xs
xsm
sm
md
lg

E-PLUS เจ้าปัญหา วอนรัฐแจงความจริง : วรพล สิงห์เขียวพงษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ E-PLUS จะถูกสั่งระงับจากกระทรวงวิทย์ฯ ให้ตรวจสอบว่าดีจริงหรือไม่ ต่อมาทดสอบแล้วไม่ได้ผลดีเลย แต่เงียบและไม่แถลงข่าว เพราะกลัวหน้าแตกในหลายฝ่าย แต่เรื่องนี้ทำเงียบเฉยแบบเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะจะทำให้คนที่ยังเชื่อ หันไปซื้อกับเอกชนที่ผลิตอุปกรณ์คล้ายกัน หลอกเงินคนไทยวันละหลายแสนบาท เดือนละหลายล้าน ! ....................อ่านบทความเรื่อง E-PLUS อีกครั้ง และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ถ้า ว.ว. ยังเงียบและมีคนไทยหลอกกันเองในเรื่องนี้อยู่

++สรุปความเดิม สำหรับคนที่เพิ่งอ่าน++

E-PLUS เป็นอุปกรณ์ที่อ้างว่าช่วยให้เครื่องในรถประหยัดน้ำมันได้หลาย %หรือกว่าสิบ % โดยผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย-ว.ว.ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ อ้างว่า ว.ว. พัฒนาเอง และทดสอบนาน 9 ปี คนไทยเห็นว่าเป็นผลงานที่ราชการรับรอง และมีคนระดับบริหารประเทศเชียร์ด้วย จึงแห่กันไปจองนับหมื่นเครื่อง

หลักการทำงาน คือ ใช้ไฟ 12 โวลต์จากรถ แปลงเป็นกระแสไฟหมื่นกว่าโวลต์ จ่อปลายสายไฟที่ปอกจนไส้ลวดโผล่ แหย่เข้าไปหน้าลิ้นปีกผีเสื้อของเครื่อง สร้างประกายไฟ โดยอ้างว่าจะแปลงออกไซด์ในอากาศให้เป็นออกซิเจน เมื่อเครื่องได้รับออกซิเจนมากขึ้นก็เกิดสารพัดผลดี เช่น ประหยัดขึ้น แรงขึ้น ฯลฯ

ผ่านไปเดือนเศษเรื่องแดง คณะกรรมการบริหารของว.ว. ออกมาบอกว่า E-PLUS ไม่ได้เป็นผลงานของ ว.ว. และยังไม่ได้มีการทดสอบผลดีอย่างละเอียด รัฐมนตรีสั่งระงับ และให้ตรวจสอบโดยองค์กรกลางเมื่อปลายเดือนมิย. และส่งทดสอบที่สถาบันวิจัยของปตท. ช่วงวันที่ 10 กว่าๆ กค. แล้วพบว่า ไม่มีผลดีใดๆ เลย แต่ว.ว. ก็เงียบมาเดือนเศษจนถึงตอนนี้ นัยว่าไม่ต้องการให้หลายฝ่ายหน้าแตกจากที่เคยเชียร์ ปล่อยให้เรื่องเงียบตามสไตล์ราชการไทย ที่เมื่อจะหน้าแตกในด้านใดๆ ก็ปล่อยเงียบกันไป และมักไม่มีใครโวย

++ทำไมวรพลกัดไม่ปล่อย เสียผลประโยชน์เหรอ ?++

ผมไม่ได้รู้จักกับใครที่เกี่ยวข้องกับ E-PLUS หรือเอกชนที่ผลิตสินค้าคล้ายกัน และในบทความเก่าๆ ผมแนะนำชัดเจนว่า เมื่อคนไทยคิดอะไรใหม่ๆ ได้ อย่ารีบดูถูกคนไทยด้วยกันว่า ถ้าดีจริง ทำไมฝรั่งหรือญี่ปุ่นไม่คิดได้ก่อน ผมไม่พึงพอใจอย่างมากกับประโยคนั้น แต่ก็ไม่พอใจมากกว่าที่เห็นคนไทยหลอกคนไทยด้วยกัน

ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่เกี่ยวกับ E-PLUS เพราะหยุดขายไปแล้ว และคงคืนเงินได้ แต่อยู่ที่อนาคตและความเงียบที่จะส่งผลให้เอกชนสามารถหลอกขายสินค้าประเภทเดียวกันได้วันละหลายแสนบาท และขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเงียบ บางคนก็อาจหาว่า ผมรับเงินให้ปิดปากแล้วจึงเงียบ โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

++ทำไมไม่ด่าสินค้าอื่นจนกระจายแบบนี้บ้าง++

สินค้าอื่นก็ยังมีข้อดีจริงในด้านต่างๆ คละกับข้อด้อย เช่น รถแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ก็ไม่ได้ใช้กระดาษทำตัวถัง ขับได้เหมือนกัน ใช้งานได้ดีสมกับเป็นรถ สินค้าอื่นก็ใช้ได้ดีมากบ้างน้อยบ้าง อีกตัวอย่างกับน้ำยาเคลือบสี บางยี่ห้อลื่นได้สัปดาห์เดียว บางยี่ห้อเดือนหนึ่ง บางยี่ห้อสองสามเดือนยังลื่น ก็ใช้งานได้ และมีราคาที่แตกต่างกัน

สินค้าอื่น มีดีมีด้อยคละกันในตัวเอง ใครๆ ก็ทำใจยอมรับได้ ไม่ถึงกับหลอกลวงเต็มตัวแบบ E-PLUS หริออุปกรณ์ประเภทเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ กับเพชร การขายเพชรแท้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องน้ำงามสุดๆ เสมอไป จะมีน้ำสีอมเหลืองข้างหรือมีตำหนิบ้างก็เป็นปกติของโลกการค้า   หากคุณมีความรู้เรื่องเพชร มีคนกำลังหลอกขายเพชรปลอม หากคุณดูเป็นและทราบว่าปลอม พร้อมกับมีโอกาสบอกคนอื่น คุณจะอยู่เฉยไหม

++อ้างว่าแปลงออกไซด์เป็นออกซิเจน แต่ออกไซด์ในอากาศมีแค่ 0.033 % กว่า++

ประเด็นสำคัญ คือ อ้างว่าแปลงออกไซด์หลายตัวในอากาศให้เป็นออกซิเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการยึดเกาะของโมเลกุลในอากาศปกติ และไม่ได้สร้างออกซิเจนใหม่ ก๊าซที่มีโอกาสแปลงเป็นออกซิเจนได้มีสัดส่วนน้อยมากๆ อากาศทั่วไปมีส่วนผสมของ ไนโตรเจน 78.08 เปอร์เซ็นต์, ออกซิเจน 20.95 เปอร์เซ็นต์, อาร์กอน 0.93 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซเสียตัวสำคัญที่คุ้นเชื่อ คือคาร์บอนไดออกไซด์ 0.033 เปอร์เซ็นต์

นอกนั้นมีเป็นหน่วยต่อล้านส่วน (เน้นว่า-ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์) นีออน 18.2, ฮีเลียม 5.2, คริปตัน 1.1, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 1, มีเทน 2.0, ไฮโดรเจน 0.5, ไนตรัสออกไซด์ 0.5, ซีนอน 0.09, โอโซน 0.07,ไนโตรเจนออกไซด์ 0.02, ไอโอดีน 0.01, คาร์บอนมอนนอกไซด์ แอมโมเนีย และอื่นๆ รวมกันน้อยมากๆ มีก๊าซไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ E-PLUS จะแปลงเป็นออกซิเจนได้ สมมุติแปลงได้ทุกตัวจริงๆ รวมกันแล้วยังไม่ถึง 0.035 เปอร์เซ็นต์

จากปกติมีออกซิเจน 20.95 สมมุติแปลงเพิ่มได้ก็ป้วนเปี้ยนเกือบ 21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อากาศปกติถึงจะสกปรก แต่ก็มีสัดส่วนประมาณนี้ และมักจะเป็นฝุ่นหรือสารแขวนลอยที่ไม่เกี่ยวกับออกซิเจน

แล้วจะแปลงได้ทั้งหมดหรือ ? เพราะเป็นแค่กระแสไฟแรงสูงฟู่เล็กๆ และอากาศที่ไหลเข้าเครื่องยนต์ก็ไม่ได้แผ่วๆ แบบเครื่องปรับอากาศ แต่ทั้งมาก เร็ว และแรง และก๊าซอื่นๆ ทุกตัวก็ไม่ได้มีโอกาสแปลงเป็นออกซิเจนได้ทั้งหมด มีหลักๆ ก็แค่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในโตรเจนออกไซด์ที่มีไม่ถึง 1.5 ส่วนในอากาศทั้งหมดล้านส่วน ถ้ารวมคาร์บอนไดออกไซด์ก็มีอีกแค่ 0.033 เปอร์เซ็นต์

++เรื่องนี้คนที่เรียนเคมี ไม่ต้องระดับดอกเตอร์ก็ต้องเข้าใจว่า...โม้ !++

3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. แค่ประกายไฟจะแปลงออกไซด์เป็นออกซิเจนได้เหรอ ไม่มีทฤษฎีใดรองรับ 2. ปริมาณน้อย ถ้าแปลงได้จริงก็มีออกไซด์รอให้แปลงในอากาศทั้งหมดแค่ 0.033 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้น 3. อากาศที่ไหลเข้าเครื่องเร็วและมาก ถ้าแปลงได้ ก็แปลงได้ไม่ทัน

วงจรจริงๆ ก็เหมือนคอยล์จุดระเบิดทั่วไป มีขดลวดเตรียมสร้างการแสไฟฟ้าหมื่นกว่าโวลต์ มีวงจรตัด-ต่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าเป็นประกายสลับกันถี่ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน มีวงจรขายที่บ้านหม้อ-คลองหลอด และมีวงจรให้ดาวน์โหลดในอินเตอร์เนตทั่วไป แค่แปลงจาก 12VDC แปลงเป็น 12000V ไม่ยุ่งยากและไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ถ้าจดได้ก็แค่ในไทยที่ตรวจสอบแค่ไม่มีใครจดก่อนก็จดใหม่ได้ ถ้าได้ผลจริง ใครจะทำเลียนแบบก็ได้ ด้วยต้นทุนไม่เกิน 500 บาท

++ถ้าดีจริง บริษัทรถทำไมไม่ติดต่อซื้อ++

ประเด็นนี้ช่วยสนับสนุนว่าไม่ได้ผล เพราะทุก 0.1 กิโลเมตรต่อลิตรที่จะเพิ่มขึ้น ทีมวิศวกรในหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของบ.รถต่างๆล้วนทำงานกันอย่างหนักและเสียเงินนับสิบนับร้อยล้านบาท ถ้ามีอุปกรณ์ใดที่จะช่วยให้เครื่องกินน้ำมันน้อยลง แม้แต่จะทำระยะเพิ่มสัก 0.1-0.2 กิโลเมตรต่อลิตร (คิดเป็นแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) บริษัทรถจะถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ จะรีบสั่งซื้อมาใส่แน่ๆ จากราคาตัวละ 3,500 บาท

หากซื้อเดือนละหลายพันตัว ราคาขายส่งคงเหลือไม่ถึง 2,000 บาท แต่บริษัทรถไม่เคยสนใจจะซื้อ ทั้งที่เคยแอบซื้อไปทดสอบแล้ว และผู้ขายสินค้าตัวนี้ ไม่เคยเสนอขายให้บริษัทรถสำเร็จเลย ทั้งที่ถ้าขายได้ จะได้เงินเร็วและมากกว่าขายปลีก

ถ้าดีจริง ทำไมบริษัทรถไม่ขอซื้อ เป็นเรื่องจริง ถ้าดีจริงบริษัทรถไม่นิ่งแน่ แต่นี่...นิ่ง ก็แสดงว่าไร้ผล ประโยคนี้ไม่ใช่การดูถูกคนไทย ตามที่หลายคนชอบพูดกันว่า ถ้าทำได้ผลจริง ทำไมบริษัทรถไม่คิดได้ก่อน

++การทดสอบมาตรฐาน แต่เมื่อไม่ได้ผล คนขายจะแย้ง++

สถาบันวิจัยของ ปตท. ที่วว. ส่ง E-PLUS ไปทดสอบ มีทั้งเอนจินไดนาโมมิเตอร์ และแชชซีส์ไดนาโมมิเตอร์ มีการควบคุมตัวแปร ให้เหลือน้อยที่สุด ค่าใช้จ่ายนับแสนบาทต่อครั้ง ผลการทดสอบออกมาแล้วว่า ไม่ได้ผลดีในด้านใดๆ แต่คนที่จะเปิดเผยอย่างเป็นทางการได้คือ วว. หรือกระทรวงวิทย์ฯ

นิตยสารรถชื่อ ฟอร์มูลา ทดสอบทั้งแชชซีส์ไดโน และบนถนนจริงด้วยความเร็วคงที่ มีกระบอกน้ำมันแยก ผลออกมา ไม่ได้ผลแม้แต่น้อย ประเด็นสำคัญ คือ ในฝ่ายที่ผลิตขาย เมื่อเห็นผลการทดสอบ ก็มักจะพยายามหาข้อโต้แย้งว่า สถาบันและเครื่องมือทดสอบ ไม่แม่นยำจริง หรือเกิดความคลาดเคลื่อนใดๆ เช่น ทดสอบด้วยรถ 1,600 ซีซี ก็จะบอกว่าทำไมไม่ทำกับรถ 2,000 ซีซี พอทดสอบที่60 กม./ชม. ก็จะแย้งว่าทำไมไม่ทดสอบที่ 90 กม./ชม.

ลองคิดในมุมกลับ ถ้าปตท. หรือคนกลางอื่น ทดสอบแล้วได้ผลออกมาดี คนขายก็จะรีบบอกว่า โอ้โห การทดสอบนี้แม่นยำจริงๆ เครื่องมือดีมาก น่าเชื่อถือ รีบทำสำเนากระจายไปทั่ว แต่เมื่อผลการทดสอบออกมาไม่ได้ผลดี ก็เลยติติงไปต่างๆ นานา พยายามหาข้อโต้แย้งและทดสอบซ้ำ ด้วยสารพัดวิธีจนกว่าจะได้ผลออกมาดีจริง ก็จะพยายามอ้างว่าการทดสอบครั้งนั้นได้มาตรฐาน สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าทดสอบด้วยวิธีหรือเครื่องมือใดแล้วไม่ได้ผลออกมาดีจริง ก็จะพยายามตีรวนว่าไม่ได้มาตรฐานจริง แต่ถ้าเมื่อไรได้ผลออกมาดีจริง ก็จะรีบชื่นชมว่าการทดสอบได้มาตรฐาน และป่าวประกาศไปทั่ว

++ทำไมใช้งานบนถนนแล้วประหยัดขึ้น++

ประเด็นนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนขายอุปกรณ์เหล่านี้ ดื้อที่จะขาย ทั้งที่ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทุกแห่งออกมาว่าไม่ได้ผล ไมได้ประหยัดเพราะอุปกรณ์นี้ แต่ประหยัดเพราะมีการเปลี่ยนลักษณะการขับโดยไม่รู้ตัว หรือเกิดความเพี้ยนด้านอื่น

ตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ ลักษณะ หรือบุคลิกการขับรถ ทุกคนสามารถขับรถให้ประหยัดหรือกินน้ำมันก็ได้ จากเดิมที่กดคันเร่งหนักๆ เบรกถี่ๆ กดคันเร่งเร็วๆ หากเปลี่ยนมาขับรถด้วยความนุ่มนวลตลอดเส้นทาง ก็มีโอกาสจะเพิ่มความประหยัดได้ถึง 10-30 เปอร์เซ็นต์ หากยังงง นึกเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า รถเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ในเส้นทางเดียวกัน สามารถขับให้กิน 7 หรือ 10 กิโลเมตรต่อลิตรก็ได้

คนที่ซื้ออุปกรณ์นี้ไปใช้ โดยพื้นฐานแล้วจะเป็นคนกลุ่มที่กลัวการจ่ายค่าน้ำมันอย่างมาก ก่อนติดตั้งกับการจับความสิ้นเปลืองมักเป็นไปอย่างคร่าวๆ แต่พอติดตั้งเข้าไปแล้วก็เริ่มจับอย่างละเอียดขึ้น ตัวเลขเดิมก็ไม่ทราบแน่ แต่ตัวเลขใหม่พอจะทราบ เมื่อเสียเงินติดตั้งแล้ว และนิสัยเป็นคนกลัวน้ำมันแพง บวกกับก่อนติดกับหลังติด น้ำมันมีราคาแพงขึ้น ก็เลยทำให้บุคลิกการขับรถเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อขับรถด้วยความนุ่มนวลขึ้น การจะประหยัดขึ้น 5 -15 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม นอกจากเปลี่ยนบุคลิกการขับรถ

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนผลิตหรือคนขายอุปกรณ์ลักษณะนี้ นำมาอ้างว่า ทำงานได้ผลจริง เพราะคนที่ใช้อยู่บอกว่าประหยัดจริงนอกจากนั้นบนถนนก็มีสารพัดตัวแปร แม้แต่อยู่บนเส้นทางเดิมๆ เช่น สภาพการจราจร แรงดันลมยาง ความร้อนและความชื้นของอากาศ ล้วนทำให้อัตราการกินน้ำมันเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีเหตุผลใดอ้างได้ว่า การทดลองบนแท่นไดโนฯ ไม่ได้ผล แต่บนถนนจริงแล้วจะได้ผล

เรื่องนี้ยังไม่จบ ถ้า วว. หรือกระทรวงวิทย์ ไม่ประกาศผลการทดสอบอย่างไม่กำกวม เพื่อไม่ให้เอกชนใช้ความเงียบไปหลอกขายสินค้าได้ต่อเนื่องไป วันละหลายแสนบาท ในสภาวะน้ำมันแพงอย่างนี้ คนไทยหลายคนจริงจังมากถ้าจะมีอะไรสร้างฝันว่าจะช่วยประหยัดน้ำมันได้

วรพล  สิงห์เขียวพงษ์


อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง

"E-PLUS"บทเรียนใหม่ คนไทยไม่คิดก่อนเชื่อ : วรพล สิงห์เขียวพงษ์

E-PLUS ประหยัดน้ำมัน งานวิจัยแหกตาระดับชาติ

“ฟอร์มูลา” ทดสอบอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน ดีจริง หรือ หลอกลวง ?!?

พิสูจน์ชัดอี-พลัสไม่ประหยัด ใครรับผิดชอบลูกค้าเสียเงิน?

E-PLUS แหกตาระดับชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น