xs
xsm
sm
md
lg

ผุดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 รุกปั้นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พนัส แอสเซมบลีย์ ริเริ่มโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) เป็นรายแรกของประเทศไทย ร่วมเข้าคอร์ส ติวเข้ม ผลักดันนวัตกรรมหรือไอเดียที่เป็นไปได้สู่การนำไปใช้จริงในภาคการขนส่ง เล็งจัดตั้งกองทุน หนุนสตาร์ทอัพ หวังต่อยอด Open Innovation เพื่อพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ให้แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเชื่อมโยงและยกระดับอุตสาหกรรมภาคการขนส่งของไทย

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจขนส่งมากว่า 47 ปี กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐได้ยกระดับสตาร์ทอัพให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไลหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ของประเทศ เราเห็นว่ายังไม่มีกิจกรรมใดที่ให้การสนับสนุนนวัตกรรมด้านการขนส่ง รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่ ที่เป็นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ หรือ LogTech จึงได้จัดทำโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีประกวดแนวคิดธุรกิจและโครงการด้านธุรกิจโลจิสติกส์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย”

“ไอเดียหรือนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ จะได้รับการสนับสนุนต่อยอดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบสนองอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ หรือระดับภูมิภาคต่อไป ซึ่งบริษัทฯ เองมีแผนจะพิจารณา จัดตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่ม LogTech เราเชื่อว่าหากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้อง และทันเวลา จะเกื้อหนุนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภาคโลจิสติกส์ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ทันสมัย เร็วขึ้น ลดต้นทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันให้เมกะโปรเจ็กต์ เช่น ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และ EECi รถไฟความเร็วสูง เกิดเร็วขึ้นหรือแข็งแรงขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ”

นายพนัสกล่าวเสริมว่า โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ที่จัดประกวดในหัวข้อ “Logistics Innovation” พร้อมเปิดกว้างทุกไอเดียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น ระบบบริหารคลังสินค้า การพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ หรือผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เช่น รถหรืออุปกรณ์สนับสนุนการขนส่งทางบก-อากาศ-น้ำ ตลอดจนการเชื่อมโยง ธุรกิจโลจิสติกส์เข้ากับธุรกิจอื่นๆ เช่น Logistics Market Place เป็นต้น โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ และกลุ่มนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาธุรกิจด้านโลจิสติกส์

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สวทช. โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Startup ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจ เติบโต และดำเนินกิจการ ได้อย่างประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามีการแบ่งเซ็กเตอร์ของสตาร์ทอัพออกเป็น 9 กลุ่ม อาทิ กลุ่มธุรกิจภาครัฐและการศึกษา (GovTech & EdTech) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคต (IndustryTech) กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) กลุ่มเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ (Propertytech) เป็นต้น แต่ยังคงมีเซ็กเตอร์หนึ่งที่ฝังตัวอยู่ในกลุ่ม IndustryTech คือ กลุ่มภาคการขนส่ง หรือ LogTech ซึ่ง ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. จึงร่วมมือกับบริษัทพนัสฯ ส่งเสริมสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ในรูปแบบประชารัฐ ภายใต้โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 นอกจากจะเป็นการค้นหาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์แล้ว โครงการดังกล่าว ยังเป็นสะพานเชื่อมสตาร์ทอัพเกิดใหม่ในกลุ่ม LogTech เข้ากับองค์กร บริษัทใหญ่ที่แสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบ Open Innovation ด้วย

“โลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต จัดอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ที่รัฐบาล กำลังส่งเสริมและผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) สู่ประเทศไทย 4.0 LogTech จึงเป็นเซ็กเตอร์ที่มีศักยภาพสูง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 จะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้ประกอบการ ในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ หรือผลงานนวัตกรรม ด้านโลจิสติกส์ ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม LogTech BoothCamp ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มาเติมเต็มความรู้ แนวคิด ปรับปรุงแผนธุรกิจ และเป็นการเตรียมความพร้อม ในการแข่งขันรอบพิชชิ่ง เพื่อเฟ้นหาแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้จริง จึงเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดการร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ รวมทั้งการสร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มโลจิสติกส์อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ชนะเลิศการประกวดผลงานในโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ทั้งยังได้รับโอกาสในการไปดูงานโลจิสติกส์โลก ที่ประเทศเยอรมนี รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ชนะการประกวด ไอเดียธุรกิจ LogTech รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น