Q : ลูกน้องสอนแล้วสอนอีก ในเรื่องพื้นฐานง่ายๆ ก็ยังไม่เข้าใจ (ตัวเองเป็นวิศวกร ลูกน้องก็จบวิศวกรรม แต่สอนเทคนิคง่าย กลับไม่เข้าใจ) จะไปสอนเองทุกครั้ง ทุกคน ก็ไม่มีเวลา ครั้นจะไม่สอนก็ทำผลงานออกมาไม่ได้ดี ทำให้อารมณ์เสีย
A : คนเรามีวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน แต่หัวหน้าส่วนใหญ่มักใช้แนวทางการเรียนรู้ที่ตนเองถนัด ไปพัฒนาลูกน้อง จึงไม่ค่อยได้ผล เพราะต่างคนต่างมีจริตแตกต่างกันไป
ดังนั้นต้องรู้ก่อนว่าลูกน้องมีสไตล์การเรียนรู้แบบไหน
หากอธิบายโดยไม่อิงทฤษฎีเลย คนเรามีแนวทางในการเรียนรู้ 3 วิธี
1) เรียนรู้จากการได้ดูได้เห็น - เช่น อ่านหนังสือ ดูคลิป ดูการสาธิต เป็นต้น
2) เรียนรู้จากการได้ยินได้ฟัง - เช่น ฟังสัมมนา ฟังหนังสือเสียง (Audio Book) ฟังคนอื่นคุย เป็นต้น
3) เรียนรู้จากการลงมือทำ -- เช่น ทดลองทำจริง ทำบทบาทสมมุติ (Role Play) เป็นต้น
วิธีการสังเกตว่าลูกน้องมีสไตล์การเรียนรู้แบบไหน ไม่ยาก ให้ดูเวลาเขาได้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไรใหม่ๆ มา เช่น โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ แล้วดูว่าเขาเรียนรู้การใช้อุปกรณ์นั้นๆ อย่างไร
หากเป็นคนเรียนรู้ด้วยการได้ดูได้เห็น เขาจะอ่านคู่มือ
หากเป็นคนเรียนรู้ด้วยการได้ยินได้ฟัง เขาจะถามเพื่อนๆ ที่ใช้โทรศัพท์รุ่นเดียวกัน
หากเป็นคนเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เขาจะทดลองกดปุ่มต่างๆ ด้วยตนเอง
เมื่อรู้สไตล์แล้ว ก็เลือกวิธีการสอนและการพัฒนาให้เหมาะกับจริตการเรียนรู้ของแต่ละคน น่าจะได้ผลมากยิ่งขึ้น
อีกอย่างที่ควรสังเกตคือ หากสอนหลายคนแล้วทุกคนไม่เข้าใจ ปัญหาน่าจะอยู่ที่ผู้สอนมากกว่าผู้เรียน แนะนำให้ปรับวิธีการการสอน
แต่หากสอนหลายคนแล้วคนส่วนใหญ่เข้าใจ มีแค่บางคนเท่านั้นที่ตามไม่ทัน ปัญหาอยู่ที่ผู้เรียนมากกว่าผู้สอน แนะนำให้พยายามอีกครั้ง หากทำเต็มที่แล้ว ยังไม่ได้ผลอยู่ดี หนทางสุดท้ายก็คงต้องหาทางเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้ทำ