ตลาดใหญ่และสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย คือ ตลาดรถปิคอัพ ซึ่งมียักษ์ใหญ่สองค่าย(อีซูซุ-โตโยต้า)กำลังแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาดอยู่ โดยขณะนี้อีซูซุ กำลังสูญเสียตำแหน่งอันดับหนึ่งด้านยอดขายให้กับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง โตโยต้า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นอีซูซุจึงทำการปรับโฉม ดีแมกซ์ ใหม่ เพื่อกระตุ้นตัวเลขยอดขาย
เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว เพื่อไม่ให้น้อยหน้าทางโตโยต้าจึงทำคลอดไฮลักซ์ วีโก้ รุ่นเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี ใหม่ออกมาต่อกรกับอีซูซุ เพราะเมื่อดูตัวเลขยอดขายที่ย่อยลงไป จะพบว่า วีโก้ รุ่นเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี ยังมียอดขายน้อยกว่าอีซูซุอยู่
แต่จะพูดว่าเป็นรุ่นใหม่ ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากนัก เนื่องจากแท้จริงแล้วโตโยต้า จับเอาเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ที่ประจำการอยู่ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ยกมาใส่ให้กับรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อแทนเครื่องรุ่นเดิมเท่านั้น ซึ่งทำให้มีกำลังสูงสุดเพิ่มเป็น 120 แรงม้าจากเดิมมีเพียง 102 แรงม้า โดยจะใส่เฉพาะรุ่น 2.5G และ 2.5E ส่วนรุ่น 2.5J จะยังคงเป็นเครื่องยนต์รุ่นเดิม
นอกจากจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ไหม่แล้ว โตโยต้ายังได้เพิ่มช่องดักลมที่ฝากระโปรงหน้า เปลี่ยนคลัทช์ใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มที่กรองอากาศในระบบแอร์ แผ่นปิดซุ้มล้อหน้า เปลี่ยนที่บังแดดให้เป็นกำมะหยี่ และปรับอัตราทดเกียร์และอัตราทดเฟืองท้ายใหม่เพื่อความประหยัดที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราได้มาพิสูจน์ความประหยัดกันในครั้งนี้
โดยกติกาของการขับประหยัดในครั้งนี้คือ เริ่มต้นขับประหยัดจาก บ้านหนองเบน จ.นครสวรรค์ ถึงกิ่งอำเภอห้วยแม่สลิด จ.ตาก ระยะทาง 201.9 กิโลเมตร และกำหนดระยะเวลาให้ไม่เกิน 210 นาที หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่ง 140 กม.แรกจะเป็นทางเรียบ 30 กม.ต่อมาเป็นทางขึ้นลงเนินไม่สูง และประมาณ 40 กม.สุดท้ายเป็นทางขึ้นลงเขา มีไฟเขียวไฟแดงประมาณ 6 แยก
กำหนดการเติมน้ำมันให้ผู้ทดสอบสามารถโยกรถยนต์เพื่อไล่ลมในถังน้ำมันได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าผู้ทดสอบจะพอใจแล้วจึงปิดฝาถัง พร้อมติดสติกเกอร์และเซ็นกำกับโดยกรรมการ ส่วนการเติมเมื่อถึงเส้นชัยนั้นจะโยกโดยกรรมการเท่ากับจำนวนครั้งที่ผู้ทดสอบโยกในครั้งแรกหรือจนกว่ากรรมการจะพอใจเช่นกัน นอกจากนั้นยังกำหนดให้เปิดแอร์ตลอดระยะทางทดสอบโดยมีการติดสติกเกอร์ที่ปุ่มปรับแอร์ไว้ระดับกึ่งกลาง และแรงลมแอร์ระดับเบอร์ 2 เพื่อความยุติธรรมกับรถทุกคัน ซึ่งถ้าหากมีสติกเกอร์ใดหลุด จะถือว่าผิดกติกา ถูกจับแพ้ฟาล์วในทันที
ส่วนเรื่องของลมยางนั้นทางกรรมการไม่ได้ห้ามในการเรื่องการเติมลมเอาไว้ ซึ่งมีผู้ทดสอบหลายท่านขับรถไปเติมลมในระหว่างรอเติมน้ำมันก่อนเริ่มการแข่งขัน และหนึ่งในนั้นมีเรารวมอยู่ด้วย โดยเราเติมลมความดันประมาณ 60 ปอนด์ /ตารางนิ้ว ซึ่งก่อนหน้าที่จะเติมวัดได้ 50 ปอนด์/ตารางนิ้ว และเมื่อสอบถามผู้ทดสอบท่านอื่นๆ ที่เข้าเติมก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกันว่าเดิมมีอยู่ประมาณ 50 ปอนด์/ตารางนิ้วเช่นกัน นั่นหมายความว่ารถคันอื่น ซึ่งไม่ได้เข้ามาเติมลม น่าจะมีแรงดันลมยางอยู่ 50 ปอนด์/ตารางนิ้ว
การมีแรงดันลมยางมากกว่าปรกติตามสมุดคู่มือระบุไว้ที่ประมาณ 30-32 ปอนด์/ตารางนิ้วนั้น อาจจะเกิดจากที่เราขับด้วยความเร็วสูงเป็นเวลานานก่อนหน้าจะเริ่มการทดสอบ (ช่วงกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ขับตามสบาย) ทำให้แรงดันลมมีการขยายตัวก็เป็นได้ และการเติมแรงดันลมนั้นมีผลต่อตัวเลขการประหยัดน้ำมันอย่างแน่นอน
มาถึงช่วงการเติมน้ำมัน จากที่ได้สังเกตุดูการเติมน้ำมันของรถแต่ละคันนั้นโยกกันไม่ต่ำกว่า 5-10 ครั้ง เรียกได้ว่า เติมกันเต็มแล้วเต็มอีก รวมถึงคันของเราด้วยเช่นกัน โดยรถมีจำนวนทั้งหมด 20 คันเป็นรุ่น 2.5G ทั้งหมดและแต่ละคันจะมีสภาพเดิมๆ จากโรงงานไม่ได้ดัดแปลงแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน
เมื่อเติมน้ำมันเสร็จเรียบร้อยเราก็พร้อมแข่งขัน โดยลงเวลากับกรรมการจากนั้นจึงเริ่มเดินทางในทันที สำหรับความเร็วที่เราใช้ในการแข่งประหยัดน้ำมันครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 60-75 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์ประมาณ 1500-1700 รอบต่อนาที และเปิดแอร์ตลอดการเดินทาง
ในการขับเราพยายามรักษารอบเครื่องยนต์ให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และตลอดเส้นทาง 201.9 กม.ของการทดสอบครั้งนี้ เราติดไฟแดง 3 แยกจากทั้งหมด 6 แยก ซึ่งเมื่อถึงเส้นชัยการเติมน้ำมันของเราถูกโยกประมาณ 4-5 ครั้งจนเต็ม ซึ่งรถส่วนใหญ่ที่เข้ามาก่อนก็จะถูกโยกประมาณ 5 ครั้งเช่นกัน(เติมจนเต็มแล้วโยก) แต่รถคันหลังๆ ประมาณ 3-4 คันสุดท้าย จากการสังเกตพบว่าโยกเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ซึ่งเรื่องเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเทียบเท่ากัน
และเมื่อรถเข้ามาถึงเส้นชัยครบทุกคันผลการแข่งขันรถคันที่ ชนะเลิศ ใช้น้ำมัน 5.58 ลิตร หรือเฉลี่ย 36.18 กม./ลิตร อันดับสอง ใช้น้ำมัน 6.03 ลิตรหรือเฉลี่ย 33.48 กม./ลิตร อันดับสาม ใช้น้ำมัน 6.22 หรือเฉลี่ย 32.46 กม./ลิตร อันดับสี่ ใช้น้ำมัน 6.57 ลิตรหรือเฉลี่ย 30.73 กม./ลิตร อันดับห้า ใช้น้ำมัน 6.93 ลิตรหรือเฉลี่ย 29.13 กม./ลิตร ส่วนเรา “ผู้จัดการมอเตอร์ริ่ง” ได้อันดับที่หก ใช้น้ำมัน 6.97 ลิตรหรือเฉลี่ย 28.97 กม./ลิตร
ส่วนลำดับสุดท้ายจริงๆ ใช้น้ำมัน 9.88 ลิตรหรือเฉลี่ย 20.44 กม./ลิตร แต่ถ้าเป็นตามผลการแข่งขันจะเป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งถูกปรับเนื่องจากใช้เวลาเกินไป 3 นาที ทำให้ถูกปรับเป็นน้ำมัน 3 ลิตร ทำให้ค่าเฉลี่ยมาอยู่ที่ 18.27 กม./ลิตร ซึ่งถ้าไม่ถูกปรับจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25.08 กม./ลิตร (ใช้น้ำมันไป 8.05 ลิตรถูกปรับเป็น 11.05 ลิตร)
ภายหลังทราบผลสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมทดสอบ (มีหลายท่านเป็นถึงเกจิ แต่ไม่ใช่เรา) ต่างแสดงความคิดเห็นถึงความประหยัดของรถรุ่นนี้ ซึ่งทดสอบโดยวิศวกรของโตโยต้า และได้ค่าเฉลี่ย 25.16 กม./ลิตร น้อยกว่าสื่อมวลชนทดสอบในครั้งนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงน่าจะทำได้มากกว่า เพราะทดสอบอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถกำหนดทุกอย่างได้เอง ผิดกับการทดสอบครั้งนี้ที่มีความยืดหยุ่นสูงไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ผิวถนน หรือแม้กระทั่งสัญญาณไฟจราจร
เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันก็เป็นช่วงการขับขี่ตามสบายจากนครสวรรค์ถึงเชียงใหม่ โดยเราขับเป็นขบวนด้วยความเร็วประมาณ 160-170 กม./ชม. บนเส้นทางขึ้นลงเขาและมีโค้งพอสมควร ซึ่งเจ้าวีโก้เครื่องยนต์ 2.5IC ตัวนี้แม้จะวิ่งด้วยความเร็วสูงขนาดนั้นแต่ยังสามารถเกาะถนนได้เป็นอย่างดี ความเร็วสูงสุดที่เราทดสอบพบว่า ขับได้ถึง 175 กม./ชม. ที่รอบเครื่องยนต์ประมาณ 4,000 รอบต่อนาที เรียกได้ว่าทำความเร็วได้ไม่น้อยหน้าวีโก้ เครื่อง 3,000 ซีซี และฟอร์จูนเนอร์ รถเซอร์วิสของทีมงานโตโยต้าที่ร่วมขบวนไปในครั้งนี้ด้วย
เรื่องทั้งหมดของเจ้าวีโก้เครื่องยนต์ 2.5IC ที่กล่าวมานี้ โตโยต้า ขอปรับราคาเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อน 20,000 บาทต่อรุ่น คุ้มหรือไม่ คำตอบอยู่ที่คุณ