โดย- ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้ก่อตั้ง ExcellenceResources
ผู้บริหารก็น่าจะเก่งที่สุดในองค์กรอยู่แล้ว ทำไมยังต้องมีโค้ชอีก?
Executive Coach หรือโค้ชผู้บริหาร ไม่ได้ทำให้ผู้บริหารทำงานได้ “เก่ง”ขึ้น แต่ทำให้ผู้บริหารทำงานได้ “ดี” ขึ้น คิดถี่ถ้วนมากขึ้น และตัดสินใจได้ดีขึ้น
บ่อยครั้งที่เราพบว่าผู้บริหารต้องนั่งทานอาหารกลางวันคนเดียว ท่านมีแต่ “ลูกน้อง” ซึ่งไม่ได้ทำตัวเหมือนเพื่อนร่วมงาน แต่ทำหน้าที่รับคำสั่งเป็นส่วนใหญ่ บรรยากาศในที่ทำงานแบบนี้อาจทำให้ผู้บริหารไม่ได้รับทราบข้อมูลรอบด้าน ขาดคนช่วยคอมเม้นท์อย่างจริงใจ ทำให้ตัดสินใจได้ไม่ดี
การมีโค้ชจึงเปรียบเสมือนมีเพื่อนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจนั้นมานั่งคุยกัน ฟังและสะท้อนความคิดให้กับผู้บริหาร ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้บริหารคิดได้ดีและชัดเจนขึ้น ตัดสินใจได้แหลมคมมากขึ้น
บางครั้งผู้ถือหุ้นหรือบอร์ดของบริษัทอาจจ้างโค้ชให้กับผู้บริหารเพื่อสนับสนุนในการทำภารกิจที่สำคัญบางเรื่องให้สำเร็จ เช่น ต้องการให้ขยายกิจการไปยังต่างประเทศ แต่ผู้บริหารอาจมีความลังเลหรือโครงการมีความล่าช้าจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ โค้ชก็จะทำหน้าที่ระดมความคิด ปรับมุมมอง ค้นหาศักยภาพรวมไปถึงการสร้างแรงใจให้กับผู้บริหาร เป็นต้น
องค์กรบางแห่งมีผลประกอบการที่ดีมาก แต่ก็มีการหมุนเวียนของพนักงานมากด้วยเช่นกัน หากผู้บริหารเป็นผู้สร้างมลพิษในองค์กรนั้นเอง แผนก HR ก็มักจะจัดหาโค้ชมาให้กับผู้บริหารเพื่อช่วยปรับพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อการทำงาน เช่น ไม่ไว้วางใจผู้อื่น พูดตะคอกเหมือนข่มขู่ หรือวางอำนาจบาตรใหญ่ เป็นต้น
จะเห็นว่าโค้ชผู้บริหารมีบทบาทที่หลากหลาย และบทบาทเหล่านี้คนภายในองค์กรก็ทำไม่ได้ ถึงแม้ไม่ได้ทำให้ผู้รับการโค้ชทำงานได้เก่งขึ้น แต่ก็สามารถทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุดจะส่งผลดีต่อบรรยากาศในการทำงานและผลประกอบการขององค์กรก็น่าจะดีขึ้นด้วย