผู้จัดการมอเตอร์ริ่ง” มีโอกาสชมสายการผลิตและสัมผัสเจ้าแคปติวาเป็นระยะทางสั้นๆ และเคยนำเสนอไปแล้ว ครั้งนี้จึงเป็นคิวของการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบ โดยรถที่เราได้รับมาเป็นรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 LT ขับเคลื่อน 4 ล้อ
สิ่งแรกที่สัมผัส จากภายนอกเจ้าแคปติวา ดูสูงใหญ่ บึกบึนสมกับเป็นรถเอสยูวีสไตล์อเมริกัน ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว (ต่างจากรุ่นขับ 2 ที่มีขนาดเพียง 16 นิ้ว) เข้ากับขนาดของตัวถังอย่างลงตัว แต่อาจจะตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างตรงยี่ห้อของยางที่เป็น แมกซ์ซิส (ที่ยางหลายรุ่นทำมารองรับตลาดล่าง) ไม่ใช่แบรนด์คุ้นหูอย่างบริดสโตนหรือมิชิลิน ขณะเดียวกันทางจีเอ็มได้ไขข้อข้องใจตรงนี้ว่า ที่เลือกยางแมกซ์ซิสเนื่องจากผลการทดสอบเห็นว่ายางแมกซ์ซิสเหมาะสมกับแคปติวามากสุด
ส่วนความแตกต่างอื่นๆ ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อจะแตกต่างจากรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ตรงกันชนหน้า-หลังและแผงกันชนรอบคัน, กระจกมองข้างพับด้วยไฟฟ้า, ที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติมีเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณน้ำฝน, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control)
สำหรับภายใน สัมผัสแรกรู้สึกโอ่โถง ที่สำคัญเชฟโรเลตใส่อุปกรณ์ให้เจ้าแคปติวาอย่างมากมาย เริ่มจากเบาะหนัง,แอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง, จอแสดงข้อมูลดิจิตอล, พวงมาลัยหุ้มหนังกระชับมือดี, วิทยุ-ซีดี 6 แผ่นเล่น MP3 พร้อมช่องต่ออุปกรณ์เสริมและลำโพงมากถึง 8 ตัว ส่วนคอนโซลออกแบบในสไตล์อเมริกันที่ดูแล้วอาจจะแข็งไปนิด ขณะที่ปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ มีขนาดเล็ก ผู้เขียนใช้งานไม่ค่อยสะดวก
ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด พร้อมระบบทริปทรอนิค ใช้งานได้ง่าย จังหวะเกียร์เปลี่ยนนุ่มนวลแทบไม่รู้สึก ยิ่งเมื่อวิ่งทางยาวๆ อย่างเส้นทางการทดสอบที่เลือกใช้ถนนพหลโยธินจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าเขาใหญ่ ด้วยแล้วฟันธงได้เลยว่า เครื่องยนต์และเกียร์ทำงานสอดประสานวิ่งนุ่ม เนียน ดีทีเดียว และบังเอิญวันนั้นมีฝนพรำเป็นระยะๆ ทำให้รู้อีกว่า เจ้าแคปติวามีทัศนวิสัยที่ดีแม้ในยามฝนตก
การเดินทางเราใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 100-120 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุดมีโอกาสลองแตะไปถึง160 กม./ชม. ซึ่งรถยังคงนิ่ง ทรงตัวเยี่ยม โดยงานนี้ต้องชมระบบช่วงล่างหน้าแบบ อิสระแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง
และหลังแบบอิสระยึด 4 จุด (Multi Link Beam) ขณะที่เสียงลมและยางบดถนนจะเริ่มดังรบกวนที่ความเร็ว 140 กม./ชม.
ด้าน อัตราเร่ง ขอบอกว่าไม่ประทับใจเท่าไหร่ เพราะคิกดาวน์แล้ว รถดูจะไม่ทะยานไปอย่างหวัง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงน้ำหนักของตัวรถเปล่าที่หนักถึง 1,845-1,930 กิโลกรัม และหากนำมาคำนวณกับแรงม้าจะเห็นว่า 1 แรงม้าของเจ้าแคปติวา ต้องแบกน้ำหนักถึง 14.3 กิโลกรัม จึงเป็นสิ่งที่อธิบายถึงเหตุของการไม่พุ่งแบบทันใจนั่นเอง แต่หากคำนึงถึงความเป็นรถแบบครอบครัว 7 ที่นั่งเป็นหลัก ขนาดของกำลังและอัตราเร่งเท่านี้ก็พอเหมาะพอควรแล้วกับพ่อบ้านที่รักครอบครัว ไม่เน้นการขับแบบเร้าใจ
เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ เราลองใช้งานในเมืองอีก 2 วัน พบว่าความคล่องตัวในการเปลี่ยนเลนไม่เวิร์คและการขับเข้าที่จอดรถดูจะมีปัญหาเล็กน้อยเนื่องจากตัวถังค่อนข้างใหญ่ ส่วนอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของแคปติวาตามการแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์ในรถอยู่ที่ประมาณ 7.5 กม./ลิตร กับระยะทางทั้งสิ้น 360 กิโลเมตร (พอดีกับไฟเตือนเติมน้ำมันแดงขึ้นมา) ในรูปแบบการใช้งานผสมผสานทั้งในเมืองและนอกเมือง อาจจะดูน้อยไปสักหน่อย โดยเชฟโรเลตได้ออกตัวแล้วว่า “อาจเป็นเพราะการคำนวณคลาดเคลื่อนจากการเป็นรถใหม่กิ๊บ ยังไม่พ้นรันอิน วิ่งเพียงแค่ 500 กม.ก่อนถึงมือเรา”
สำหรับระบบ ควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC(Hill Descent Control) ของแคปติวา ที่เชฟโรเลต ใช้เป็นตัวนำในการโฆษณา จะมีเฉพาะในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น ตัวเบนซินที่เรานำมาทดสอบไม่มีติดตั้งมาให้ ส่วนระบบยกตัวอัตโนมัติ (Self-Levelizer) อีกหนึ่งอย่างในโฆษณาแคปติวา นั้นขอสารภาพว่า จากการใช้งานตลอดทั้ง 3 วันของการทดสอบไม่ทราบเหมือนกันว่าจะบรรทุกอะไรให้หนักและท้ายห้อยลงมาเพื่อดูว่ามันจะสามารถยกตัวขึ้นได้จริง
สรุปปิดท้ายบุคลิกเจ้าแคปติวาดูเหมาะสมกับการใช้เดินทางไกล หรือกับคนที่มีครอบครัว ขับรถใจเย็นๆ ไม่หวือหวา ด้วนสนนราคาค่าตัว 1.46 ล้าน สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อและ 1.186 ล้านบาทในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ เชฟโรเลต แคปติวาคงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาเลือกรถในเซ็กเมนท์นี้หรือจะรอดูเครื่องยนต์ดีเซลก่อนก็ไม่มีใครว่า