งานมอเตอร์โชว์ มีต้นแบบมาจากงานมอเตอร์โชว์ ณ เอิร์ลคอร์ท กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงระหว่างปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518
ประกายความคิดเกี่ยวกับการจัดมอเตอร์โชว์ของปราจิน มีประวัติศาสตร์เช่นกัน โดยหลังจากทำหนังสือกรังด์ปรีซ์มาได้ประมาณ 5 ปี เขาก็เกิดมีความคิดริเริ่ม “จัดงาน” ที่เกี่ยวเนื่องกับนิตยสารที่ทำอยู่ เมื่อคิดและแยกประเด็นว่าจะทำอะไรได้ พร้อมกับวางแผนจัดเตรียมงานทุกอย่างลงตัว จึงได้จัดกิจกรรมแรกของตัวเองขึ้น คือการจัดงานประกวดรถยอดเยี่ยมประจำปี หรือ “คาร์ ออฟ เดอะเยียร์” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเลือกโรงแรมใหญ่ๆในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่จัดงานและมอบรางวัล
งานดังกล่าวจัดเพียงแค่วันเดียว ดูเหมือนจะไม่จุใจประชาชน ผู้สนใจความอยากรู้และต้องการดูอย่างใกล้ชิดว่ารถคันไหนดีอย่างไร และได้รางวัลเพราะอะไร ทำให้ปราจินมีความคิดที่จะจัดงานที่ใหญ่ขึ้นกว่าในระยะเวลาที่ยาวนานมาก
“ผมเดินทางไปต่างประเทศ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ทำให้มองเห็นธุรกิจที่ต่อเนี่องกับเรา ที่เมืองไทยยังไม่มี มีเยอะมาก ในญี่ปุ่นเขาจัดงานมอเตอร์โชว์ทุก 2 ปี มีรถโชว์มากมาย ต้องมีคนกลางจัดการ และได้รับการสนับสนุนจากหนังสือ บริษัทรถ และอุปกรณ์แต่งรถจองพื้นที่ในงานเพื่อโปรโมทสินค้า คนจัดได้ทั้งค่าชม ค่าให้เช่าพื้นที่ ก็เหมือนกัน สักวันหนึ่งเมืองไทยต้องทำให้ได้ แล้วทำไมผมซึ่งมีความพร้อม มีหนังสือเป็นสื่อกลางเป็นที่รู้จัก ยอมรับในวงการ เพราะถ้าเราทำก่อน โอกาสก็เป็นของเรา
ช่วงนั้น เราวิ่งตามบริษัทรถต่างๆ ซึ่งเขามีงบประมาณอยู่แล้ว ขายรถคันหนึ่ง ต้องใช้งบโฆษณาทุกด้าน คันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และการจัดมอเตอร์โชว์เป็นการโปรโมท ทั้งเป็นนโยบายบริษัทแม่ เพียงแต่ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีแหล่ง หรือมีคนจัดเท่านั้นเอง ถ้ามาจัดโชว์เกิดข้อเปรียบเทียบง่าย ใครจะให้น้อยหน้าใคร ที่แน่ๆ คนไทยชอบรถมากติดอันดับโลก การเปิดตลาดให้เลือกดูรถจึงดึงดูดผู้คนได้มาก ผมเห็นอนาคต ติดต่อประสานงาน หาสถานที่เช่าให้เขา”
ในหนังสือ “ครรลองของบิ๊ก” โดย เสวก ว่องกสิกรณ์ ให้ข้อมูลว่าก่อนที่งานแสดงรถยนต์ภายใต้แนวคิดรูปแบบ “มอเตอร์โชว์” จะถูกนำเข้ามาในเมืองไทย
“ในราวปี พ.ศ 2518 เถลิง พลวรรณาภา หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารกรังด์ปรีซ์ในขณะนั้น ได้ทำเรื่องเสนอปราจินเพื่อขอบินไปทำข่าวเกี่ยวกับรถรุ่นใหม่ โดยมีเสวกติดตามไปด้วย เมื่อเสวกกลับมาดูแลการควบคุมการแข่งขันรถ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์วิบากเก็บคะแนนชิงแชมเปี้ยนของประเทศไทยอยู่ 2-3 ปี วันหนึ่งเขาได้เดินเข้าไปในอาคารลุมพินีฮอลล์ ซึ่งไม่ไกลจากสำนักงานนิตยสารกรังด์ปรีซ์นัก ขณะนั้นตั้งอยู่ที่ถนนศาลาแดง พิเคราะห์ดูเหมือนดังเช่นเอิร์ลคอร์ท ย่อส่วนกันมา คือ ภายในอาคารชั้นล่างเป็นพื้นวงกลม ชั้นบนมีระเบียงรอบ น่าจะจัดงานมอเตอร์โชว์ได้ คือ ตั้งรถยนต์แสดงที่พื้นล่างเรียงรายกันไป ส่วนชั้นบนซึ่งเป็นระเบียงนั้น นำสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ และอะไหล่รถกั้นแบ่งเป็นบล็อกๆ แสดงได้ จึงนำความนี้ปรึกษาปราจิน ซึ่งแม้ในครั้งนั้น เขายังไม่เคยได้ไปชมงานมอเตอร์โชว์ ณ ประเทศอังกฤษเลย แต่ปราจินก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และตกลงที่จะจัดงานนี้ขึ้น”
ความลงตัวอีกประการหนึ่งที่จะทำให้งานมอเตอร์โชว์ครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นก็คือ จุดหักเหชีวิตของ ภิญโญ ทองเจือ ซึ่งตัดสินใจลาออกจากบริษัทไอบีเอ็ม และมาสมัครเข้าทำงานที่กรังด์ปรีซ์ เสวกบันทึกไว้ว่า
“เสี่ยภิญโญ (อ๊อด) ทองเจือ เกิดน้อยใจลาออกจากบริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งมีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ถนนสีลม ใกล้ๆกับสำนักงานกรังด์ปรีซ์ด้วย เมื่อลาออกแล้วเขาก็เดินเรื่อยเปื่อยมาหาเราตอนใกล้ค่ำ พร้อมทั้งแจ้งว่าอยากเข้ามาทำงานที่กรังด์ปรีซ์ แต่เอ่ยปากขอเงินเดือนถึงสองหมื่นบาท ซึ่งสร้างความตกใจให้บิ๊กตุ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยจ่ายค่าจ้างพนักงานในอัตราที่สูงขนาดนี้มาก่อน (เทียบกับราคารถยนต์โตโยต้ารุ่นโคโรลล่า ขณะนั้นคันละหกหมื่นเจ็ดพันบาท) จึงปรึกษากับผมว่า ควรจ้างไว้หรือไม่? ผมออกความคิดเห็นไปว่าเสี่ยอ๊อดได้รับการฝึกปรือจากค่ายไอบีเอ็ม ซึ่งขณะนั้นถือว่ามีตำราการสร้างคนให้มีคุณภาพ ดีกว่าแห่งอื่นๆ หากจ้างไว้ให้รับหน้าเสื่อการวิ่งเต้นเรื่องงานมอเตอร์โชว์ตามแผนที่วางไว้ดีแล้ว โดยให้ไปติดต่อขออนุญาตการจัดงานแสดง การขอใช้ไฟฟ้าเพิ่มในระหว่างมีงาน และอื่นๆ จะสะดวกกว่าพวกเราไปวิ่งเต้นติดต่อกับหน่วยงานของราชการ หรือองค์การของรัฐเอง เพราะช่วงนั้นใครๆ ก็รู้จักเขาในฐานะนักแสดง เป็นพระเอกหนุ่มจากเรื่อง เขาชี่อกานต์ บทประพันธ์ของคุณสุวรรณี สุคนธา และหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมยุคล (ท่านมุ้ย) นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมีฉากพระเอกขับรถคว่ำ ซึ่งได้นายชัยศรี (ตุ๋ย) เอี่ยมบำรุง มาเป็นตัวแสดงแทน และแนะนำเสี่ยอ๊อดให้เข้ามารู้จักพวกเราในวงการยานยนต์ด้วย
ผมคาดคะเนไปตามแผนงานมอเตอร์โชว์ครั้งแรกที่วางไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วว่าน่าจะมีกำไรอยู่ที่ประมาณสองสามแสนบาท เอาเงินจำนวนนี้แหละว่าจ้างเสี่ยอ๊อดไว้คงสิ้นเงินปีละสองแสนสี่หมื่นบาท แต่จะได้แรงงานเขามาใช้ฟรีๆ ไปตลอดชาติ อนึ่ง วิชาการสมัยใหม่ในเรื่องการขาย ทางไอบีเอ็มพร่ำฝึกสอนมาไว้ดีแล้วนั้น จักต้องหาทางให้เสี่ยอ๊อดถ่ายทอดเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานขายโฆษณานิตยสารกรังด์ปรีซ์ และนิตยสารมอเตอร์ไซค์ให้จงได้ พิเคราะห์แล้วมีแต่กำไรลูกเดียว บิ๊กตุ่นได้ฟังคำชี้แจงแถลงไข เลยพลอยเคลิบเคลิ้มยอมตกลงว่าจ้างเสี่ยอ๊อดไว้แต่บัดนั้น
งานเริ่มขึ้นในช่วงเย็นวันศุกร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา เสด็จมาทรงเปิดงาน โดยมี ร.อ.ม.จ. จุลเจิม ยุคล (ท่านใหญ่) ประสาน ท่ามกลางความปลื้มปีติเป็นล้นพ้นของคณะกรรมการจัดงาน ตลอดจนผู้แทนจากบริษัทห้างร้านซึ่งนำสินค้ามาร่วมแสดงแล้ว ครั้นเมื่อพระองค์ทั้งสองเสด็จกลับ ประชาชนทั่วไปก็จะได้เข้าชมงานมอเตอร์โชว์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก”
มอเตอร์โชว์ครั้งนั้นจำหน่ายบัตรเข้าชมใบละ 3 บาท เงินจากการจำหน่ายบัตร ยกเข้าการกุศลมอบให้ มูลนิธิดวงประทีป จึงได้วางรูปแบบงาน และติดต่อประสานงานกับบริษัทรถยนต์จนทุกอย่างลงตัว สวนลุมพินีจึงถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดแสดงครั้งแรก
ความสำเร็จแรกของมอเตอร์โชว์ ทำให้ปราจิน วางแผนและจัดรูปแบบการจัดงานขึ้นมาใหม่โดยเปลี่ยนชื่องานอย่างเป็นทางการว่า บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ พร้อมกับย้ายสถานที่จัดงานมาอยู่ที่สวนอัมพร ซึ่งมีสถานที่จัดงานกว้างขวางกว่าเดิม สามารถรองรับบริษัทร่วมงานและประชาชนได้มากกว่า รวมถึงสถานที่จอดรถ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีกหลายอย่างที่มีพร้อมกว่าสวนอัมพร จึงเป็นที่จัดงานมอเตอร์โชว์เรื่อยมาทุกปี โดยในแต่ละปีมีการพัฒนารูปแบบของงานให้ทันสมัยมากขึ้น และมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้ชมงานได้ติดตาม
และเพื่อให้งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ก้าวสู่ระดับนานาชาติ ทางคณะผู้จัดงาน ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อชมงานมอเตอร์โชว์ที่ยิ่งใหญ่ ติดอันดับต้นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว มอเตอร์โชว์ แฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ ดีทรอยต์ เจนีวา มอเตอร์โชว์ ฯลฯ ซึ่งการเดินทางไปดูงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ให้ไปสู่ความเป็นงานแสดงระดับนานาชาติ พร้อมกับแสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถจัดงานระดับนานาชาติได้ดีไม่แพ้ใคร
หลังจากนั้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเมืองไทยได้โตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2539 ยอดจำหน่ายตลาดรถยนต์รวมของประเทศไทยสามารถมีกว่า 5 แสนคัน และรถจักรยานยนต์อีกเป็นล้านคันต่อปี ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ในต่างประเทศให้ความสนใจประเทศไทยเป็นอย่างมาก พร้อมกับทยอยย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย
สำหรับงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ทางผู้จัดมีการพัฒนารูปแบบการจัดงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ทัดเทียมกับงานมอเตอร์โชว์ใหญ่ๆ อย่างโตเกียว หรือแฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดหาสถานที่จัดงานใหม่ ที่จะสามารถรองรับคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ของแต่ละบริษัทที่มีโครงการนำเอาบู๊ธจากต่างประเทศเข้ามาแทนรูปแบบเดิม ซึ่งสวนอัมพรไม่สามารถรองรับได้ทุกอย่าง ทั้งการนำเอาบู๊ธรูปแบบใหม่ใช้ในงาน และความหนาแน่นของผู้เข้าชมงานที่มีปริมาณมากกว่า 1 ล้านคน ขณะที่สถานที่จอดรถไม่เพียงพอ ดังนั้นคณะผู้จัดงานจึงใช้สวนอัมพรจัดงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 18 เป็นสถานที่จัดงานครั้งสุดท้าย
งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 19 จึงได้ย้ายมาจัด ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติหรือไบเทค ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม.1 เพื่อสอดรับกับการยกย่องให้เป็นดีทรอยต์ตะวันออก ที่ไบเทคมีพื้นที่จัดแสดงภายในฮอลล์ใหญ่กว่า 35,000 ตารางเมตร มีสาธารณูปโภค ครบถ้วน ภายนอกอาคารสามารถจอดรถได้ถึง 2,500 คัน ที่จอดรถใต้อาคารอีก 1,500 คัน รูปแบบการจัดงานดังกล่าวไม่น้อยหน้ามอเตอร์โชว์ระดับใหญ่ๆ ของโลก ภายในฮอลล์ บู๊ธของรถยนต์ค่ายต่างๆ นำเอาบู๊ธสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศมาประกอบในงานนี้ เช่นเดียวกับฮอลล์จักรยานยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตอบรับความเป็นอินเตอร์ของงานที่ยกระดับขึ้นไปในระดับนานาชาติ
นอกจากรูปแบบของบู๊ธแล้ว บริษัทผู้ร่วมแสดงในงานยังได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงที่ก้าวล้ำทันสมัยมาแสดงให้ผู้เข้าชมงานได้รับทราบถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างทันยุค เช่น รถต้นแบบ ซูเปอร์สปอร์ตคาร์ เรื่องยนต์ไฮเทคโนโลยี จักรยานยนต์ต้นแบบ อุปกรณ์เกี่ยวกับมอเตอร์สปอร์ต เครื่องเสียงติดรถยนต์ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนั้น ผู้จัดงานยังได้เพิ่มเติมสีสันของงานด้วยการจัดให้มีกิจกรรมระหว่างงานอีกหลายกิจกรรม เช่น จัดโชว์รถสปอร์ตคาร์จากชมรมเฟอร์รารี่ ปอร์เช่ รถคลาสสิก โฟล์ค มินิ อัลฟ่า ฮาร์เล่ย์
ปราจินกล่าวว่า “พองานมอเตอร์โชว์ติดปีก ตอนนี้ใครๆก็อยากจะจัดมอเตอร์โชว์ มีหลายๆสมาคมคอยชุบมือเปิบ ไม่รู้จักหุงข้าวต้มแกง นี่แหละไทยแลนด์ ไม่มีปัญญาคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา มักง่าย ผมจึงจับมือกับราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ศักยภาพของราชยานยนต์สมาคม (ร.ย.ส.ท.) ซึ่งก่อตั้งมา 70 ปีอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นนายกกิตติมศักดิ์ เป็นสมาคมที่รู้จักกันทั่วโลก และคำว่า ROYAL AUTOMOBILE ต้องเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ มีอยู่สิบกว่าประเทศทั่วโลก มีศักดิ์ศรี และประกวดแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ไม่น้อยหน้า จุดประกายให้งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ณ สวนอัมพร เป็นที่ยอมรับของผู้ชมและบริษัทรถยนต์ อุปกรณ์อื่นๆ กว่าเราจะทำให้ฝรั่งหรือญี่ปุ่น ไว้เนื้อเชื่อใจได้ งานต้องเข้ามาตรฐานสากล ผมบอกจริงๆดีกว่าคนไทยเยอะ คนไทยมักจะอิจฉา คอยจ้องฉกฉวยเอาหน้าฝรั่ง ญี่ปุ่นนี่สเป็กเขาออกมาอย่างนี้ เขารู้กฎกติกา
ฉะนั้นตอนเกิดวิกฤตการณ์ล่มสลายเป็นโอกาสดีของผมด้วย คือผมสามารถเซ็นคอนแทร็กกับฝรั่งกับญี่ปุ่นได้โดยตรงเลย แล้วพวกนี้รู้ว่าผมเป็นอย่างไร งานผมเป็นยังไง ทำอะไรอยู่ ทุกคนยอมรับเราและเราเดินทางได้ทั่วโลก เอกสารเราส่งไปทั่วโลก ถามจริงๆว่ามีองค์กรที่มารองรับ ISO 9002 ต้องทำให้ได้ มันต้องมี อย่างการแข่งรถทุกประเทศ จะแข่งฟอร์มูล่าวัน แข่งอะไรก็ตาม แม้กระทั่งประเทศไทยเราที่มีสนามกีฬาแข่งรถ ก็เป็นสมาพันธ์รถยนต์โลก (F.I.A.) อยู่ที่ฝรั่งเศส เราต้องเป็นเมมเบอร์เขา ใช้กฎกติกาของเขา งานมอเตอร์โชว์ก็เหมือนกัน แต่เราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขา เราทำขึ้นมาได้ ดีเหนือจากที่เขาคิด คนไทยก็ทำได้”
ถ้าสังเกตจากคำพูดหลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายประโยค จะเห็นได้ประการหนึ่ง ปราจินมีเลือดชาตินิยมเข้มขันไม่น้อย
“ผมเชิญนายกฯ ชวน มาดูงานมอเตอร์โชว์ของผม แล้วจะได้ไปคุยกับมหาธีร์ได้ ของเขามีเสาธงสูงที่สุดในโลก เมืองไทยมีอะไร มีแต่วัตถุโบราณที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสร้างให้ ผมบอกว่ามาดูงานมอเตอร์โชว์ของไทยแล้ว ไปคุยกับมหาธีร์ได้ว่างานมอเตอร์โชว์ของฉันใหญ่กว่า มีผู้เข้าชมจำนวนล้านคน ใหญ่ที่สุดในเซาธ์อีสต์เอเชีย
ผมเพิ่งไปมาเลย์มา ที่นั่นอายเรา สถานที่จัดงานด้วย แล้วเรานำหน้าและเผยแพร่ให้ดูทั่วโลก บอกว่าของเราไม่ได้น้อยหน้าใคร อีกอย่างพิธีเปิดของเราใหญ่โตมาก ประธานบริษัททั้ง 30 บริษัทมายืนยันเข้าแถวเปิดพร้อมกัน ทั้งญี่ปุ่นทั้งฝรั่ง และท่านทูตประเทศที่ประกอบรถในบ้านเราให้เกียรติมาทำพิธีเปิด ที่ทำได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ สู้กับเมืองนอก สู้กับฝรั่ง ทำให้เขาเห็น ทำให้เขาเชื่อใจเรา ทุกอย่างที่เราทำเกรดเอหมดทุกอย่าง เขาได้เห็นลักษณะงานของเราเขาก็กล้าเข้าเข้ามาลงทุน เฉพาะค่าก่อสร้างก็ 30 กว่าล้าน แต่ละยี่ห้อนะ ของเราเทียบกับต่างประเทศได้หมด
ในเอเชียอาคเนย์เขาให้เราเป็นอันดับหนึ่ง เกาหลีก็สู้เราไม่ได้ ออสเตรเลียก็สู้เราไม่ได้ รวมทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง เรารองจากญี่ปุ่นอย่างเดียว เขาให้ความสำคัญกับรถต่างประเทศ ให้งบประมาณขนาดนั้น ความเชื่อถือ ทำให้เขาส่งรถรุ่นใหม่ๆ ดีๆ เข้ามาแสดง เราต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปเจอกับหน่วยงานที่เขาดูแลงานมอเตอร์โชว์ทั่วโลก ได้เชิญนักข่าวจากทั่วโลก อาทิ ยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี ไต้หวัน ฟิลิป-ปินส์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ตั๋วเครื่องบิน โรงแรมฟรี 3 คืน สำแดงให้เขาเห็นว่าประเทศไทยจัดงานได้ขนาดนี้นะ เราพร้อม และได้รับความเชื่อถือหมด เราจัดทุกปี และบอกหมดว่างานเราจัดได้ยอดเยี่ยม”
“ผมตั้งความหวังไว้ว่า ทำอย่างไรจะให้มอเตอร์โชว์ครั้งที่ 26 และครั้งต่อๆไป ผมต้องทำให้ยิ่งใหญ่”