ข่าวในประเทศ - เจาะหลักเกณฑ์ตามกรอบ “อีโคคาร์” ที่ครม.ฤาษีใส่เกียร์เดินหน้า หวังเปิดเซกเม้นท์รถประเภทใหม่ในไทยปี 2552 เพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออกทั่วโลก ส่งผลให้ภาพ ณ วันนี้ แต้มต่ออีโคคาร์ของค่ายยักษ์ “โตโยต้า” พุ่งพรวดเหนือคู่แข่งอีก 2 ราย ที่ยื่นแสดงเจตจำนงร่วมผลิตอีโคคาร์ทันที เพราะ “โตโยต้า ยาริส” ที่ทำตลาดในยุโรปปัจจุบัน ตรงกับเงื่อนไขอีโคคาร์ชนิดแอบลอกมาเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 1,300 ซีซี และดีเซล 1,400 ซีซี ซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้เคียงและมากกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตร แถมยังทำตลาดในยุโรปอยู่แล้ว เรื่องมาตรฐานมลพิษระดับ EURO 4 จึงไม่ใช่ปัญหา ที่สำคัญยังสอดรับกับคำกล่าวของนายใหญ่โตโยต้า และผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลงานวางแผนการผลิตรถในไทย ได้เผยความนัยชัดเจนอีโคคาร์ของโตโยต้า จะถูกพัฒนาจากพื้นฐานของ โตโยต้า ยาริส และวีออส หากมาในรูปนี้นั่นย่อมหมายความ ว่า โตโยต้าจะเป็นค่ายเดียวที่ไม่ต้องลงทุนขึ้นไลน์ผลิตใหม่ทั้งหมด ทำให้ได้เปรียบในเชิงธุรกิจเป็นอย่างมาก
หลักเกณฑ์เงื่อนไขเบื้องต้นของ “อีโคคาร์” ที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อนุมัติออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 มิ.ย. 2550) เพื่อกำหนดกลุ่มรถประเภทใหม่ ที่จะได้รับอัตราการเสียภาษีสรรพสามิตพิเศษเพียง 17% นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปนั้น
ตามกรอบหลักเกณฑ์เบื้องต้นระบุว่า ต้องเป็นรถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และไม่เกิน 1,400 ซีซี ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่จำกัดกำลังของเครื่องยนต์ ส่วนอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือ 20 กิโลเมตรต่อลิตร มีมาตรฐานมลพิษอยู่ในระดับ EURO 4 ตามที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยจากท่อไอเสียไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร และกำลังการผลิตปีละ 1 แสนคัน ในปีที่ 5
จากเงื่อนไขดังกล่าว นับว่าสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทรถยนต์พอสมควร เพราะอีโคคาร์เสียภาษีสรรพสามิตเพียง 17% จากเดิมที่รถยนต์นั่งเสียภาษีต่ำสุดอยู่ที่ 30% แม้อาจจะไม่ตรงกับอัตราภาษีที่บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่เรียกร้องนัก แต่ก็ถือว่าพบกันครึ่งทางระหว่างความต้องการของบริษัทรถ แลกกับการสูญเสียรายได้ของกระทรวงการคลัง จากภาษีที่ต่ำลงของโครงการอีโคคาร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์อีโคคาร์ที่ประกาศออกมา เทียบกับความพร้อมของค่ายรถยนต์ 2ราย ที่ยื่นเจตจำนงจะผลิตรถอีโคคาร์แล้ว นับว่า “โตโยต้า” ดูจะเป็นค่ายที่ได้รับประโยชน์จากกรอบกำหนดอีโคคาร์มากที่สุด
ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าย “ฮอนด้า” ที่มีความชัดเจนมานานแล้ว ในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กโมเดลใหม่ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับอีโคคาร์ เพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออกทั่วโลก ฉะนั้นการแจ้งเกิดอีโคคาร์ของรัฐบาลไทย จึงเป็นการยกประโยชน์ให้กับฮอนด้า แบบไม่ต้องออกแรงมากนัก
ส่วนแต้มต่อที่ได้มาของโตโยต้า มาจากการกำหนดขนาดความจุกระบอกสูบอยู่ที่ไม่เกิน 1,300 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และเครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิน 1,400 ซีซี ซึ่งจากการชี้แจงสาเหตุที่จำกัดตัวเลขดังกล่าว เพื่อให้เกิดเป็นรถประเภทใหม่ ที่ไม่ใช่รถที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และไม่ส่งผลกระทบกับรถซับคอมแพ็กต์ขนาด 1,500 ซีซี ที่ทำตลาดในไทยอยู่แล้ว
แต่ภายใต้ความรอบคอบของคณะกรรมการดูแลโครงการอีโคคาร์ ก็ยังมีช่องที่ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มแต้มต่อให้กับค่ายโตโยต้า เพราะเมื่อสำรวจรถยนต์ที่ทำตลาดในตลาดโลกและไทย ทันทีที่ตัดประเด็นเรื่องมิติตัวถังออกไป ทำให้หลักเกณฑ์ของอีโคคาร์ดูจะเข้าทางปืนของ “โตโยต้า ยาริส” ซึ่งเป็นรถซับคอมแพ็กต์แบบแฮ็ทช์แบ็ก 5 ประตู เครื่องยนต์เบนซิน 1300 ซีซี และเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1,400 ซีซี ที่ทำตลาดอยู่ในยุโรปปัจจุบันทันที
ที่สำคัญโตโยต้า ยาริส ที่ทำตลาดในยุโรป ก็คือรถคันเดียวกับ โตโยต้า ยาริส ที่ทำตลาดในไทย และใช้พื้นฐานตัวถังร่วมกันกับ โตโยต้า วีออส เก๋งซับคอมแพ็กต์แบบ 4 ประตูด้วย เพียงแต่ในไทยทั้ง โตโยต้า ยาริสและวีออส วางเครื่องยนต์ 1500 ซีซี เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
สำหรับประเด็นเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง หากดูข้อมูลเทคนิคโตโยต้า ยาริส เครื่องยนต์เบนซิน รหัส 1SZ-FE 1,300 ซีซี 85 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 47.1 ไมล์ต่อแกลลอน ซึ่งหากถอดตัวเลขเป็นหน่วยแบบไทย จะได้อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 19.08 กิโลเมตรต่อลิตร
ขณะที่เครื่องยนต์ดีเซลรหัส 1ND-TV 1,400 ซีซี D-4D 88 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 62.8 ไมล์ต่อแกลลอน และเมื่อถอดตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นหน่วยที่ใช้ในเมืองไทยจะได้ 25.45 กิโลเมตรต่อลิตร
จะเห็นว่าโตโยต้า ยาริส เครื่องยนต์เบนซิน 1,300 ซีซี มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันขาดไปจากข้อกำหนดอีโคคาร์เพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งโตโยต้าสามารถปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ต้องพัฒนาใหม่ได้ เพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขที่ 20 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลมีตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ดีกว่าที่อีโคคาร์กำหนดไว้มาก ส่วนมาตรฐานมลพิษที่จะต้องผ่านระดับ EURO 4 ก็ไม่น่าห่วงเช่นกัน เพราะเครื่องยนต์ทั้งสองรุ่นทำตลาดในยุโรป จึงต้องผ่านมาตรฐานดังกล่าวอยู่แล้วถึงทำตลาดได้
จากตัวเลขต่างๆ ที่กล่าวมา เมื่อบวกกับเป็นรถยนต์ที่ทำตลาดในไทยอยู่แล้ว จึงทำให้แต้มต่ออีโคคาร์ของค่ายโตโยต้า พุ่งขึ้นมาเหนือกว่าคู่แข่งทันที เพราะเพียงนำเครื่องยนต์มาวางใน โตโยต้า ยาริส หรือโตโยต้า วีออส ที่ทำตลาดในปัจจุบัน พร้อมปรับเปลี่ยนด้านหน้า-หลัง หรือชื่อรุ่นหน่อย ก็สามารถแปลงร่างเป็นอีโคคาร์ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม คงต้องมาดูหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเป็นผู้สรุปกรอบส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการอีโคคาร์ในสัปดาห์หน้า (ประมาณ 15 มิ.ย.2550) หากบังคับไม่ให้นำรถที่มีอยู่ในปัจจุบันมาอยู่ในโครงการอีโคคาร์ โตโยต้าก็ยังมีทางออกด้วยการใช้พื้นฐานของ โตโยต้า ยาริส มาพัฒนาเป็นรถโมเดลใหม่อีกรุ่น เช่นเดียวกับที่ โตโยต้า วีออส ใช้พื้นฐานเดียวกับยาริสได้ทำอยู่ในปัจจุบัน
“อีโคคาร์จะต้องเป็นรถยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ มีคุณภาพดีแต่ต้นทุนต้องต่ำ ซึ่งหากจะทำเช่นนั้นจะต้องมีปริมาณการขายที่มากเพียงพอ ฉะนั้นหากจะให้อีโคคาร์เกิดได้ จึงต้องมีการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนคัน โดยปัจจุบันโตโยต้ามียอดขายรถยนต์โตโยต้า วีออส, ยาริส และอัลติส ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้แพลตฟอร์ม และชิ้นส่วนบางอย่างร่วมกันได้ โดยรวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณปีละ 1.1 แสนคัน หากจะเพิ่มรถใหม่ที่ทำให้มีปริมาณสูงถึง 2 แสนคัน จึงต้องเป็นรถที่ใช้ชิ้นส่วนและแพลตฟอร์มร่วมกันกับรถเหล่านี้ได้”
จากคำกล่าวของ “มิทซึฮิโระ โซโนดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ย่อมบ่งบอกความนัยได้ชัดเจนแล้วว่า อีโคคาร์ของโตโยต้าน่าจะมาจากพื้นฐานเดียวกับ โตโยต้า ยาริส หรือวีออส
และดูเหมือนจะตอกย้ำมากขึ้น กับการออกมาเปิดเผยของ “ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ซึ่งดูแลการวางแผนการผลิตรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีประกาศหลักเกณฑ์ของอีโคคาร์ออกมา
“โตโยต้าพร้อมสนับสนุนโครงการอีโคคาร์เต็มที่ และภายในเวลา 2 ปี จะมีรถโตโยต้าทำตลาดแน่นอน ส่วนจะเป็นรถรุ่นไหน ขอศึกษารายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ ของอีโคคาร์ให้ชัดเจนเสียก่อน โดยอาจจะนำรถยนต์ที่มีอยู่อย่าง โตโยต้า วีออส หรือยาริส มาพัฒนาให้สอดคล้องกับข้อกำหนดอีโคคาร์ โดยอาจพัฒนาเครื่องยนต์ตัวใหม่มาใส่แทน เครื่องยนต์ 1500 ซีซี. ด้วยการลดขนาดให้เล็กลงเหลือ 1,300 ซีซี. และปรับแต่งให้มีอัตราประหยัดน้ำมันมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาไม่น้อยกว่าปีครึ่ง ในการวางแผนการผลิต และจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วน ซึ่งใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 100%”
แน่นอนจากคำกล่าวของผู้กำหนดทิศทางและนโยบายโตโยต้าทั้งสองราย ชัดเจนว่าแนวโน้มอีโคคาร์จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับ โตโยต้า ยาริส และวีออส โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน ซึ่งหากโตโยต้าไม่พัฒนาขึ้นใหม่ ก็ยังสามารถนำรุ่นที่ขายอยู่ในญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า พาสโซ่ (ไดฮัทสุ บุน) หรือโตโยต้า ปอร์เต้ ที่ล้วนมีขนาดเครื่องยนต์ 1,300 ซีซี มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 21 กิโลเมตรต่อลิตร และหากข้อมูลไม่ผิดพลาดดูเหมือนจะพัฒนามาจาก พื้นฐานเดียวกันโตโยต้า วิทซ์ (ยาริส) เสียด้วย
นั่นย่อมหมายความว่า การลงทุนโครงการอีโคคาร์ของโตโยต้า ไม่จำเป็นต้องลงทุนขึ้นไลน์โมเดลใหม่ทั้งหมด สามารถใช้ไลน์ผลิต หรือชิ้นส่วนร่วมกับโตโยต้า ยาริสได้ ขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ ที่แสดงความสนใจร่วมผลิตอีโคคาร์ล้วนขึ้นไลน์ผลิตใหม่หมด
เหตุนี้ต้นทุนในการผลิตของโตโยต้าย่อมต่ำกว่า จากความพร้อมของไลน์ผลิต และตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้นคงจะไม่เกินไปนักหากจะบอกว่า……. ณ วันนี้ “โตโยต้า” ถือแต้มต่อในการลุยโครงการอีโคคาร์ เหนือกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด!!