โครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle ) มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทของ “โตโยต้า” กล่าวได้ว่าเป็นโครงการผลิตรถยนต์แรกในไทย ที่เป็นรูปธรรมและจริงแท้มากที่สุด ในการพัฒนารถยนต์จากพื้นฐานเดียวกัน แตกย่อยออกมาเป็นรถหลายประเภท ซึ่งจะพบเห็นในต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่
“โตโยต้า อินโนวา” เป็นโมเดลที่สองของโตโยต้า ภายใต้โครงการ IMV ที่เปิดตัวทำตลาดในไทย หลังจากรถธงตัวแรกปิกอัพ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ได้บุกตลาดไทยไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์กันพอสมควร
อย่างไรก็ตาม แม้อินโนวาจะมาจากพื้นฐานเดียวกัน แต่ได้มีการพัฒนาให้กลายเป็นรถอเนกประสงค์ประเภทเอ็มพีวี (Multi-Purpose Vehicle : MPV) ขณะที่รถยนต์ในโครงการ IMV อีกรุ่น “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” ที่เปิดตัวออกมาพร้อมๆ กัน แต่ยังไม่ทำตลาดอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะถึงกลางมกราคมปี 2548 ได้แตกหน่อออกไปเป็นรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวี (Sport Utility Vehicle)
ดังนั้นรถยนต์ภายใต้โครงการ IMV ของโตโยต้า แม้จะมาจากพื้นฐานของปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ แต่ได้แตกหน่อแยกออกไปเป็นรถยนต์ถึง 3 ประเภท แยกย้ายกันจับลูกค้าถึง 3 กลุ่ม
นอกจากนี้ “โตโยต้า อินโนวา” แม้จะอยู่ภายใต้โครงการ IMV แต่ใช้ฐานการประกอบที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยไทยเป็นฐานในการหาชิ้นส่วนป้อนให้ ส่วนปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ และฟอร์จูนเนอร์ โตโยต้าใช้ไทยเป็นฐานการประกอบโดยตรง ที่สำคัญอินโดนีเซียได้เปิดตัวรถยนต์นี้ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้มีความพร้อมอยู่แล้วในการนำเข้ามาไทย แตกต่างจากฟอร์จูนเนอร์ที่โตโยต้าไทยต้องทุ่มให้กับตัวธง ปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ ก่อนอยู่แล้ว
เหตุนี้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย หลังจากรุกปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ จึงถึงคราวเปิดให้สื่อมวลชนได้ทดสอบ “โตโยต้า อินโนวา” ต่อทันที หากมองจากรูปแบบและลักษณะการใช้งานกว้างๆ แล้ว หลายๆ คนรวมทั้งสื่อมวลชน เป็นต้องตั้งคำถามกับโตโยต้าว่า....... “อินโนวา” กับ “วิช” มันมีความแตกต่างกันตรงไหน? แถมราคายังชนกันแบบเต็มๆ อีกต่างหาก
หากตอบเองตามข้อมูลเท่าที่เห็น คงต้องบอกว่า..... มันแตกต่างที่พื้นฐานของรถยนต์ทั้งสองรุ่น ที่ “วิช” มาจากพื้นฐานของรถยนต์นั่ง “อินโนวา” มาจากพื้นฐานของปิกอัพ และมีเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซลเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกทาง
แต่ในส่วนของโตโยต้า โดย “วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งดูแลสายงานด้านการตลาด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้อธิบายความแตกต่างของรถทั้งสองรุ่นว่า......“อินโนวาเป็นรถอเนกประสงค์สำหรับครอบครัว หรือกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องการใช้งานรถหลากหลาย มีจุดเด่นอยู่ที่การขับขี่ลื่นไหล ห้องโดยสารกว้างขวางสะดวกสบาย สามารถปรับเปลี่ยนห้องโดยสารได้อย่างง่ายดาย พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลากหลาย ขณะที่วิชเป็นรถอเนกประสงค์ที่เน้นอารมณ์สปอร์ต กลุ่มลูกค้าจะเป็นคนหนุ่มสาววัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นรถทั้งสองรุ่นจะมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันชัดเจน”
เหตุนี้ โตโยต้า อินโนวา จึงเน้นที่ความเป็นรถอเนกประสงค์สำหรับครอบครัว หรือเป็นรถคันที่ 2 หรือ 3 มากกว่า การออกแบบอินโนวาจึงได้ใส่ใจกับความกว้างขวางภายใน ที่ดูโปร่งโล่งสบาย มีพื้นที่ใช้สอยในปริมาณที่มากเกินพอ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับวางขา หรือเพดานเหนือศีรษะ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนเบาะนั่งได้มากถึง 10 แบบ
จากความตั้งใจเน้นพื้นที่ใช้สอย และความกว้างขวางของห้องโดยสาร ทำให้ดูเหมือนว่าโตโยต้าได้ออกแบบเบาะนั่งสั้นไป พื้นที่สำหรับการวางขารู้สึกจะสั้นและแคบ ทั้งที่ทีม “ผู้จัดการ มอเตอริ่ง” มีรูปร่างที่ออกไปทางตัวเล็กมากเสียด้วย ดังนั้นระหว่างเดินทางทดสอบช่วงท้ายๆ รู้สึกเมื่อยขาพอสมควร และหากต้องเดินทางไกล ๆ แล้ว น่าจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้ามากทีเดียว
แม้จะมีข้อเสียบ้าง แต่หากดูโดยรวมแล้ว อินโนวาก็ทำให้เกิดความประทับใจได้เช่นกัน โดยเฉพาะระบบปรับอากาศอัตโนมัติที่มีช่องกระจายความเย็นแยกอิสระ 3 แถว พร้อมสวิตช์ควบคุมการทำงานแยกอิสระต่อกัน รวมไปถึงระบบเครื่องเสียงที่เป็นแบบ MP 3 พร้อมลำโพง 6 ตัว ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนขับด้วยสวิตช์บนพวงมาลัย
ในส่วนของพลังขับเคลื่อน อินโนวาพกพาเครื่องยนต์มาให้ลูกค้าเลือก 2 แบบ คือ ดีเซลคอมมอนเรลเทอร์โบ 2,500 ซีซี. กำลังสูงสุด 102 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที ซึ่งวางอยู่ในปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ และอีกรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน รหัส TR1 ขนาด 2,000 ซีซี. VVT-i DOHC 16 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า ที่ 5,600 รอบ/นาที ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เบนซินตัวใหม่ ที่โตโยต้าพัฒนาขึ้นมาสำหรับรถเพื่อการพาณิชย์โดยเฉพาะ ดังนั้นอารมณ์การขับขี่จึงมีความแตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซิน ที่วางอยู่ในรถยนต์นั่งพอสมควร
เครื่องยนต์ดีเซล D4D คอมมอนเรล 2,5000 ซีซี. 102 แรงม้า และเบนซิน TR1 2,000 ซีซี. 136 แรงม้า ดูเหมือนว่าจะแบกน้ำหนักตัวรถไปนิด ทำให้การตอบสนองการขับขี่ไม่ค่อยได้ดังใจนัก ยามใดที่ต้องการการเร่งแซง อาจจะต้องมีการเข่นกันบ้างนิดหน่อย พร้อมๆ กับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ ที่ดังกระหึ่มเข้ามายังห้องโดยสาร แต่เมื่อรถได้ออกตัวไปแล้วก็มีความลื่นไหลที่ดีพอสมควร
สำหรับอินโนวาแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องจะกดคันเร่งเพลิน เนื่องจากความมั่นใจในการขับขี่อาจจะลดน้อยลงไป ในช่วงความเร็วสูงๆ เพราะจะเกิดอาการโยนตัวของรถพอสมควร หากไม่ได้กินดีหมีหัวใจเสือมา น่าจะถอนคันเร่งออกมาโดยอัตโนมัติ แม้จะยังสามารถบังคับควบคุมพวงมาลัยได้ดั่งใจก็ตาม แต่หากใช้ความเร็วในระดับไม่เกิน 110-120 กม./ชม. อินโนวาเป็นรถอีกคันที่สามารถตอบสนองการเดินทางได้เป็นอย่างดี และการปรับเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติมีความนุ่มนวลดี
สรุปได้ว่า......หากคุณเป็นคนที่ไม่ขับรถเร็ว และชอบการเดินทางในแบบครอบครัว ด้วยความสะดวกสบาย และระบบความปลอดภัยที่มีมาให้พร้อม แถมรูปลักษณ์ทันสมัยสวยงาม “โตโยต้า อินโนวา” ซึ่งมีสนนราคาเริ่มต้นที่ 1,039,000 - 1,169,000 บาท ถือว่าไม่แพงจนเกินไป และน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ควรพิจารณา