“ในปี 2581 บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development จะครบสัญญาที่กรมธนารักษ์มอบหมายให้เป็นผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แต่การที่กรมธนารักษ์จะต่อสัญญาหรือให้ ธพส.บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ต่อหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการเตรียมการวางรากฐานให้บริษัท และพนักงานเกือบ 200 ชีวิต ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนบนรายได้ที่เพียงพอหล่อเลี้ยงองค์กรต่อไปได้” คือแนวคิดของ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ได้วางแผนดำเนินงานที่จะเพิ่มช่องทางหารายได้ การแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ และไม่หยุดที่จะศึกษาเพื่อหาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับ ธพส.
ทั้งนี้ การบริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ สร้างรายได้ให้ ธพส. เพียงพอที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 79.4 ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่ท้าทาย ความสามารถของนักพัฒนอสังหาริมทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเขียวอย่าง ดร.นาฬิกอติภัค ซึ่งการันตีจากการ “อาคารธนพิพัฒน์” ได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น รางวัลมาตรฐานอาคารยั่งยืน Deutsche Gesellschaft für nachhaltiges Bauen หรือ DGNB ระดับสูงสุด Platinum จากสภาอาคารยั่งยืนประเทศเยอรมนี 2. รางวัลฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ประจำปี 2562 จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จากกระทรวงพลังงาน
ปฏิบัติการสร้างรายได้เพิ่ม จึงเริ่มด้วยการนำองค์กรออกไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ถึงบริการด้านการพัฒนาและก่อสร้างอาคารบนที่ราชพัสดุ ทั้งอาคารที่พัก อาคารสำนักงาน กลุ่มลูกค้าคือหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการสร้างอาคาร ด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจคือ สามารถผ่อนชำระค่าก่อสร้างเป็นรายปีให้แก่ ธพส. ได้ และเมื่อผ่อนครบซึ่งจะใช้เวลาราว 15 ปี อาคารก็จะเป็นของหน่วยงานนั้นไปเลย โดยทุกอาคารที่ ธพส. ออกแบบและก่อสร้างจะได้มาตรฐานอาคารเขียว
เราไปคุยและเสนอตัวขอเป็นผู้ก่อสร้างอาคารให้กับหน่วยงานราชการ ด้วยแนวความคิดมาตรฐานอาคารเขียว ที่คุ้มค่าเพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว และยังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก SDG โดยเฉพาะในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เรามองไปที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่มีเงินนอกงบประมาณหรือ เรียกง่าย ๆ ว่า หน่วยงานที่มีรายได้เป็นของตัวเอง เพราะสามารถตัดสินใจได้เร็วกว่า ซึ่งหากสนใจสร้างอาคารก็สามารถใช้เงินจากรายได้ของตัวเองมาจ่ายค่าก่อสร้างได้ ธพส. คือผู้เสนอโครงการ คนจ่ายเงินคือลูกค้า เราสามารถเอาเงินเขาออกจากกระเป๋า และจ่ายเงินแทนเพื่อจะสร้างแกรนด์บิวดิ้ง พูดประโยคนี้ออกไปทุกคนก็สนใจ
“การมองหาช่องทางขยายธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร เพื่อจะได้นำรายได้มาพัฒนาและจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงาน เพื่อนำไปดูแลครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือการทำงานด้วยแนวคิดที่ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะต้องเดินออกจากพื้นที่นี้ไปก็ตาม”
แผนดำเนินงานปี 2568 ยังคงตั้งเป้าพัฒนาอาคารให้แก่หน่วยงานรัฐอย่างน้อยปีละ 2 โครงการ ปี 2568 คาดว่าจะมี 3 โครงการใหม่ที่เตรียมก่อสร้างรวมมูลค่ากว่า 1,211.85 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของกรมสรรพากร ซอยสุขุมวิท 11 วงเงินลงทุน 992 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช วงเงินลงทุน 111.50 ล้านบาท และ 3. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลระนอง วงเงินลงทุน 108.35 ล้านบาท
โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อดำเนินการก่อสร้างอีก 5 โครงการ คือ 1. โครงการคลังเอกสาร (อาคารจอดรถชั้น 5) 2.อาคารที่พักอาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3.อาคารสำนักงานที่ทำการโรงพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมส่วนที่พักอาศัย และการปรับปรุงอาคารโรงพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ( เอกมัย ) วงเงิน 962 ล้านบาท 4.โครงการปรับปรุงอาคารและพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สนามบินน้ำ)วงเงิน1,224ล้านบาท และ 5.โครงการ อาคารศูนย์บริหารและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ของรฟม. วงเงินประมาณ 4,000ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐนั้นๆ เช่น สรรพากรพื้นที่12 บางขุนเทียน สรรพสามิตภาคที่ 10 ที่ลาดพร้าว-วังหิน สำนักงานอัยการสูงสุดที่ต้องการพัฒนาโครงการจำนวน 4 อาคาร มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ศูนย์ฝึกอบรม บนที่ดินที่ราชพัสดุ จำนวน 15 ไร่ บริเวณ ประดิพัทธ์ซอย 19 แต่ยังติดปัญหาหลายด้าน เป็นต้น
สำหรับแผนบริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ปี 2568 เตรียมเพิ่มรายได้จากพื้นที่พาณิชย์ เพราะเป็นส่วนที่สร้างรายได้สูงเป็นอันดับ 2 รองจากรายได้บริหารพื้นที่สำนักงานของอาคารในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพราะการเปิดใช้อาคาร C จะทำให้รายได้จากพื้นที่พาณิชย์เติบโตขึ้น โดยอาคารแห่งนี้ ธพส. เพิ่มการบริการอีกหลายอย่าง เช่น สโมสร ฟิตเนส
เป้าหมายปี 2568 ถึงปี 2570 คือยกระดับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นเมืองสีเขียวคาร์บอนตํ่า ยกระดับชีวิตให้แก่ข้าราชการ และพนักงานที่ทำงานในที่แห่งนี้กว่า 58 หน่วยงาน จาก 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร A อาคาร B และอาคาร C รวมพื้นที่กว่า 839,481 ตารางเมตร ธพส. จึงมีรายได้จากค่าบริหารจัดการ ค่าเช่าพื้นที่พาณิชย์ และ ธพส.ยังมีรายได้จากการขยายธุรกิจรับก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย
ด้านผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2567 ธพส.มีรายได้กว่า 3,368 ล้านบาท กำไรกว่า 1,085 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมเกือบ 47,500 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 เป็นปีที่ ดร.นาฬิกอติภัค เข้ามานั่งบริหารครั้งแรก โดยในครั้งนั้นมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 27,026ล้านบาท มีรายได้ 3,265 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนที่เป็นกำไร 540 ล้านบาท หากย้อนไปปี 2561 มีรายได้ 2,857 ล้านบาท มีกำไร 530.9 ล้านบาท สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 25,725 ล้านบาท เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด