ปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 100 ปี ของการนำเข้ามาของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย ซึ่งนายคาร์ล-ไฮนซ์ เฮคเฮาเซ่น ประธานบริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีนโยบายที่จะจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น โดยจะเริ่มจากการจัดนิทรรศการรถเมอร์เซเดส-เบนซ์คลาสสิก ซึ่งนำมาจากพิพิธภัณฑ์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศเยอรมนีจำนวน 6 คัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในไทย ในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 26 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนหน้า
แน่นอนภาพรถคลาสสิกทั้ง 6 คัน ทีมงานจะติดตามมานำเสนอในคราวหน้า แต่ครั้งนี้ขอนำประวัติศาสตร์ของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศมาให้มิตรรักแฟนเพลงของดาวสามแฉกได้ทราบถึงความเป็นมาของรถในดวงใจของท่านก่อน โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ไป สำหรับตอนแรกขอเริ่มที่รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ คันแรกที่เข้ามาในเมืองไทย
รถเมอร์เซเดส-เบนซ์คันแรกในประเทศสยาม
จากประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อกับฝรั่งชาวตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรุ่งเรื่องมากขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเจริญเติบโตในหลายด้าน อิทธิพลตะวันตกเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เช่นการก่อสร้างบ้านเรือน ตึกอาคารต่าง ๆ รวมที่ไทยได้อิทธิพลจากตะวันตกมาก รวมถึงระบบการคมนาคมด้วย ซึ่งในสมัยแรกนั้นใช้เดินทางโดยทางน้ำ จึงโปรดให้มีการขุดคูคลองขึ้นมากมายในเขตพระนครเพื่อสะดวกการไปมาหาสู่กัน
จากนั้นเริ่มมีการใช้รถลาก รถม้า จึงเริ่มมีการสร้างทางและตัดถนนมากขึ้น เช่นถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนฟื่องนคร เป็นต้น พร้อม ๆ กับพัฒนาการเหล่านี้ มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากบันทึกห้องสมุดที่รวบรวมประวัติศาสตร์เก่าแก่ของ Mercedes-Benz Classic Center ณ เมืองสตุ๊ตการ์ด ประเทศเยอรมนี พบว่า มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์คันแรกจากสถานทูตไทยกรุงปารีส (Ambassador of Siam in Paris, Avenue de Eglau from the “Automobile-Union Paris”, 39. Avenue des Champs Elysees) ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรถได้ถูกส่งมาถึงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1904 (พ.ศ.2447) รถรุ่นที่สั่งมานั้นเป็นมีข้อมูลดังนี้
- รุ่น 28 hp 4 สูบ สวมเครื่องยนต์ขนาด 35 hp
- แคซซีขนาด 2,600 มม
- แคซซีเลขที่ 2397
- มอเตอร์เลขที่ 4290
โดยรถรุ่นนี้สร้างและผลิตโดยก๊อตลีบ เดมเลอร์ (Gottlieb Daimler) ผู้ประดิษฐ์รถชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง โดยรถล๊อตนี้เป็นรถรุ่นที่มีนักธุรกิจผู้ร่ำรวยในสมัยนั้นชื่อ เอมิล เยลลิเน็ก (Emil Jellinek) เป็นผู้จัดจำหน่าย
รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในสมัยนั้นถือเป็นความแปลกใหม่ในหมู่ราชสำนัก เป็นความสมัยใหม่ที่ไม่ต้องใช้ม้าลากอีกต่อไป จากข้อมูลเรื่องรถยนต์กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องวิวัฒนาการยานพาหนะทางบกของไทย กล่าวไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ประทับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์เป็นรถยนต์พระที่นั่งประพาสไปยังที่ต่าง ๆ ในยามว่างพระราชกรณียกิจ และในงานรัฐพิธี ด้วยทรงเห็นว่าสะดวกสบายกว่ารถม้าพระที่นั่งมาก ถือเป็นรถพระที่นั่งหลวงคันแรกในประวัติศาสตร์ไทยทีเดียว
ในปีต่อมาได้มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาอีกเป็นรุ่น 28 hp ผลิตปีค.ศ. 1905 (พ.ศ.2448) และสีแดง ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ์” ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากห้องสมุด Mercedes-Benz Classic Center ประเทศเยอรมนีตรงกันกับที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้
ถือเป็นก้าวสำคัญของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ได้มีโอกาสรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 5 หมู่ราชสำนักไทย และข้าราชการไทยชั้นสูงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) เอื้อเฟื้อข้อมูล