xs
xsm
sm
md
lg

E–PLUS ประหยัดน้ำมัน งานวิจัยแหกตาระดับชาติ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องแหกตาระดับชาติ? ไปเสียแล้ว กับอุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำมันอี-พลัส (E-PLUS) ที่สร้างความหวังให้คนไทยในยุคน้ำมันแพง จนเวลาเพียงเดือนเศษๆ มีผู้ใช้รถจองอุปกรณ์ดังกล่าวไปแล้วกว่า 2 หมื่นเครื่อง แต่ทุกอย่างก็ต้องสะดุดไป เมื่อรมว.วิทยาศาสตร์ และบอร์ดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาเบรกการผลิตและติดตั้งเครื่องอี-พลัส หลังจากตรวจพบไม่ได้ผ่านการวิจัย และทดสอบตามหลักวิชาการ โดยให้เร่งตรวจสอบผลให้เรียบร้อยภายใน 15 ก.ค.นี้ “ทีมข่าวพิเศษ” และ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้ตรวจความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น พร้อมกับนำผลทดสอบตามหลักวิชาการ ของสื่อมวลชนมาให้ผู้อ่านได้ทราบอย่างละเอียด

ข่าวครึกโครมที่คนขับรถยนต์สนใจกันอย่างมาก เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมาก็คือ การเปิดตัวอุปกรณ์อี – พลัส (E–PLUS) เทคโนโลยีประหยัดน้ำมันที่มาถูกเวลาเพราะราคาน้ำมันกำลังขยับสูงลิ่ว ครั้งนั้นนายพีรศักดิ์ วรสุนทรโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมด้วยนักวิจัย คือ นายสมโรจน์ พณิชย์อำนวย ซึ่งอยู่ในฐานะที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสารเพียโซอิเล็คทริกฯ ของวว. ควงคู่กันออกแถลงข่าวและสื่อมวลชนทุกแขนงต่างประโคมข่าว ถึงความเป็นอัจฉริยะสุดเจ๋งของ อี - พลัส ฝีมือนักวิจัยคนไทย

จากนั้น อี – พลัส ก็ได้รับการตอบสนองจากผู้ใช้รถยนต์อย่างเหนือความคาดหมาย ยอดจองถล่มทลายถึง 20,000 เครื่องในเวลาเดือนเศษ แต่ที่เหนือความคาดหมายยิ่งกว่าในเวลาต่อก็คือ นายกร ทัพพะรังสี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ออกมาสั่งเบรกการติดตั้งอุปกรณ์อี – พลัส ให้กับลูกค้าเป็นการชั่วคราว เพราะยังไม่มีการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานกลาง

พร้อมกันนั้น นายเฉลิมชัย ห่อนาค ประธานคณะกรรมการ วว. ออกมาบอกว่า บอร์ด วว. พิจารณาแล้วเห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะต้องผ่านการทดลอง ทดสอบจากสถาบันที่เชี่ยวชาญ เป็นกลาง เชื่อถือได้ อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ทำในสถาบันฯ บอร์ดจึงให้มีมติให้กลับไปวิจัย ทดสอบใหม่ และให้หยุดกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเอาไว้ ส่วนจะมีการสอบเอาผิดผู้เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง

ถึงวันนี้เรื่องของอุปกรณ์ อี – พลัส จึงมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย แต่ที่สำคัญและเป็นประเด็นหลักก็คือ มาตรฐานของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ วว. ยากที่จะอธิบายต่อสังคมว่าเหตุใด การเปิดตัวความสำเร็จของนวัตกรรมใหม่ ที่อ้างอิงการวิจัยในนามสถาบันวิจัยระดับชาติ โดยผู้ว่าการสถาบันวิจัยฯ เอง จึงมีความบกพร่องผิดพลาดกระทั่งบอร์ด วว. และรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ต้องสั่งให้ตรวจสอบใหม่ และให้กลับไปทำการวิจัย ทดสอบมาตรฐานโดยสถาบันที่เป็นกลาง ให้ถูกต้อง
ความผิดพลาดบกพร่องข้างต้น ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันวิจัยฯ ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไปแล้วและจับจองเตรียมติดตั้ง ก็เกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า อุปกรณ์ดังกล่าวประหยัดน้ำมันได้จริงดังอ้างหรือไม่

ส่วนฝ่ายที่เชียร์อี – พลัส เพราะใช้แล้วได้ผลเป็นการส่วนตัวก็อาจจะมีคำถามว่ามีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้นใน วว. ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว การตั้งข้อสังเกตถึงความขัดแย้งภายใน วว. ถือเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการถามหามาตรฐานของงานวิจัย ที่มีข้อสรุปเบื้องต้นกันแล้วว่า อี – พลัส ไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจัย ทดสอบมาตรฐานที่ถูกต้องจริง

อย่างไรก็ตาม หากอุปกรณ์ อี – พลัส ประหยัดน้ำมันได้จริงก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีเหตุให้การนำไปใช้ในวงกว้างต้องชะงักเพราะความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการวิจัย ทดสอบของผู้ว่าฯ และที่ปรึกษา วว. เอง

แต่หากผลทดสอบโดยสถาบันกลาง พิสูจน์ชัดว่า อี – พลัส ไม่สามารถประหยัดน้ำมันจริงดังอ้าง มิหนำซ้ำยังมีเบื้องหน้าเบื้องหลังดังที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยฯ ร้องเรียนให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาตรวจสอบแล้ว ก็ต้องถามต่อว่า ผู้ว่า วว. , ที่ปรึกษา รวมไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงนักการเมืองเจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ออกมาการันตีประสิทธิภาพของ อี – พลัส จะรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ?

เปิดเบื้องหลัง อี – พลัส ฉาว

อุปกรณ์ อี – พลัส ตกเป็นข่าวฉาวเมื่อกลุ่มนักวิชาการ ระดับ 10 ในฐานะที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ วว. และ นายคีรี ครุฑถนอม ประธานสหภาพฯ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนและตั้งข้อสังเกตต่อผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ อี – พลัส ของ วว. ต่อรมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์, ประธาน กวท. และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ตลอดเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตต่อเงื่อนงำที่ปรากฎตามเอกสารหลักฐานและข่าวคราวของอี – พลัส ต่อสาธารณะ คือ
หนึ่ง การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน อี – พลัส ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนดำเนินงานวิจัยพัฒนา ปี 2546-2548 และไม่อยู่ในทำเนียบการวิจัยพัฒนาในช่วงย้อนหลัง 9 ปี ตามที่ผู้ว่าฯ วว.และที่ปรึกษา วว. กล่าวอ้างว่ามีการพัฒนาวิจัยอี – พลัส มา 9 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามแผนงานที่เสนอไว้ต่อสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง

สอง ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษา (นายสมโรจน์ พณิชย์อำนวย) โดยวิธีตกลง ตั้งแต่ 18 ก.พ. – 31 ก.ค. 47 โดยวิธีตกลง ในวงเงิน 120,000 บาท ในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือให้คำแนะนำวัสดุอุปกรณ์ วิธีทดลอง ฯลฯ ซึ่งสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหาช่องทางเข้ามาอาศัยบทบาทอำนาจหน้าที่ของ ความน่าเชื่อถือขององค์กร วว. ตลอดจนทรัพยากรในการดำเนินงานเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์

สาม ไม่ปรากฏชัดว่ามีทีมนักวิจัย วว. เข้ารับผิดชอบร่วมดำเนินการในการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีรายงานผลการศึกษาวิจัย ทดลอง ทดสอบ การออกแบบตามระเบียบวิธีวิจัยภายใต้การให้คำปรึกษาของที่ปรึกษา

สี่
มีการยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องมืออุปกรณ์อี-พลัส โดยผู้ประดิษฐ์ (นายพีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และนายสมโรจน์ พณิชย์อำนวย) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 46 ก่อนวันเริ่มงานของที่ปรึกษาตามสัญญาจ้าง (18 ก.พ. 47) ประเด็นนี้ สหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของว่าจ้างที่ปรึกษา ไม่ใช่เป็นการรร่วมมือกันระหว่างผู้ว่าการ วว. กับผู้รับจ้างในการนำสิ่งประดิษฐ์ไปยื่นจดสิทธิบัตร และหากไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนเหมาะสมระหว่าง วว. กับผู้ประดิษฐ์ อาจทำให้เกิดปัญหา และวว. เสียประโยชน์ในอนาคต

ห้า
มีการว่าจ้างทำของโดยวิธีพิเศษ (ลับ) หลายครั้ง โดย ผู้ว่าการ วว. อนุมัติให้จ้าง นายสมโรจน์ พณิชย์อำนวย เป็นผู้รับจ้างในช่วงเวลาก่อน/ใกล้เคียง กับวันเริ่มสัญญาจ้างที่ปรึกษา โดยว่าจ้างให้นายสมโรจน์ ผลิตอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน อี – พลัส ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 47 จำนวน 100 เครื่อง มูลค่า 150,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 100 เครื่อง และครั้งที่ 3 จำนวน 600 เครื่อง
ประเด็นนี้ ประธานสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้รับจ้างเป็นที่ปรึกษาและผู้รับจ้างทำของ (เครื่อง/อุปกรณ์) เป็นบุคคลเดียวกัน, การจ้างที่ปรึกษาไม่เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมาผลิตเพื่ออ้างว่า วว. มีส่วนร่วมในการผลิต, สัญญาจ้างที่ปรึกษา ไม่น่าเป็นสัญญาจ้างให้มาผลิตสิ่งใดให้ วว. เพราะ วว. จะให้ความร่วมมือและรับค่าตอบแทนในการร่วมมือหลังจากงานวิจัยได้ผลแล้ว

นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า ผู้รับจ้างผลิตอาจมีอุปกรณ์ดังกล่าวไว้แล้ว และยังมีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสเพราะใช้วิธีการพิเศษ(ลับ) ในการว่าจ้างทำของ (ตามหนังสือที่ เรื่องขออนุมัติจ้างทำอุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำมันในเครื่องยนต์ โดยการเพิ่มค่าออกซิเจนให้กับอากาศ ลงวันที่ 19 มี.ค. 47) ซึ่ง วว. อาจไม่สามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ของผู้รับจ้างผลิตได้

15ก.ค. รู้ผลประหยัดหรือไม่?

ถึงวันนี้ คำสั่งให้ชะลอการติดตั้งอี – พลัส และให้สถาบันกลางเข้ามาทดสอบประสิทธิผล โดย นายกร ทัพพะรังสี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ขีดเส้นว่าวันที่ 15 ก.ค.นี้เรื่องจะต้องเรียบร้อย แต่นั่นเป็นแต่เพียงการตอบเพียงคำถามเดียวคือ อี – พลัส ประหยัดน้ำมันได้ผลหรือไม่ หลังจากปล่อยให้ผลงานที่มาจากการคาดคะเนออกสู่สาธารณะกระทั่งเกือบจะกลายเป็นเรื่องเป็นแหกตาคนทั้งชาติ

ส่วนคำถามที่ใหญ่กว่า คือ การวางมาตรฐานงานวิจัยของสถาบันวิจัยระดับชาติอย่าง วว. ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวของ อี – พลัส จะจัดการอย่างไร เพราะหากปล่อยให้หน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ เป็นเช่นนี้ อนาคตก็คงมีมองเห็นแต่ความมืดมน และชื่อเสียงของ วว. ก็เสื่อมถอย ยิ่งถ้าผลการทดสอบโดยสถาบันกลางออกมาว่า อี – พลัสไม่ประหยัดน้ำมันจริง วว. และหมายรวมถึงต้นสังกัดคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ จะรับผิดชอบอย่างไร

อะไรจะเกิดขึ้น หากเกิดปัญหากับรถขึ้นมา แล้วบริษัทรถยนต์ เล่นตุกติกกับผู้ใช้รถโดยยกข้ออ้างว่าเป็นเพราะผู้ใช้รถไปดัดแปลงอุปกรณ์ภายใน  นอกเหนือจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสที่ต้องตอบคำถามต่อสังคม เช่น การว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อี – พลัส ขายในนามของ วว. รวมถึงเหตุผลต่อคำถามที่ว่าเหตุใด วว. ต้องว่าจ้างวิธีพิเศษและลับ ให้ที่ปรึกษารายนี้ผลิตของให้ และการแบ่งปันสิทธิประโยชน์จากการจดสิทธิบัตรนั้นเป็นอย่างไร

หากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ลงมือจัดการกับเรื่องนี้แบบลูบหน้าปะจมูก คนไทยที่ไม่เคยเก็บรับบทเรียนคิดก่อนเชื่อก็คงจะกลายเป็นหนูทดลองไม่จบสิ้น .....

อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง

“ฟอร์มูลา” ทดสอบอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน ดีจริง หรือ หลอกลวง ?!?

"E-PLUS"บทเรียนใหม่ คนไทยไม่คิดก่อนเชื่อ : วรพล สิงห์เขียวพงษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น