กว่าจะประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในวงการการออกแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านวิกฤตมาหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจชะงักงัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจออกแบบด้วย เพราะแทบจะไม่มีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆเลย นั่นหมายถึงว่า ก็ไม่มีงานออกแบบด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ อะไรที่ไม่เคยทำ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำให้ได้ เพื่อความอยู่รอดทั้งขององค์กร และบุคลากร นั่นเป็นข้อดี ทำให้มีความรอบรู้ในเนื้องานมากขึ้น และเป็นจุดแข็งของบริษัทในที่สุด และด้วยประสบการณ์การทำงานอย่างโชกโชนในวงการออกแบบยาวนานกว่า 24 ปี ของโกวิท มโนภิรมย์ ประธานบริหาร บริษัท เอ พลัสเอส จำกัด ทำให้ฉายภาพตลาดการออกแบบได้อย่างชัดเจนว่า การออกแบบที่ดี ควรจะสอดรับกับสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ นั่นเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารที่สวยงาม การใช้งานเหมาะสม ที่สำคัญต้องคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป
ผลงานการออกแบบที่สร้างความภูมิใจ และสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัท คือการออกแบบธนาคารกรุงไทย สาขานครหลวงเวียงจันทร์ โรงแรมธาราอังกอร์ จังหวัดเสียมเรียบ กัมพูชา และสำนักงานใหญ่ บริษัท ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นการออกแบบที่ท้าทายมากพอสมควร เพราะเป็นการออกแบบให้กับต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเรียนรู้สภาพแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะวัฒนธรรมของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน ต้องมองให้ออกว่า จะออกแบบ และนำเสนอในรูปแบบที่จะตรงกับความต้องการของลูกค้า และสอดรับกับการใช้งานจริง
หลักคิดการทำงานนั้น จะยึดหลักการสร้างสรรค์งานคือรูปแบบอาคาร ซึ่งการออกแบบให้เป็นไปได้กับสภาพแวดล้อมที่อาคารตั้งอยู่ทั้งสภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม เท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีเท่าที่มีในตอนนั้น และสิ่งสำคัญคือ ความพอเพียง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ความพอใจสูงสุดของลูกค้า เมื่อลูกค้าพอใจถือว่าเราประสบความสำเร็จ ก็จะรู้สึกภูมิใจในผลงานไปด้วย บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน สถาปนิกไม่น้อยที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาดี แต่ระหว่างทางทำความเดือดร้อนกับคนทำงานมาก
งานออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นการตอบโจทย์ของผู้ใช้อาคาร แรงบันดาลใจน่าจะเกิดมาจากผู้ใช้อาคารเป็นหลัก เพราะแต่ละอาคารมีผู้เข้ามาใช้สอยต่างกัน แต่โดยภาพรวมคือให้เกิดความสะดวกสบายต่อผู้ใช้อาคาร ทั้งนี้ งานออกแบบจะปรับตามเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะสามารถทำให้รูปแบบในการออกแบบมีความหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท ไอยรา วานิช ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยี สมัยใหม่ที่รียกว่า easy build มาใช้กับงานออกแบบโรงงานที่ไม่ต้องการความซับซ้อน สามารถควบคุมเวลา และกำหนดงบประมาณได้ เหมาะกับโรงงาน โกดัง ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งเรียกได้ว่าสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในงานออกแบบได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เทคโนโลยีนั้นขึ้นอยู่ในงบประมาณการก่อสร้าง ระยะเวลาในการทำงาน รวมถึงความสวยงามของการวัสดุที่นำมาใช้ มีความคุ้มค่ากับงบประมาณก่อสร้างที่ตั้งไว้ ซึ่งนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นย่อมทำให้การสร้างสรรค์ผลงานดีขึ้น สะดวกและมีแนวทางในการออกแบบที่มากขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดี เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุค Thailand 4.0