xs
xsm
sm
md
lg

Mitsubishi Lancer Evolution IX MR เวอร์ชันสุดท้ายก่อนถึงยุค X

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าจะเรียกว่าเป็นการกระตุ้นตลาดครั้งสุดท้ายของสายพันธุ์ที่ 9 ของรถยนต์ในตระกูลแลนเซอร์ อีโวลูชัน ก่อนที่มิตซูบิชิจะเปิดตัวแลนเซอร์ใหม่ในช่วงปลายปี พร้อมกับโฉมใหม่ของอีโวลูชันที่จะมากับรหัส X (หรือ 10 ตามอักษรโรมัน) ในปี 2007 โดยมิตซูบิชิส่งเวอร์ชันเอ็มอาร์ลงมาขายในตลาดญี่ปุ่นแล้ว

เวอร์ชันเอ็มอาร์ หรือย่อมาจาก Mitsubishi Racing เป็นที่รู้จักในตลาดมาตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งมิตซูบิชินำมาเปิดตัวครั้งแรกกับอีโวลูชัน VIII หรือรุ่นที่ 8 และมีการตกแต่งภายนอกและภายในใหม่ พร้อมกับลดน้ำหนักให้กับตัวรถด้วยฝากระหน้า-หลัง และหลังคาที่ผลิตจากอะลูมิเนียม ทำให้เบาขึ้น 10 กิโลกรัม ขณะที่แรงบิดของเครื่องยนต์เพิ่มเป็น 40.8 กก.-ม.

สำหรับเวอร์ชันเอ็มอาร์ในสายพันธุ์ที่อีโว 9 มาพร้อมกับการปรับปรุงที่มุ่งเน้นไปที่สมรรถนะบนทางเรียบ มีขายทั้งตัวถังซีดาน และสเตชันแวกอนให้เลือกสัมผัส พร้อมกับรูปลักษณ์ภายนอก และภายในที่มีการปรับโฉมให้แตกต่างจากเดิมด้วยกันชนหน้า-หลังและสเกิร์ตทรงใหม่

นอกจากนั้นยังปรับปรุงช่วงล่างเปลี่ยนสปริงชุดใหม่เป็นของ Eibach ลดความสูงลง 10 มิลลิเมตร และล้อแม็กน้ำหนักเบาขนาด 17 นิ้ว แต่ถ้าอยากหล่อ และเบามากขึ้นไปอีกทั้งล้อและกระเป๋าเงิน ก็จ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อล้อของ BBS ขนาด 17 นิ้ว ซึ่งเป็นออพชั่นจากโรงงาน

ส่วนเฟืองท้ายอิเล็กทรอนิกส์ Super AYC ก็มีการปรับปรุงโปรแกรมการทำงานให้มีความสปอร์ตขึ้นจากอีโวลูชัน 9
ในรุ่นซีดานมีขาย 2 แบบคือ GSR มาพร้อมเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และรุ่น RS แบบโลว์สเปก พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะสำหรับซื้อไปใช้ทำรถแข่ง ส่วนรุ่นสเตชันแวกอน มีรุ่น GT เกียร์ธรรมดา และ GT-A เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ


เครื่องยนต์ยังเป็นบล็อกเดิมในรหัส 4G63 2L บล็อก 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 2,000 ซีซี เทอร์โบ-อินเตอร์คูลเลอร์ พร้อมระบบวาล์วแปรผัน MIVEC-Mitsubishi Innovative Valve timing Electronic Control system ที่เปิดตัวครั้งแรกกับสายพันธุ์ที่ 9 สิ่งที่ต่างออกไปคือไส้ในของเทอร์โบมีการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการผลิต ใบพัดฝั่งไอเสีย หรือ Turbine เปลี่ยนจาก Inconel ซึ่งเป็นวัสดุผสมระหว่างนิเกิล และ Chrome Alloy มาเป็นไททาเนียม-อะลูมิเนียม

ขณะที่ใบพัดฝั่งอัด หรือ Compressor ถูกลดขนาดลงจากเดิม ตัวเลขแรงม้าและแรงบิดไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงคือ ทำให้ตัวรถมีอัตราเร่งในทุกรอบความเร็วดีขึ้น

สำหรับกำลังสูงสุดทั้งในรุ่น GSR, RS และ GT มีตัวเลข 280 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที ส่วนรุ่น GT-A อยู่ที่ 272 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุดแตกต่างกันไป รุ่น GSR อยู่ที่ 40.8 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที, รุ่น RS อยู่ที่ 41.5 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที รุ่นแวกอน GT อยู่ที่ 40.0 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที และ GT-A อยู่ที่ 35.0 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที

เวอร์ชันเอ็มอาร์มีขายเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น และมิตซูบิชิตั้งเป้ายอดขายเอาไว้ที่ 1,500 คันตลอดอายุการทำตลาด ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี โดยมีราคา 2,856,000-3,622,500 เยน หรือ 1.05-1.34 ล้านบาท













กำลังโหลดความคิดเห็น