xs
xsm
sm
md
lg

“โอม Cocktail” เสาใกล้ผุกับภารกิจต่อยอด "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" เพราะธุรกิจต้องไปต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้าเอ่ยชื่อ “ปัณฑพล ประสารราชกิจ” คนอาจคุ้นหูน้อยกว่าชื่อ “โอม Cocktail” ศิลปินวงดนตรีร็อกระดับตำนานของไทย ที่ประกาศทิ้งทวนยุบวงล่วงหน้า ตั้งแต่ต้นปี 2567

เหตุผลของการเปิดหมวกอำลา ไม่มีอะไรมากไปกว่า “วัย” ที่เพิ่มขึ้น และ “การเปลี่ยนแปลง” ที่วิ่งตามแทบตาย ยังไงก็ไม่ทัน

สู้เอาเวลาที่เหลือ แยกย้ายกันเดินทางไปสู่ช่วงเวลาใหม่ ดีกว่า

และช่วงเวลาใหม่ที่สุดท้าทาย ท่ามกลางความยากลำบากของยุคสมัย สำหรับ โอม Cocktail ก็คือ การนั่งแท่นผู้บริหารค่ายเพลง GENE LAB ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ช่วยจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้ยักษ์ใหญ่ได้ไปต่อกันยาวๆ

จะก้าวข้ามความยั่งยืน ไปเป็นองค์กรเกินร้อยปีได้หรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่หลายอย่างจากคำบอกเล่าของโอม ทำให้นึกถึงหนังสือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เล่มที่ชื่อว่า “ใครว่าช้างเต้นระบำไม่ได้” ของผู้เขียน หลุยส์ วี. เกิร์สตเนอร์ ที่อธิบายทุกซอกทุกมุมการฟื้นฟูไอบีเอ็ม ที่เกือบหลับแต่กลับมาได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้นำ ในการปรับตัว ให้องค์กรได้ไปต่อ

“อีก 5-10 ปีจากนี้ รุ่นผมจะไม่ใช่เสาหลักแล้ว แต่จะกลายเป็นเสาผุ ถ้าเราไม่สร้างคน แล้วองค์กรจะอยู่อย่างไร พนักงาน 700 ชีวิตจะอยู่อย่างไร เพราะธุรกิจต้องไปต่อ” ปัณฑพล ประสารราชกิจ (โอม Cocktail) ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง GENE LAB นิยามตัวเองว่าเป็นเสาใกล้ผุ ที่กำลังมีหน้าที่สร้างเสาหลัก ให้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ค้ำยันในยุคถัดๆ ไป

“การรับรู้เกี่ยวกับศิลปินจะ decline ลง ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป คนจะสนใจเพลงจริงจัง ช่วงอายุ 13-17 ปี ไม่เกินนี้ หลังจากนั้นจะเลือกฟังในแบบที่เราชอบ ศิลปินจึงไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง และไม่สามารถเล่นดนตรีไปได้ตลอดชีวิต ถ้าไม่สร้างหลักประกันที่มั่นคง”

แม้แต่องค์กรจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เอง ธุรกิจบันเทิงก็ไม่สามารถดึงดูดผู้คน ที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ 30 ปีขึ้นไปได้ เพราะหลายสิบปีมานี้ความชอบของผู้คน แตกกระจายไปเป็นติ่งอังกฤษ-อเมริกา ติ่งเกาหลี ติ่งจีน แม้แต่ติ่งภารตะ ก็ยังมี รวมถึงติ่งหลิงออม แซฟฟิกสายพันธุ์ไทยที่กำลังมาแรง ธุรกิจบันเทิงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงต้องสร้างหลักประกันให้ตัวเองมั่นคงรอบใหม่ด้วยเช่นกัน


ความสำเร็จของโอม จากการบริหารจัดการวง Cocktail ในช่วงที่กำลัง decline คือ ออกแบบกองทุนรวมในทีม โดยทุกการจ้างงาน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะหารเท่ากันในวง แล้วหักเข้ากองทุนเหมือนประกันสังคม มีการบริหารจัดการผลประโยชน์ ให้สินทรัพย์งอกเงย และจะไม่แบ่งสรรปันส่วนกัน จนกว่าจะแยกวง ซึ่งดีเดย์เอาไว้แล้วล่วงหน้า หลังสิ้นสุดคอนเสิร์ตสุดท้าย ภายในปี 2568

และชุดความคิดเดียวกันนี้ ก็ถูกนำมาขยายผลในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพื่อสร้างคน สร้างงาน สร้างความสำเร็จ ไปด้วยกันแบบ win win game ทั้งคนและองค์กร

“10 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่ไม่ได้สร้างศิลปิน แต่ต่อยอดจากศิลปินเก่า ขยายผลออกมา จนประสบความสำเร็จ ทำได้ดี และถูกต้อง รวมถึงเซ็นสัญญากับบรรดาศิลปินที่โด่งดังจากค่ายอื่น เอามาต่อยอด”

แต่มองต่อไปว่า ถ้าบริษัทไม่สร้างอะไรใหม่ ในระยะเวลาอันใกล้ องค์กรจะสะดุด เพราะรายได้จากศิลปินจะมีปัญหา จึงแยกบริษัทเล็กๆ ออกมาต่างหาก เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนเร็วมาก

“เราไม่สามารถรับมือผ่านองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน เพื่อจะแก้ปัญหา จึงแยกออกมาเพื่อสรรหาบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องได้เอง เมื่อเราเลือกบุคลากรที่เชี่ยวชาญโดยตรง เอามาสร้างอะไรใหม่ๆ มันเลยกลายเป็นเสาหลักของตึก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้สามารถสร้างรายได้เพื่อค้ำจุน” โอมเล่า

เขามองว่า ตอนนี้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่สามารถสร้างภาพรวม ให้คนเชื่อศิลปินได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะสื่อปัจจุบันมีความหลากหลายมาก

สมัยก่อนสร้างศิลปินมาคนหนึ่ง สร้างภาพรวมขึ้นมา กดปุ่มปัง สถานีวิทยุเปิดเพลงเดียวกันหมด เปิดทีวีมาเห็นแบบเดียวกันหมด สื่อยังมีให้เลือกไม่เยอะ ศิลปินยังมีให้เลือกไม่เยอะ ผู้บริโภคมีความเชื่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งง่าย

แต่สื่อยุคนี้ มีมุมมองที่หลากหลาย การสร้างภาพแบบเดียว มันไม่เป็นจริง ผู้บริโภคพัฒนาตัวเอง เรียนรู้มากขึ้น จนเรารู้สึกว่าเขาอยากเห็นตัวจริงของศิลปินมากขึ้น มากกว่าภาพมายา

ทุกวันนี้ศิลปินกับค่ายเพลง จึงเป็น partner กัน ไม่ใช่เถ้าแก่ หรือ boss แบบสมัยก่อน และรูปแบบการทำงาน จากหัวหน้ากับลูกน้อง มาเป็นหุ้นส่วนกับหุ้นส่วน ศิลปินคือลูกค้า เราคือผู้ให้บริการ หมายความว่า ศิลปินมีไอเดีย มีความคิดอ่าน เขามาหาสิ่งที่ไม่มี แล้วเราทำให้ มาเสริมส่วนที่ศิลปินขาด

ศิลปินยุคนี้จะเดินเข้ามาหาบริษัทแล้วพูดว่า ผมอยากทำแบบนี้ 1, 2, 3 และ 4 ที่เหลือผมไม่ถนัด พี่ทำอะไรให้ผมได้บ้าง เป็นจุดเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่หมด

เขาบอกว่า การที่เราจะเปลี่ยนศิลปินเป็นลูกค้า ตอนพูดมันฟังดูดี แต่พอจะเปลี่ยน มีปัญหาเป็นปีๆ เพราะวัฒนธรรมเดิม มันฝังตัวอยู่มากกว่า มันเป็นความสัมพันธ์แบบพี่น้อง มันเป็นเพื่อนกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกัน แต่จริงๆ เรากำลังทำงานบริการให้ศิลปินอยู่

สมัยหนึ่ง บริษัทต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการรับคนเข้ามาทำงาน โดยเริ่มดึงคนจากบริษัทโฆษณาที่เคยชินกับการรับบรีฟ แล้วเอามาร่ายคาถาเป็นภาพ แต่บริษัทโฆษณาก็ลืมนึกไปว่า โรงงานของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผลิตสินค้าคือมนุษย์ ที่เก่งกล้าสามารถ แต่โคตรเอาใจยาก กลายเป็นปัญหาคลาสสิก เพราะการเข้าใจมนุษย์ เป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่รู้จบ

การแก้ปัญหาของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงต้องจัดโครงสร้างใหม่ โดยคำนึงถึงปัจจัยหลักๆ ได้แก่

1. ให้ความรู้ศิลปินที่เข้ามาเป็นลูกค้า แบ่งขอบเขตการทำงานชัดเจน

2. ไม่เอาศิลปินมาเป็นตุ๊กตา แล้วนั่งเฉยๆ แต่ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำ เพื่อให้การทำงานร่วมกัน smooth จึงต้องทำความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ให้ถี่ถ้วน โดยทำสัญญาเป็นข้อๆ

3. เปลี่ยนระบบใหม่ ศิลปินก็ต้องมีการ present งานที่ค่ายเหมือนกัน ว่าปีถัดไปจะทำอะไร หลังจากนั้นบริษัทจะเอาไปเสนอผู้บริหารระดับสูง อธิบายถึงสิ่งที่จะทำตลอด operation

4. ศิลปินต้องให้การยอมรับว่า ถ้าเข้าระบบนี้ อาจสูญเสียประโยชน์บางอย่าง แต่จะมีโอกาสมากขึ้นในหลายๆ ทาง

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ของงานบริการและลูกค้า แต่กลับเผชิญปัญหาใหม่ว่า เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อเราทำอะไรสำเร็จ โดยที่บริษัท Gene Lab เริ่มต้นจากกบถ แล้วเราก็สำเร็จ แต่เมื่อสำเร็จ พนักงานเริ่มทำรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ว่าศิลปินไหนจะออก เราจะเริ่มเข้าสู่ pattern เป็นจุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์”

ปัญหาของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่คือ เชี่ยวชาญในเรื่องเดิมๆ เพราะทำแบบเดิมมาตั้งนาน พอปรับองค์กรใหม่ ผ่านไป 5-7 ปี กลับเข้า loop เดิม ซ้ำรอยกับความสำเร็จเดิมๆ จึงต้องกลับมาทบทวนผลลัพธ์จริงๆ จังๆ ที่อยากได้ โดยการกำหนดเป้าหมายมาก่อนเลย ไม่ต้องคิดเยอะ ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ต้องสนใจความจริง เอาเป้าหมายมาเป็นธงนำ แล้วมาวัดระยะว่า เราอยู่ตรงไหน ห่างจากเป้าหมายที่วางไว้เท่าไหร่

การบอกว่าตัวเองมีอะไรบ้าง บางทีทำให้หลงลืมว่าฉันขาดอะไร แต่ถ้ากำหนดเป้า แล้วบอกว่า ฉันขาดอะไรบ้างที่ต้องใช้ จะเป็นจุดสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ การเช็คว่าขาดอะไร ทำให้รู้ว่าเรามีอะไร แต่การรู้แค่ว่าเรามีอะไร จะไม่รู้ว่าเราขาดอะไร

“พอกำหนดเป้าหมาย เราจะรู้ทั้งปลายทางและต้นทาง เพราะต้นทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การรู้เป้าหมายไม่พอ แต่ต้องรู้ว่าขณะนี้เราทำอะไรบ้าง เราขาดอะไรบ้าง ก็ต้องเติมลงไปส่วนที่มันขาด ซึ่งเป็นเป้าหมายย่อย จากเป้าหมายย่อย ก็จะเป็นเป้าหมายใหญ่”

ขณะที่เป้าหมายย่อยๆ นั้น จะยังคงต้องตอบสนองต่อเป้าหมายใหญ่อยู่เสมอ ไม่งั้นขัดแย้งกันเอง เหมือนกฎหมายระดับล่างต้องไม่ขัดกับกฎหมายระดับบน ทำให้เห็นลำดับชั้นของเรื่องราว

ทุกวันนี้โอมยังคงขยันทำงานตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต กับหมวกที่สวมอยู่ 4 ใบคือ
1. เป็นนักร้อง สังกัดค่ายแกรมมี่
2. เจ้าของบริษัท รับจ้างบริหารศิลปิน
3. หุ้นส่วนสำนักงานกฎหมาย ทำงานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในแวดวงบันเทิง
4. อาจารย์พิเศษ สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญา ในมหาวิทยาลัย

และกำลังนับถอยหลัง เตรียมตัวเป็น “เสาผุ” เหมือนกับที่ประกาศแต่หัววัน ว่าจะยุบวง Cocktail ด้วยเหตุผลที่เหมือนกันคือ วัย และ การเปลี่ยนแปลง

เรียบเรียงจากงานสัมมนา Thailand HR Day 2024 หัวข้อ “Excellence & Purpose Forum: Business Leadership Success with Passion” จัดโดย สมาคม PMAT วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม Centara Grand at Central Plaza Ladprao Bangkok


กำลังโหลดความคิดเห็น