โดย - ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง Thailand Appreciative Inquiry Network (AI Thailand)
ประสบการณ์การบวชที่วัดป่าธรรมอุทยานของข้าพเจ้า
ผมเองชอบอ่านหนังสือครับ หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน แล้วตื่นเต้นมากๆ ก็คือหนังสือเรื่อง Enough (อีนาฟจ์)หนังสือเล่มนี้ เขียนดีมากๆ ครับ ผมว่าน่าจะนำเอาไปเป็นตำราเรียนได้เลย ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราว โดยสรุปว่าทำไมมนุษย์ ควรเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมากกว่านี้ ด้วยการยกหลักฐานงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านสมอง และชีววิทยาวิวัฒนาการ รวมทั้งงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบอย่างดีเยี่ยม มีบทหนึ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือเรื่อง “ความรู้จักพอ” คือผู้เขียนบอกว่ามนุษย์พอไม่เป็นครับ ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์คือ ระบบสมองของเราไม่ได้พัฒนาเรื่องความสามารถ ในการกะประมาณมาดีพอครับ จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติเองนั้น ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว การหาอาหารมาเลี้ยงท้องให้ได้ครบทั้งสามมื้อ เป็นงานที่ยากลำบากของมนุษย์มากๆ จนกระทั่งถึงยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนอังกฤษยังสูงเฉลี่ยไม่เกิน 160 ซม. เรียกว่าขนาดใช้รายได้ส่วนใหญ่ มาเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ก็ยังไม่พออยู่ดี
จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงแม้การหาอาหารและการมีรายได้เพียงพอของมนุษย์จะดีขึ้นอย่างไม่เป็นมาก่อน แต่ก็ยังถือเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่มนุษย์เกิดมาบนโลกใบนี้ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองจึงเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า กลไกทางชีววิทยาของมนุษย์นั้น ด้วยเหตุผลความขาดแคลนด้านอาหาร ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนแสวงหาอาหาร สมองมนุษย์จึงเรียนรู้และฝังเป็นกลไก แบบสัญชาตญาณ ให้มนุษย์ต้องหาอาหารให้มากเข้าไว้ และเนื่องจากไม่เคยพอสักที สมองมนุษย์จึงไม่รู้จักคำว่า “พอ” ครับ และถึงแม้จะเริ่มพอและดิ้นรนน้อยลงกว่าเดิม (ไม่ต้องไปล่าสัตว์ทั้งสามมื้อ-สามารถซื้อเนื้อมาแช่ตู้ได้หลายๆ วัน แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่น)
สมองเรื่อง “ความรู้จักพอ” ของมนุษย์ก็ยังไม่พัฒนามากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสมองด้าน“การรู้จักหา”
ว่าแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ครับ ด้วยการลองให้ผู้เข้าทดลอง ลองตักซุปทาน แต่ซุปชามนี้วิเศษกว่าปรกติครับ คือมีการต่อท่อ ประมาณว่าให้ผู้เข้าทดลองทานน้ำซุป พอทานไปก็แอบเติมน้ำซุปไปในถ้วย ปรากฏว่าเจอเหตุการณ์ประหลาด นักวิจัยค้นพบว่าคนทั้งหมดส่วนใหญ่ กินน้ำซุปเพิ่มขึ้น บางคนกินไปมากแบบไม่รู้สึกตัวก็มี นักวิทยาศาสตร์เลยได้ข้อสรุปครับ ว่าสมองมนุษย์ “หาเป็น” แต่ “พอไม่เป็น”
เรื่องนี้เลยทำให้เราเข้าใจคำว่า “ไม่รู้จักพอ” ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แล้วทำให้เข้าใจว่าทำไมคนจำนวนมาก ดูเหมือนจะไม่รู้จักพอ มีแล้วก็หาอีก หาอีก ทำให้เข้าใจความน่ากลัวของ “ทุนนิยม” ทำให้เห็นความแตกต่าง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เห็นเลยว่าทำไมคนมีอำนาจ ก็จะโกยเอาโกยเอา รวยแล้ว ตัดป่าไปมากแล้วก็ตัดไปเรื่อยๆ จนป่าหมด จนแล้ง ระบบนิเวศน์ ระบบเศรษฐกิจล่มสลายลงเรื่อยๆ
ทำให้เข้าใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ทำไมสมัยผมบวชที่วัดป่าธรรมอุทยาน หลวงพ่อกล้วยจึงต้องเน้นทุกวันให้ “ประมาณในการกิน ประมาณในการบริโภค” ตอนแรกผมก็ว่าทำไมต้องเน้นเรื่องนี้บ่อยๆ แต่ตอนบวชผมก็สามเดือน ผมก็พบว่าเรื่องนี้มันท้าทายที่สุด ท้าทายมากกว่าตอนผมไปนอนป่าช้าท่ามกลางหลุมศพห้าหลุม กว่าเก้าวันเสียอีก
ผมย้อนกลับเห็นเลยครับ ว่ามันยาก เพราะใจเราจะพยายาสรรหาเหตุผลให้เรากินดีๆ อยู่เสมอ เราเหมือนกลัวตายกลัวอดจริงๆ มีวันหนึ่ง ผมตั้งใจกินแค่ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวชุบไข่แล้วปิ้ง) เพียงสามก้อน เพราะอยากประมาณในการกิน สักพักครับ เห็นช็อกโกแลต ยี่ห้อโปรดใส่ถาดมาแต่ไกล ตอนแรกก็พยายามดูจิตครับ โดยพยายามระงับความอยากก่อน ให้ความอยากหมดไปค่อยคิดว่าจะทานอะไร ที่สุดดูมันดับไปแล้ว จากนั้นผมก็หาเหตุผลเข้าข้างตนเองครับ ว่า “..วันนี้ไม่เป็นไรน่ะ ปฏิบัติมาหลายวันแล้ว ทานไปเถอะจะได้ไม่เครียดไป ว่าแล้วก็หยิบช็อกโกแล็ต ฉันซะท้องกาง”...ผมเป็นอย่างนี้มาเกือบสามเดือนครับ ไม่น่าเชื่อว่าสมองเราจะสามารถค้นหาเหตุผล สารพัดเหตุผล เพื่อมาสนับสนุนความอยากของตนเอง ได้นับร้อยเหตุผล ไม่น่าเชื่อว่าการที่เราจะเริ่ม “พอ” กับอะไรสักอย่างมันจะยากมากมายขนาดนี้ ยากกว่าไปนอนในป่าช้าอีก
สิ่งที่ผมค้นพบเรื่องการกินในครั้งนั้น ทำให้เห็นความน่ากลัวของกิเลสมนุษย์ ตอนนั้นพอผมเฝ้ามองเรื่อง “ความอยาก” อาหารของผมแล้ว ผมก็เริ่มตระหนักครับว่า หลายครั้งในอดีต ที่ชีวิตที่เราเดือดร้อน ไม่เป็นปรกติสุขนั้น หลายๆ ครั้งเกิดจาก “ความอยากเล็กๆ น้อยๆ” นี่เอง เช่น อยากเด่น อยากดัง อยากได้ เรื่องนี้ทำให้หลายเรื่อง ที่ดีมาแต่ต้น มาพังตอนปลายได้ และก็เห็นครับ ว่าสมองของเรามันหลอกเราได้มากมายขนาดไหน มันหลอกให้เรา “งอ” หน่อยน่ะ ไม่เป็นไรหรอก พอเรางอเท่านั้นแหละ ไปเลย เหมือนปืนกระบอกตรง คุณลองไปทำให้มันงอตรงปลายสิ นิดเดียวเท่านั้น รับรองปืนแตกตายแน่
ไม่แปลกใจครับว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่อง “การประมาณในการกิน การบริโภค” ส่วนพระเถระอย่างหลวงพ่อกล้วย นี่ท่านก็เน้นทุกเช้าครับ พอมาดูการทดลองทางวิทยาศาสตร์นี่ถึงกับทึ่งเลยว่า สมองมนุษย์มัน “พอ” ไม่เป็นจริงๆ นั่นเอง และก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่สอนเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”
ท่านมองการณ์ไกลครับ ท่านต้องเข้าใจมนุษย์จริงๆ และนี่แหละครับผมไม่เคยสงสัยเลยว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ ท่านเป็นจริงๆ ครับ ท่านพยายามนำเราเข้าสู่เส้นทางนี้มาตลอด
น่าทึ่งมากๆ ครับ และผมอยากบอกจริงๆ ครับ ว่าเราต้องปลูกฝังเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” กันอย่างจริงจังครับ ไม่งั้นประเทศชาติลงข้างทางแน่ๆ เพราะเราจะเจอ “สัตว์มนุษย์” ที่ยังไม่ฝึกสมองตนเองให้ดีพอเข้ามากอบโกย อย่างไม่เคยรู้สึกพอครับ และโชคดีที่เรามีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านสมองยืนยัน มีระบบการฝึกตนในพระพุทธศาสนา ที่สอนการประมาณในการกิน การบริโภคการอยู่อย่างพอเพียงมาช่วยครับ เพราะฝั่งอาจคิดได้ แต่ศาสนาเรามีเทคโนโลยีในการฝึก มีผู้ฝึกที่สุดยอดจริงๆ อยู่แล้วครับ และองค์กรใด รับคนที่ไม่เคยฝึกตัวด้านนี้มามากพอ ก็เตรียม “หนัก” ใจได้เลยครับ เพราะให้เท่าใดก็ไม่พอหรอกครับ (เคยไปสอนองค์กรต่างชาติ ที่ค่าแรงรวม OT ตกประมาณ 800 บาทต่อวัน ทำงานในห้องแอร์ ยังทะเลาะกันจนปิดโรงงาน)
ใครที่บวชตามประเพณี 7 วัน 15 วันก็ขอบอกครับ ว่าไม่น่าจะพอ ลองอยู่สักสามเดือนครับ จึงจะเริ่มเห็นครับ อย่าปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปครับ เพราะในโลกบริหารธุรกิจ ที่ว่าเรื่องการฝึกอบรมนี่สุดยอดมากๆ ก็หายากจริงๆ ครับ เรื่องการฝึกความ “พอเพียง” (เอาเป็นว่ามีน้อยมากๆ แต่มี) น่าตกใจหลักสูตร MBA มีแต่สอนหาเงินครับ ไม่มีหลักสูตรการรู้จักพอ น่ากลัวไหมครับ เอาเป็นว่าวัดนี่แหละครับที่พึ่งที่ดีที่สุด ส่วนวัดไหน ก็ได้ครับที่เป็นวัดปฏิบัติครับ เพราะของอย่างนี้ท่องจำในตำราไม่ได้ ต้องฝึกเอง มีพระอาจารย์คอยดูแลจะดีมากๆ ครับ
ส่วนพ่อแม่สอนลูก ถ้ารักลูกต้องสอนลูกเรื่อง "ความพอเพียง" ครับ มากๆ ด้วย ไม่ใช่เน้นแต่เปียโน กับจินตคณิต ไม่งั้นรับรองครับมันได้มาตะแง๊วๆ ขอซื้อเฟอร์บี้ทุกวัน พอซื้อมาก็ไม่พอ ก็ต้องหาอะไรให้มันอีก ถ้าไม่ทำไม่สอนเรื่องความพอเพียง ก็ตัวใครตัวมันครับ
สุดท้ายอยากบอกว่า
เราเลือกได้ครับว่า
จะใช้ชีวิตเยี่ยง“ สัตว์มนุษย์ ” ที่ไม่รู้จักคำว่าพอ ด้วยเรายอมแพ้ต่อวิวัฒนาการด้านชีววิทยาของเราเอง
หรือ เราจะใช้ชีวิตเยี่ยง “โพธิสัตว์” ที่รู้จักความพอเพียง (จริงๆ) ด้วยเราเลือกที่จะบ่มเพาะตนเอง เลือกที่จะเอาชนะวิวัฒนาการทางชีววิทยาของเรา จนมีสมองของ "ความพอ" ในที่สุด