ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง และคุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาคารรกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในงาน “แถลงความร่วมมือก่อตั้งเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District)” และร่วมแสดงวิสัยทัศน์ “การพัฒนาคนและนวัตกรรมผ่านเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” ณ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เมื่อเร็วๆ นี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจับมือพันธมิตรก่อตั้ง “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” (Siam Innovation District) เดินหน้า4 พันธกิจ รุกสร้างสังคมอุดมปัญญา
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมาโดยตลอด จึงจัดตั้ง CU Innovation Hub หรือ “โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ด้วยวิสัยทัศน์สู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” กว่าหนึ่งปีที่ CU Innovation Hub ได้ผลักดันและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมผ่านกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งนอกจากจะติดอาวุธทางปัญญาให้บุคลากรของจุฬาฯ และบุคคลภายนอกแล้ว ยังเป็นการสั่งสมประสมการณ์ของ CU Innovation Hub ในการบริหารจัดการนวัตกรรมจนพร้อมที่จะขยายสู่สังคมไทยและประเทศไทย จึงเกิดเป็นโครงการ “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” หรือ Siam Innovation District ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 232.5 ล้านบาท
สำหรับโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) มีพันธกิจ 4 ประการ เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมอุดมปัญญา ได้แก่ 1.Industry liaison - เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนสถาบันการศึกษาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น พันธกิจนี้ประกอบด้วยแผนงานหลัก คือ การจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology licensing) สร้างงานวิจัยที่สนับสนุนโดยภาคอุตสาหกรรม ( Industry Sponsored Research) โครงการร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (Industry Joint Projects) และการนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ (Research Commercialization)
2.Marketplace - ตลาดนัดนวัตกรรม ประเทศไทยมีนวัตกรรมจำนวนไม่น้อยแต่กลับไม่ค่อย ถูกนำมาใช้หรือที่เรียกกันว่า “ถูกเก็บไว้บนหิ้ง” เป็นเพราะเราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ผลงานเหล่านั้นออกสู่สังคม “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” จึงเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่ให้นวัตกรรมออกจาก “หิ้ง” สู่ “ห้าง” เปิดตัวสู่ตลาดให้ผู้คนได้เลือกใช้หรือหยิบไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ภายใต้พันธกิจนี้ย่านสยามสแควร์ จะกลายเป็นตลาดนัดนวัตกรรม เป็นจุดนัดพบของคนที่มีความสามารถในการคิดกับคนที่มีความสามารถในการทำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในพันธกิจนี้ ได้แก่ การลงทุนและการสร้างหุ้นส่วนในนวัตกรรม (Investment and Partnership) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Networking and collaboration) และการจับคู่ผู้มี ความสามารถ
3.Futurium - ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต การทำให้คนไทยได้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอนาคต ไม่ว่าจะในมิติของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญและสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา นับเป็นพันธกิจของ“เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” เพราะการได้เห็น ได้สัมผัสกับโลกแห่งอนาคต ย่อมกระตุ้นให้ผู้คนได้ใช้จินตนาการและปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคตที่สยามสแควร์จะเป็นประตูสู่โลก อนาคตสำหรับคนไทย พันธกิจสร้างชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคตประกอบด้วย การสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Showcase of Smart City) นิทรรศการหมุนเวียนแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย (Live exhibition of Cutting-edge innovations) และนิทรรศการถาวรด้านนวัตกรรม
4.Talent Building - พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” ถือเอาการพัฒนาคนเป็นพันธกิจที่สำคัญที่สุด โดยการสร้างคนดีและคนเก่งของประเทศผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Capability Building Workshops and Events) การประกวดแข่งขันและการต่อยอด (Competitions and Spin-off) การประชุมสัมมนา (Stimulating Symposium) การสร้างเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษา (Mentorship Network) และโครงการบ่มเพาะและขยายผลทางธุรกิจ (Incubator and Accelerator)
จากพันธกิจของโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม จึงได้เกิดเป็นโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการผลักดันให้นวัตกรรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมไปต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ซึ่งโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID จะเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ (Seed Fund) และเพื่อส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจใหม่ (Scale Up Fund) โดยมีเงินทุนสนับสนุนให้โครงการต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท