xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รุก Media Fund School Camp 2017 มุ่งเป้าแนะเยาวชน “รู้ทันสื่อ คือ รู้ทันโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนทิรา จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “Media Fund School Camp 2017” ให้ความรู้กับเยาวชนนับพัน รุกเข้าโรงเรียนทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค เพื่อให้เด็กและเยาวชน “ฉลาดใช้สื่อ” ในยุคที่เทคโนโลยีพลิกโฉมสื่อทั้งระบบ นำทีมวิทยากรชั้นนำจากยูทูบ (ประเทศไทย), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ (องค์การมหาชน), มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนา และนักวิชาการ ร่วมให้ความรู้ในเรื่องของการฉลาดใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็น internet safety, social media awareness, creative digital content, digital literacy และ cyber bullying เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ

มนทิรา จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ภารกิจของกองทุนฯ 1 ใน 7 ข้อของการจัดตั้งพรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ กอปรกับงานวิจัย และการสังเคราะห์บทเรียนจากการทำงานสื่อของสสส.ภายใต้แผน 10 ปี สรุปว่า “สื่อในยุค disruptive technology อยู่ที่ตัวผู้รับสื่อที่มีคุณภาพ ไม่ใช่การเข้าไปจัดการกับผู้ผลิตสื่อ ช่องทาง หรือเนื้อหา ซึ่งซับซ้อน ไร้พรมแดน จนไม่อาจเข้าไปแทรกแซงให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญ”

“ดังนั้น ทักษะด้านการเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL : Media Information and Digital Literacy) จะเป็นการเสริมศักยภาพให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล โดยเป็นผู้รับสารที่มีวิจารณญาณในการเลือกสรร ตรวจสอบ กลั่นกรองแหล่งที่มา ช่องทาง เนื้อหา อย่างรู้เท่าทันโลกและเท่าทันตนเอง”

“จากการลงพื้นที่ใน 6 โรงเรียนทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด จะถามน้องๆ เยาวชนว่า สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องทักษะการรู้เท่าทันสื่อมั้ย เสียงจากเด็กๆ ที่เข้ารับการอบรม เกือบพันคน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า...สนใจ ผู้บริหารและคุณครูก็มาร่วมเรียนรู้กับเด็กๆ เราเชิญวิทยากรจากยูทูบ (ประเทศไทย) ไปให้ความรู้เรื่อง creative digital content เพราะแพลตฟอร์มนี้แพลตฟอร์มเดียว เข้าถึงเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมหาศาล คนไทยติดอันดับ 10 ในโลกที่ดูยูทูบมากที่สุด แม้ว่าคอนเทนต์ที่คนไทยนิยมดูมากที่สุดจะยังคงเป็นเรื่องเอนเตอร์เทนเม้นท์ แต่เนื้อหาที่เรานำไปบอกน้องๆ เยาวชน คือ ยูทูบมีช่องการศึกษา ที่เป็นความรู้หลายเรื่องที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ที่เด็กและเยาวชนจะเข้าไปหาความรู้นอกห้องเรียนกันได้ เช่น “ออมสคูล” ช่องคนไทยที่สอนพิเศษโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้สอนที่ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองโอลิมปิกในหลายสาขาวิชา ทำให้คนที่เข้าไปศึกษาจากคลิปในช่องนี้เรียนดีขึ้น ได้เกรด 4.00 และสอบติดแพทย์ศาสตร์มาแล้ว”

“สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ไม่ว่าวิทยากรจะยกตัวอย่างยูทูบเบอร์คนไหน เด็กๆ รู้จักหมด จึงไม่น่าแปลกที่ช่องที่ได้รับความนิยมจะมีผู้ติดตามเป็นล้านคน มีคนดูเป็นพันล้านครั้ง ซึ่งทางกองทุนฯ ก็กำลังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเนื้อหาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในช่องทางนี้ เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ไม่มีสื่อดี แต่อยู่ที่สื่อดีที่ผลิตขึ้นมาไม่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชน ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของกองทุนฯ ที่ว่า “ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และฉลาดใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยนิเวศสื่อที่ดี” และขณะนี้กองทุนฯ กำลังสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยเรื่อง “นิเวศสื่อ” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกองทุนฯ”

นอกจากความรู้เรื่องเนื้อหาบนสื่อใหม่แล้ว พื้นฐานการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ “ควรรู้” ดังนั้น ETDA:สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ (องค์การมหาชน) จึงนำความรู้ต่างๆ ทั้งเรื่องภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์, มัลแวร์เรียกค่าไถ่ และการตั้งค่า password เพื่อความปลอดภัย พร้อมกิจกรรมสนุกสนาน คือ การชวนน้องๆ มาเป็น ลูกเสือ cyber ทำหน้าที่ติดอาวุธ และปกป้อง เพื่อรับมือจากเหล่าแฮกเกอร์ ซึ่งจะต้องผ่านด่านทดสอบความแข็งแกร่งของรหัสผ่าน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยมากที่สุด จบกิจกรรม ได้ยินน้องๆ หลายคนบอกว่า จะไปตั้งค่าพาสเวิร์ดให้ปลอดภัยกว่านี้ซะแล้ว

แล้วก็มาถึงเรื่องยอดฮิต อวัยวะที่ 33 ปัจจัย 5 ของคนในยุคนี้ คือ “โทรศัพท์มือถือ” วิทยากรสอนพื้นฐานง่ายๆ ให้แก่น้องๆ เยาวชน ตั้งแต่เรื่องของการตั้งค่าล็อคหน้าจอ, การสำรองข้อมูลเก็บไว้โดยการอัพโหลดบน Google drive, การตรวจสอบเว็บไซต์ซื้อของว่าจริงหรือปลอมเพื่อจะได้ไม่ถูกหลอกเมื่อใช้บัตรเครดิต (แน่นอนว่าเป็นของพ่อแม่) จนถึงเรื่องของการใช้ social media อย่างมีมารยาท เพื่อการสื่อสารอย่างมีความสุข โดยเฉพาะบนแอพพลิเคชั่นยอดฮิตของคนไทย ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างไลน์ประเทศญี่ปุ่น กับ ETDA ในการให้ความรู้อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างไม่ทำร้ายผู้อื่น

สุดท้าย เรื่อง “ต้องรู้” เพราะผลงานวิจัยการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า เยาวชนไม่รู้เท่าทันในการเสพข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะโฆษณาออนไลน์ชวนเชื่อและสินค้าหลอกลวงต่างๆ เยาวชนแยกไม่ออกว่าอะไรควรเสพ/ไม่ควรเสพ อะไรควรแชร์/ไม่ควรแชร์ และเยาวชนไม่รู้เรื่องพรบ.คอมพิวเตอร์ เนื้อหาการอบรมในส่วนนี้ ถูกนำเสนอด้วยหัวข้อท้าทายทว่าไม่เคยล้าสมัย ในประเด็น “พุทธวิธีการรู้เท่าทันสื่อใหม่” ผ่านคลิปโฆษณาและตัวอย่างสื่อที่ใกล้ตัวเด็กและเยาวชน ตบท้ายด้วยกิจกรรมฝึกสติโดยใช้พุทธวิธีเพื่อให้เยาวชนรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล

มนทิรา กล่าวทิ้งท้ายว่า การส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชนจึงไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ตามภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เท่านั้น หากยังเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเรื่องของการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนด้วยเพราะในยุคเทคโนโลยีพลิกโฉมสื่อ ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า “รู้ทันสื่อ คือ รู้ทันโลก” และนั่นจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 อย่างแท้จริง

ความร่วมมือระหว่างไลน์และ ETDA

วิทยากรที่เข้าร่วมให้ความรู้กับเยาวชนในเรื่องต่างๆ
ดร.สายน้ำผึ้ง รัตนงาม “สื่อถึงเนื้อถึงตัวเรา ทำให้เราต้องรู้เท่าทัน”

ดร.ศีดา ตันทะอธิพานิช “อย่าเชื่อทุกอย่างที่สื่อนำเสนอ”

ณัฐโชติ ดุสิตานนท์ “ต้องมีมารยาทในการใช้โซเชียล มีเดีย”

เยาวชนร่วมกิจกรรม นำเสนอไอเดีย

โรงเรียนชลบุรีสุขบท
กำลังโหลดความคิดเห็น