xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย“ไทยรุ่ง” จากสามล้อถีบ สู่นายห้างพันล้าน (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยรุ่ง ยูเนี่ยนคาร์ หนึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นไทยแท้ 100% ด้วยสโลแกน “ภูมิใจที่เป็นไทย” กว่าจะมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ ต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรมาอย่างมากมาย รวมถึงผู้ก่อตั้ง “นายห้างวิเชียร เผอิญโชค” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “คนถีบสามล้อ” แต่ใครจะรู้บ้างว่า สามล้อถีบ ผู้นั้นคือผู้มีคุณูประการอย่างยิ่งยวดต่อประเทศไทย เพราะเขาคือ ผู้คิดค้นรถสามล้อเครื่องที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นสัญลักษณ์เด่นชิ้นหนึ่งของประเทศไทย เมื่อรู้เช่นนี้แล้วเรามาทำความรู้จักไทยรุ่งฯ กันดีกว่า

การก่อกำเนิดของไทยรุ่งนั้นต้องขอเริ่มต้นที่ การถือกำเนิดของนายห้าง วิเชียร เสียก่อนเป็นลำดับแรก โดย นาย วิเชียร เผอิญโชค เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มีบรรพบุรุษ อยู่ในเองซัวเถา ลงเรือสำเภาข้ามน้ำข้ามทะเล อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาอาศัยร่มโพธิสมภารผ่านดินสยามพร้อมกับแม่และน้องสาวตั้งแต่เล็ก

เช่นเดียวกับคนจีนโพ้นทะเลจำนวนมากในสมัยนั้นที่ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ขณะที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศจีน ชื่อเดิมของนายห้างวิเชียร คือ “จึงเอี่ยวเชียง” หรือ เอี่ยวเชียง แซ่จึง เป็นเด็กชายที่อาภัพ ไม่รู้กระทั่งวันเกิดแท้จริงของตัวเอง ทราบแต่ว่าเป็นปี 2459

“จึงเอี่ยวเชียง” เมื่อมาปักหลักในเมืองไทย ต้องหาเลี้ยงครอบครัวทุกวิถีทาง จึงเริ่มต้นอาชีพด้วยการรับจ้างขายของ พายเรือขายเต้าหู้ ขายฝรั่งดอง จนถึงซ่อมจักรยาน แต่ด้วยความที่เป็นคนช่างคิดช่างสังเกต หมั่นศึกษาหาความรู้จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา เขาจึงสามารถเพิ่มพูนความรู้รอบตัวได้อย่างมากมายแม้จะไม่รู้หนังสือเลยก็ตาม

เมื่ออายุได้ 22 ปี ในขณะที่มีอาชีพขี่จักรยานสามล้อรับจ้าง พรสวรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้นของ “จึงเอี่ยวเชียง” ก็เริ่มฉายแวว เมื่อสามารถตกแต่งดัดแปลงรถสามล้อเครื่องด้วยตนเอง จนเป็นต้นแบบสามล้อเครื่องอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยนำมอเตอร์ไซค์เก่าๆ มาดัดแปลงเป็นสามล้อรับส่งผู้โดยสารเป็นคนแรกของเมืองไทย ซึ่งนับเป็นการคันพบตัวเองครั้งยิ่งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจให้เขามุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่เป็นรากฐานของความเจริญก้าวหน้าในเวลาต่อมา

“อาเชียง” ในวัยหนุ่มนอกจากมีคุณสมบัติและพรสวรรค์อันยอดเยี่ยมในการดัดแปลงเครื่องยนต์กลไกต่างๆ แล้ว ยังเป็นนักขายฝีมือฉกาจอีกด้วย และด้วยนิสัยชอบช่วยเหลือผู้อื่น รักการบริการพอใจที่จะทำให้ผู้อื่นมีความสุข มีความพึงพอใจ เขาจึงสร้างความประทับใจให้กับผู้คนที่รู้จักติดต่อค้าขายด้วยกันตลอดมา

ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 “อาเซียง” มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับนายจ้างชาวไต้หวันและญี่ปุ่น พร้อมกับมีความเชี่ยวชาญด้านจัดหาอะไหล่ในย่านเชียงกงอย่างหาตัวจับยาก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของคนในวงการค้าของเก่าสมัยนั้น จนมีผู้ตั้งฉายาให้กับเขาว่า “ลื้อชวนเลี้ยง”

ซึ่งหมายความถึง “ผู้วิเศษที่เนรมิตอะไรก็ได้” เพราะเมื่อใดที่ใครไม่สามารถซ่อมแซมเครื่องยนต์หรือจัดหาอะไหล่ให้แก่รถยนต์รุ่นใดได้ ก็จะมาหานายห้างวิเชียร หรือ “อาเชียง” ซึ่งเขาจะสรรหาของที่ต้องการมาให้หรือไม่ก็แก้ไขปัญหาจนลุล่วงได้ทุกคราวไป

ความเก่งทำให้เถ้าแก่ไต้ล้ง(บิดาของนายถาวร พรประภา) ชักชวนวิเชียรเข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างร้าน ตั้งท่งฮวด (ต้นกำเนิดของกลุ่มบริษัท สยามกลการ อดีตผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสัน)

ภายหลังสงคราม ขณะที่วิเชียรทำงานเป็นช่างฟิตให้กับ ตั้งท่งฮวดอยู่นั้น เขามีโอกาสได้ทำงานซ่อมรถยนต์เก่าของสหประชาชาติ ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในเมืองไทยทำให้เริ่มมีประสบการณ์ในการซ่อมแซมดัดแปลงรถยนต์ขนาดใหญ่ และนั่นเป็นการเจียระไนให้เพชรในตมอย่างวิเชียรเริ่มเปล่งประกายแวววาวขึ้นทีละน้อยโดยที่เขาไม่รู้ตัว

จากนั้นเมื่อนายถาวร พรประภา ทายาทรุ่นลูกของห้างตั้งท่งฮวดได้แยกตัวออกมาก่อตั้งบริษัทสยามกลการขึ้น วิเชียรจึงได้เข้าร่วมงานกับทางสยามกลการซึ่งเริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกนิสสัน โดยวิเชียรได้กำกับดูแลงานออกแบบต่อเติมตัวถังรถในฐานะนายช่างใหญ่

ทำงานกับสยามกลการได้ 6 ปี เขาก็ลาออกมาร่วมงานกับบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถบรรทุกอีซูซุในขณะนั้น โดยนายโมริตะ ผู้บริหารของมิตซูบิชิเวลานั้น เป็นผู้ชักชวนให้วิเชียรมาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุรายแรกในประเทศไทยในราวปี พ.ศ.2500

ประเด็นเกิดจากการที่นายโมริตะ ถูกชะตากับนายวิเชียรและเห็นว่านายวิเชียรเป็นคนขยันขันแข็งจึงอยากให้มาช่วยงาน ประกอบกับนายวิเชียรกำลังมีปัญหาเรื่อง การไม่มีดีกรีทางการศึกษาใดๆ อาจจะก้าวหน้าได้ยากในบริษัทที่ทำงานแบบสมัยใหม่ จึงตอบตกลงในทันทีหลังจากได้รับคำชักชวน

ด้วยความตั้งใจที่จะเข้ามาเป็นพนักงาน แต่ชะตาฟ้าได้เขียนให้นายวิเชียรต้องเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง เนื่องจากเมื่อเจ้าสัวถาวร รู้ว่านายวิเชียร ลูกน้องคนสำคัญลาออกไปอยู่กับมิตซูบิชิ ซึ่งอยู่ในตึกของตนเองแท้ๆ เจ้าสัวถาวร จึงได้โทรศัพท์ไปต่อว่านายโมริตะว่า ทำเช่นนี้ได้อย่างไร นายโมริตะซึ่งเกรงใจเจ้าสัวถาร เป็นอย่างมากและเพื่อไม่ให้เจ้าสัวโกรธ จึงตอบกลับไปว่า นายวิเชียร เป็นฝ่ายมาหาตนและต้องการที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุ ดังนั้น นายวิเชียรจึงต้องตกกระไดพลอยโจนเป็น ตัวแทนขายรถยนต์อีซูซุ เพื่อรักษาคำพูดของนายโมริตะที่ให้ไว้กับเจ้าสัวถาวร

และนี่คือจุดกำเนิดธุรกิจค้าขายและดัดแปลงรถยนต์ของวิเชียร เผอิญโชค การเข้าร่วมงานกับอีซูซุด้วยความรู้ความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะทางด้านช่างวิศวกรรมซึ่งฝึกฝนขึ้นมาจากประสบการณ์ในการทำงานล้วนๆ ส่งผลให้นายห้างวิเชียรได้รับความไว้วางใจจากนายโมริตะอย่างยิ่ง จนทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน และความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ปูรากฐานสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันดีระหว่างกลุ่มไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์กับทางอีซูซุตลอดมา

ธุรกิจขายรถยนต์อีซูซุ ของวิเชียร จะเป็นเช่นไร โปรดติดตามต่อตอนที่ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น