xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยเมอร์เซเดส-เบนซ์ : ยุคธนบุรีพานิช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลากว่า 60 ปี ที่ชื่อเสียงของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ คุณภาพเยี่ยมจากประเทศเยอรมนีเข้ามาครองตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์นับเป็นสุดยอดยนตรกรรมระดับแนวหน้า ที่หลายคนต่างยอมรับในคุณค่าและความปลอดภัย สมรรถนะที่แข็งแกร่ง คงทน รูปลักษณ์อันสวยงามเป็นอมตะที่ทรงคุณค่า สมเป็นยนตรกรรมที่ใครต่างปรารถนาต้องการได้มาครอบครอง

ตำนานการเดินทางอันยาวนานของสัญลักษณ์ดาวสามแฉกที่เข้ามาส่องแสงระยิบระยับในเมืองไทย ได้ถูกบันทึกขึ้นจากครอบครัวคนไทยตระกูล “วิริยะพันธุ์” เมื่อ “บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด” กำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2484 ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง บริหารงานโดยคุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ได้นำสินค้าคุณภาพดีจากทางยุโรปและอเมริกาเข้ามาจำหน่าย อาทิ เครื่องรับส่งวิทยุเทเลฟุงเก้น ตู้เย็นเทเลฟุงเก้น และรถยนต์ยี่ห้อต่าง ๆ โดยมีรถเรโนลด์เป็นตัวนำ ตามมาด้วยรถไครสเลอร์ แน็ช ดิโซโต้ และเมอร์เซเดส-เบนซ์

รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในยุคแรกที่นำเข้ามาในรูปแบบของรถเพื่อการพาณิชย์กล่าวคือเป็นรถบรรทุก ที่ใช้ในหน่วยงานและกิจการทหารหรือการขนส่ง ซึ่งตลาดรถบรรทุกในขณะนั้นส่วนมากเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและมีแต่เครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ จึงได้นำเครื่องยนต์ดีเซลเมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้ามาใส่แทนที่ทำให้ประหยัดและทนทานกว่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยได้รู้จักรถบรรทุกและรถโดยสารยี่ห้อ “เมอร์เซเดส-เบนซ์”

เมื่อตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เป็นที่รู้จักอย่างดี คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ จึงเล็งเห็นว่าสมควรที่จะเริ่มตลาดรถยนต์นั่งให้เป็นที่รู้จักในไทยด้วย อีกทั้งในช่วงนั้นรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังไม่มีผู้ใดจัดจำหน่ายในประเทศไทย จึงเริ่มติดต่อโดยตรงกับทางบริษัทเดมเลอร์-เบนซ์ เอจี ประเทศเยอรมนี (ชื่อบริษัทในขณะนั้น) เพื่อขอเป็นเอเย่นต์จำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการในประเทศไทย และได้รับสิทธิในการจัดจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2500

รถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่นแรกที่นำเข้ามาคือ Mercedes-Benz 170 V โดยเริ่มจากชุดแรกเพียง 4 คันเท่านั้น โดยมีโชว์รูมแห่งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กิจการของธนบุรีพานิชเริ่มขยับขยายทั้งยอดขายและพนักงานเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว พร้อมกับคนไทยเริ่มรู้จักและยอมรับในคุณภาพของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งรถเก๋งและรถบรรทุกเรื่อยมา จึงได้มีการขยายเปิดตัวแทนจำหน่ายและโชว์รูมมากขึ้น เช่นห้างยนต์วิชัย หรือลำปางชัย ซึ่งนับเป็นตัวแทนจำหน่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ของธนบุรีพานิชในยุคแรก ๆ

เมื่อรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อดำเนินกิจการการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทย ซึ่งในชั้นแรกมุ่งหมายประกอบรถบรรทุกและรถโดยสาร โดยในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มมีการประกอบรถบรรทุกและรถโดยสารให้กับบริษัทนายเลิศ (รถเมล์ขาว) รวมทั้งประกอบรถตู้ขนาด 12 ที่นั่งแบบ L319

ในปี พ.ศ. 2521 มีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโรงแรกขึ้น และสามารถเริ่มทำการประกอบรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ W123 ซีดาน รุ่น 230 และ 250 ในปีถัดมา และในปี พ.ศ. 2528 เริ่มประกอบรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ W124 ซีดาน รุ่น 230E, 300E และรถหรู S320, S280


ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ตอนประกอบตัวถัง การพ่นสี การประกอบรถยนต์ การประกอบชิ้นส่วนภายในและภายนอก จนถึงการตรวจสอบสมรรถนะของรถยนต์ จะได้รับความควบคุมอย่างใกล้ชิดจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทเดมเลอร์-เบนซ์ ประเทศเยอรมนี เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าจะได้รับรถโดยมีสมรรถนะทุกอย่างในมาตรฐานเดียวกันกับรถยนต์ที่ประกอบในประเทศเยอรมนีและโรงงานผลิตอื่น ๆ ทุกแห่งทั่วโลก

ด้วยรูปลักษณ์และคุณภาพของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยต่อผู้โดยสารและผู้ขับขี่ ชื่อเสียงของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์จึงเป็นที่ยอมรับในวงการอย่างกว้างขวาง จึงมีการมีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์นั่งโรงใหม่ขึ้น ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่โดยรวมถึง 140,800 ตารางเมตร และสามารถขยายกำลังผลิตรถยนต์นั่งได้ถึง 14,000 คัน ต่อปี ทำให้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นแนวหน้าว่าเป็นโรงงานที่มีคุณภาพและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ณ วันนี้ ธนบุรีพานิช เปลี่ยนสถานะภาพจากตัวแทนจำหน่ายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในไทย เหลือเพียงแค่ดีลเลอร์รายหนึ่ง เนื่องจากบริษัทแม่คือเดมเลอร์ไครสเลอร์ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ด้วยตนเอง ภายใต้ชื่อ บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น