หลังจากที่นายห้างวิเชียร ได้ตกลงรับปากว่าจะ เป็นเอเย่นต์ขายรถยนต์อีซูซุ ให้กับนายโมริตะแล้ว ก็มีปัญหาตามมาคือ เรื่องสถานที่และเงินทุน ส่วนการขายนั้นนายห้างวิเชียรคิดว่าทำได้อย่างแน่นอน และแล้วปัญหาด้านสถานที่หมดไปเมื่อนายห้างวิเชียรตัดสินใจใช้ ลานวัดโคกเป็นโชว์รูม นับเป็นความคิดที่ไม่มีใครคาดถึง
ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นสุดท้ายใช้วีธี “ใจซื้อใจ” เนื่องจากนายห้างวิเชียรไม่สามารถหาแบงค์การันตีมาได้ แต่นายโมริตะต้องให้นายห้างวิเชียรเป็นเอเย่นต์โดยไว เนื่องจากทางมิตซูบิชิมีสัญญาที่จะต้องส่งมอบรถให้กองทัพเรือตามกำหนด ซึ่งขณะนั้นรถอีซูซุส่งมาถึงเมืองไทยแล้วแต่ยังใช้ไม่ได้เพราะมีแต่หัวรถโล้นๆ ไม่มีตัวถัง จำเป็นต้องหาคนมาทำหัวและตัวถังแล้วประกอบขึ้นเป็นรถบัสสำเร็จรูป แน่นอนว่า งานนี้รอความสามารถและฝีมือของ “วิเชียร เผอิญโชค”ล้วนๆ
หลังจากที่ธุรกิจขายรถยนต์อีซูซุดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง ในชื่อของ ชัยเจริญกิจมอเตอร์ โดยสามารถขยายเอเย่นต์ได้ถึง 19 รายทั่วประเทศ นายห้างวิเชียร ก็ได้ย้ายโชว์รูมมาอยู่ที่ถนนสุรวงค์ บางรัก ซึ่งถือเป็นโชว์รูมอย่างเป็นทางการแห่งแรกของนายห้างวิเชียร และของรถยนต์อีซูซุ ในเมืองไทย ช่วงนี้เองที่ชัยเจริญกิจ มอเตอร์ มีโอกาสผลิตอะไหล่บางชิ้นป้อนให้กับอีซูซุในญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้วิเชียรสามารถขยายธุรกิจด้านผลิตอะไหล่รถยนต์ได้อย่างกว้างขวาง
แม้ในช่วงปีแรกๆ ของกิจการจะสามารถทำยอดขายได้เป็นอย่างดี ถึงปีละ 3 ล้านบาท แต่การขายรถญี่ปุ่นในสมัยนั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยและสังคมยังมีความนิยมรถที่มาจากยุโรปมากกว่า ประกอบกับมีปัญหาในด้านการเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ทำให้ธุรกิจเริ่มมีปัญหา จึงเป็นที่มาของบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งของ ไทยรุ่งฯ นั่นก็คือ ปราณี(ดร.ปราณี ในปัจจุบัน) เผอิญโชค ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของนายห้างวิเชียร
ซึ่งขณะนั้น ชัยเจริญกิจ มอเตอร์ มีหนี้สินสูงมากนับสิบล้านบาท และทางผู้บริหารฝ่ายญี่ปุ่นของอีซูซุได้เปลี่ยนจากนายโมริตะ เป็นนายนากามูระ ซึ่งยึดถือกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินดังกล่าวของชัยเจริญกิจ มอเตอร์ ทางญี่ปุ่นจึงได้ยื่นข้อเสนอยกหนี้ทั้งหมดให้พร้อมกับแถมเงินให้ก้อนหนึ่งเพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้ร่วมบุกเบิกธุรกิจร่วมกันมา โดยแลกกับการเลิกเป็นตัวแทนจำหน่ายอีซูซุอย่างเด็ดขาดของชัยเจริญกิจ มอเตอร์
แต่แน่นอนคำตอบของนายห้างวิเชียรคือ ไม่ยอมและจะขอสู้ต่ออีกครั้ง นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้ามาช่วยงานสามีของ ปราณี ซึ่งเข้ามาดูแลในส่วนของการจัดการด้านบัญชีรายรับรายจ่ายและการบริหารบุคคล ส่วนนายห้างวิเชียรจะดูแลเรื่องการผลิตที่ตนเองถนัดเพียงอย่างเดียว
และเมื่อเข้ามาทำงานร่วมกันทำให้ปราณีได้ค้นพบว่า สามีของตัวเองนั้นมีพรสวรรค์ในการดัดแปลงรถยนต์มากเพียงไร รวมถึงจิตใจที่มีความรักรถยนต์มากเป็นอันดับหนึ่ง นอกเหนือจากความชู้และเจ้าสำราญที่เกือบทำให้เธอคิดสั้นฆ่าตัวตายหนีปัญหามาแล้ว
หลังจากนั้น ชัยเจริญกิจ มอเตอร์ เริ่มฟื้นตัวได้แต่ปัญหาหนึ้สินเดิมยังไม่สามารถปลดเปลื้องไปได้ง่ายๆ ทำให้สถานการณ์ไม่ต่างอะไรกับคนไข้ไอซียูที่ถอดเครื่องช่วยหายใจเมื่อไหร่ก็กลับบ้านเก่าเมื่อนั้น และในท่ามกลางวิกฤตนี้ ทางญี่ปุ่นให้คำแนะนำว่า นายช่างวิเชียรอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นตัวแทนจำหน่ายก็จริง แต่ฝีไม้ลายมือในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่และการออกแบบดัดแปลงรถยนต์ยังเป็นที่ยอมรับของญี่ปุ่นอยู่
น่าจะเปลี่ยนแนวธุรกิจใหม่หันมาเปิดโรงงานต่อตัวถังรถบรรทุกและผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อย่างเดียวดีกว่า เพราะการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารเป็นเรื่องยากลำบากมาก ยิ่งเมื่อจัดเก็บเงินไม่ได้ปัญหาหนี้สินยิ่งเป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ
ดังนั้นด้วยความเชื่อมันในฝีมือเชิงช่างของตัวเองส่วนหนึ่งกับคำแนะนำของทางญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่งทำให้นายห้างวิเชียร เปลี่ยนเป้าหมายหันมาทุ่มเทงานด้านการผลิตชิ้นส่วนและรับจ้างทำตัวถังรถบรรทุกให้มากขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการดูแลชัยเจริญกิจให้พอมีลมหายใจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ก่อนจะปิดตัวลง
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2509 บริษัท อีซูซุ (ประเทศไทย) ได้ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นเอง สนองตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
ปี พ.ศ.2510 นายห้างวิเชียร จึงตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ด้วยการก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรุ่งวิศวกรรม ขึ้นมาเพื่อมุ่งผลิตชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์เป็นหลัก ตอบสนองนโยบายของรัฐในช่วงปี 2510-2520 ที่ต้องการให้มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า เพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้าทางหนึ่ง หลังจากที่ประเทศไทยขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงถึง 11,000 ล้านบาทในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม ทำไว้ช่วงปี พ.ศ. 2508-2509
การก่อตั้งบริษัทในครั้งนั้นนายห้างวิเชียร มีเงินสดลงทุนเพียง 80,000 บาท นอกนั้นล้วนเป็นเงินกู้ที่ไปหยิบยืมเขามาทั้งสิ้น โดยบริษัทแห่งนี้ตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึง 5 ล้านบาท เพื่อรับผลิตชิ้นส่วน แม่พิมพ์ และตัวถังรถยนต์ พร้อมทั้งรับประกอบกระบะท้ายรถบรรทุกและประกอบตัวถังรถบัส ซึ่งนายห้างวิเชียร รับผิดชอบด้านควบคุมโรงงานและการออกแบบ ส่วนปราณีดูแลงานบริหารทั้งหมด โดยเฉพาะด้านบัญชีและการขายเหมือนเช่นเคย
และครั้งนี้เองที่ชื่อของ ไทยรุ่งฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่นาน โปรดติดตามความสำเร็จครั้งนี้ได้ในตอนต่อไป