จากข้อกังขาเกี่ยวกับอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน (E-Plus) จนทำให้เจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ และบอร์ดของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ต้องออกมาเบรกการติดตั้งอุปกรณ์อี-พลัสชั่วคราว เนื่องจากไม่ได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยและทดสอบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
นิตยสาร “ฟอร์มูล่า” ในฐานะสื่อมวลชนที่ทำงานด้านยานยนต์ จึงได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปทดสอบ เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของอี-พลัส และเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอีกช่องทางหนึ่งดังต่อไปนี้......
หลักการทำงานของอุปกรณ์อี-พลัส ผู้ผลิตอ้างว่า เพียงแค่จ่ายไฟขนาด 12 โวลท์ หรือ 24 โวลท์ (แล้วแต่ชนิดของรถยนต์) เลี้ยงวงจรอิเลคทรอนิคส์ และติดตั้งสายไฟ เข้าไปบริเวณท่ออากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์ อุปกรณ์ดังกล่าวจะผลิต อีเลคตรอน ออกมาทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เกิดกระบวนการแยกสารประกอบออกไซด์ในอากาศ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนมากขึ้น
เมื่อเครื่องยนต์ดูดอากาศที่ผ่านกระบวนการนี้เข้าไปเผาไหม้ จะได้ประสิทธิภาพที่ดีดังต่อไปนี้...... 1. ได้กำลังมากขึ้น 5% 2. เพิ่มอัตราเร่งได้ 10% 3. ลดควันดำลง 40% 4. ประหยัดน้ำมันลงในความเร็วที่เท่ากัน 15% 5. เครื่องยนต์สะอาดขึ้น 25% 6. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลง 25% 7. ลดมลภาวะในอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อม 8. รอบเครื่องยนต์ต่ำลง เครื่องเดินเรียบขึ้น
เมื่อเราได้เห็นข้อมูลแล้ว จึงเกิดข้อสงสัยหลายประการ เช่น ผลการทดสอบโดยสถาบันวิจัยระดับชาติ ทำไมจึงเป็นตัวเลขกลมๆ ไม่มีจุดทศนิยม ค่าต่างๆ ล้วนหารด้วยเลข 5 ลงตัวทั้งหมด ราวกับการเขียนขึ้นลอยๆ รวมทั้งไม่มีการชี้แจงอย่างโปร่งใสว่า ตัวเลขที่อ้างได้มาจากการทดสอบโดยวิธีใด มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ? รวมทั้งในบางหัวข้อ เช่น เครื่องยนต์สะอาดขึ้น 25% หรือประหยัดค่าใช่จ่ายในการบำรุงรักษา 25% ได้ตัวเลขเหล่านี้มาได้อย่างไร ? เนื่องจากสิ่งเหล่านี้วัดค่ายากเพราะการทดสอบเต็มไปด้วยตัวแปรมากมาย ผู้ทดสอบรู้ได้อย่างไรว่าผลดีที่อ้างนี้ เกิดจากอุปกรณ์ดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียว ผู้ทดสอบควบคุมตัวแปรต่างๆ ด้วยวิธีการใด?
และที่น่าสนใจคือ หากอุปกรณ์ไฟฟ้าง่ายๆ เช่นนี้ สามารถช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้มากตามคำกล่าวอ้างแล้ว เหตุใดบริษัทรถยนต์ทั่วโลกจึงไม่ติดตั้งอุปกรณ์นี้มาให้จากโรงงาน ตรงกันข้าม กลับต้องใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้านบาทกว่าจะคิดค้นวิธีประหยัดน้ำมันให้แก่เครื่องยนต์ได้เพียงเล็กน้อย
ส่วนข้อดีเรื่องเพิ่มกำลังและประหยัดน้ำมันนั้น "ฟอร์มูลา" ตัดสินใจดำเนินการทดสอบ ค้นหาความจริง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประชาชนที่ติดตั้งเครื่องมือชนิดนี้ไปแล้ว หรือผู้ที่กำลังคิดจะติดตั้ง รวมทั้งผู้ที่สนใจติดตามข่าวคราวต่างๆ
การทดสอบของเราแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การทดสอบหาสมรรถนะเครื่องยนต์ ก่อนและหลังใส่ อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน โดยใช้แท่นวัดกำลังเครื่องยนต์ หรือ ไดนาโม มิเตอร์ (DYNAMOMETER) ซึ่งมีหลักการทำงานโดยเครื่องจะวัดแรงบิดของเครื่องยนต์แล้วคูณด้วยความเร็วที่เครื่องยนต์หมุน จะได้ค่ากำลัง (แรงม้า) ของเครื่องยนต์ ซึ่งผลการคำนวณสามารถตอบข้อสงสัยเรื่อง กำลังและแรงบิด ทั้งก่อนและหลังใส่อุปกรณ์ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงว่าเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ? (ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่ากำลังเพิ่มขึ้นถึง 5%)
ในส่วนที่ 2 เป็นการวัดอัตราความสิ้นเปลืองก่อนและหลังใส่อุปกรณ์ ช่วยประหยัดน้ำมัน โดยการอุปกรณ์พิเศษที่สามารถวัดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยละเอียดมาวัดอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในขณะที่รถวิ่งที่ระดับความเร็วต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก่อนและหลังติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ว่าจะประหยัดได้ถึง 15 % รวมทั้งเพิ่มอัตราเร่งถึง 10% ตามที่อ้างไว้หรือไม่ ?
“ฟอร์มูลา” ได้เสนอผลการทดสอบเฉพาะส่วนแรกก่อน ส่วนที่ 2 จะเสนอในโอกาสต่อไป
การทดสอบส่วนแรก
รถยนต์ที่ใช้ทดสอบ มีทั้งเครื่อง เบนซิน และ ดีเซล เนื่องจากผู้ผลิตแจ้งว่าสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ทั้ง 2 แบบ ซึ่งผลการทดสอบหากำลัง แรงบิด ก่อนและหลังใส่อุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำมัน ได้ผลลัพธ์ดังกราฟที่แสดงต่อไปนี้
สรุป
กราฟแสดงกำลัง และแรงบิดที่ได้จากการทดสอบ ก่อน (เส้นทึบ)และหลังใส่อุปกรณ์ (เส้นประ) จับตัวอยู่ในแถบและย่านเดียวกันจนแทบจะแยกไม่ออก แสดงว่าประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเลย ส่วนปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของกราฟที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย ทั้งกำลัง และแรงบิด เกิดจาก อุณหภูมิเครื่องยนต์และประสิทธิภาพการหล่อลื่นของน้ำมันเครื่องขณะทำการทดสอบ รวมถึงความคลาดเคลื่อนของโรลเลอร์ กับ ยางรถยนต์ ณ เวลานั้นซึ่งมีค่าความคลาดเคลื่อนที่น้อยมาก
“เนื่องจากมีหลักสำคัญทางเทคนิคอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือหากอุปกรณ์ใด ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้จริงแล้ว เมื่อลิ้นคันเร่ง (ของเครื่องยนต์เบนซิน) เปิดเท่ากัน ไม่ว่าจะอ้าสุดหรือไม่ เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว จะต้องให้แรงบิดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเสมอ ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่สามารถช่วยอ้างอิงเป็นเปอร์เซนต์ที่แม่นยำ แต่อย่างน้อยก็ช่วยตัดสินได้ว่า อุปกรณ์นั้นช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้จริงหรือไม่ ? และเท่าที่ทดสอบมาทั้งหมด อุปกรณ์ตัวนี้ไม่สามารถเพิ่มกำลังได้ถึง 5% ตามที่อ้างไว้เลยแม้แต่ครั้งเดียว รวมทั้งแรงบิดก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ละเอียดยิ่งขึ้น และยืนยันผลการทดสอบในครั้งนี้ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เรากำลังจะทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์นี้ โดยนำรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว มาติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ (ขณะนี้กำลังร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผลิตเครื่องมือทดสอบที่เป็นสากล ซึ่งจะเสร็จในเร็วๆ นี้) ที่สามารถวัดอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงได้อย่างแม่นยำในขณะรถวิ่ง ที่ระดับความเร็วต่างๆ รวมทั้งวัดอัตราเร่งว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ? แล้วนำผลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลในครั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างแท้จริง และสรุปผลได้อย่างแน่นอนว่า อุปกรณ์นี้มีสรรพคุณดีจริงตามที่อ้าง หรือเป็นเพียง “ยาผีบอก” ของพ่อค้าหนังเร่ยุคใหม่เท่านั้น.....โปรดติดตามในตอนต่อไป!
หมายเหตุ - ขอขอบคุณ "เพาเวอร์ แลบ" สนับสนุนเครื่องมือ "ไดนาโมมิเตอร์"ในการทดสอบครั้งนี้
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
E–PLUS ประหยัดน้ำมัน งานวิจัยแหกตาระดับชาติ ?
"E-PLUS"บทเรียนใหม่ คนไทยไม่คิดก่อนเชื่อ : วรพล สิงห์เขียวพงษ์