อพท. รุดหน้า นำชุมชนท่องเที่ยวร่วมเชื่อมเส้นทางเที่ยวอาเซียน ประเดิมเชื่อมสัมพันธ์ ตราด- กัมพูชา (เกาะกง) ปลดล็อกขั้นตอน ผ่านเมืองที่ยุ่งยาก เอื้อประโยชน์นักท่องเที่ยวเดินทางซึ่งกันและกัน เรียนรู้วิถีชุมชนทั้งสองประเทศ ช่วยเพิ่มรายได้ท้องถิ่น สู่เป้าหมายสร้างความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน
นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รักษาการผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา อพท.ตราด ได้ลงนามความร่วมมือในสัญญา (MOU) กับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เพื่อส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน เพราะจังหวัดตราดมีแนวเขตชายแดนติดกับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ทำให้สามารถร่วมมือกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชาด้วย ซึ่งมีชุมชนท่องเที่ยวหลายแห่งที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
ความร่วมมือกันครั้งนี้ จะช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากในการผ่านด่านระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางระหว่าง 2 ประเทศได้ง่ายขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีการเติบโตมากขึ้นทั้งในแง่ของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การกระจายรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น โดยยึดหลักสร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้แหล่งท่องเที่ยวไม่ถูกทำลาย ขณะที่ชาวชุมชนมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยว
นายสุธารักษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวครั้งนี้ จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ในวิถีชีวิตชาวชุมชน โดยที่ชาวชุมชนสามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดิม แต่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการนำนักท่องเที่ยวไปดูกิจกรรมต่างๆในชุมชน เช่น การทำประมงชายฝั่ง รวมถึงขายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น โดยที่วิถีชีวิตประจำวันจะไม่เปลี่ยนไป
โดยที่ผ่านมา อพท. ตราดได้สำรวจเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพหลายแห่ง พบว่าชาวชุมชนยังมีวิถีชีวิตเช่นเดิม ใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดธรรมชาติ อพท. ตราด จึงเห็นว่า ควรจะเข้าไปช่วยชุมชนบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เพื่อรักษาแหล่งท่องเที่ยวให้มีสภาพเดิม ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มีเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ชาวชุมชนได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลไม้รูด ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลคลองใหญ่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลหาดเล็ก และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลแหลมกลัด ซึ่งแต่จะชุมชนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละชุมชน โดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลไม้รูด เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านจึงสามารถมีวิถีชีวิตและวิถีการผลิตที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นได้ เพราะตำบทไม้รู้ตั้งอยู่ติดชายั่งทะเลจึงมีความสมบูรณ์ของอาหารทะเล ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง สามารถสืบสานความเป็นชุมชนแหล่งแหล่งท่องเที่ยวคู่กันไป นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม้รูดยังมีนิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านไม้รูด ( Eco Museum of Mairoot) นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมความงามของแมงกะพรุนได้ตามกระแสน้ำและกระแสลมของทะเลตราดได้ตลอดเส้นทาง หาดเล็ก – คลองใหญ่
ขณะที่ตำบลหาดเล็ก เป็นพื้นที่สุดแดนติดกับกัมพูชา เป็นจุดที่แคบที่สุดของไทย นับจากยอดเขาที่แบ่งเขตแดน กว้างเพียง 450 เมตรเท่านั้น ด้านซ้ายเป็นภูเขา ด้านขวาเป็นทะเล มีเขตการค้าชายแดน มีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวชุมชน สามารถที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากหมู่เกาะช้าง เข้ามาท่องเที่ยวชุมชนเหล่านี้ ช่วยลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในหมู่เกาะช้าง ด้วยการกระจายการท่องเที่ยวสู่ชุมชน ส่วนบริเวณตำบลคลองใหญ่ เป็นประมงพื้นบ้านออกเรือเล็ก เกษตรกรรม มีชายหาด มีแนวชายทะเลยาว 100 กิโลเมตร มีหาดมุกแก้ว เป็นชายหาดบริสุทธิ์ มีความเป็นธรรมชาติมาก มีแมงกะพรุนหลากสี จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี
นายสุธารักษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมการทีองเที่ยวครั้งนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจังหวัดเกาะกง ของกัมพูชา ที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่รองรับการท่องเที่ยว สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการใช้กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) เชื่อมโยงการพัฒนาการท่องเที่ยวกับประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ รายงานจากศูนย์วิจัยด้านการตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดทำตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางสู่จังหวัดตราด ระหว่างปี 2556-2558 ดังต่อไปนี้ ปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยว 1,685,537 คน เติบโตจากปี ก่อนหน้า 3.67% ปี 2557 มีจำนวน 1,742,621 คน เติบโต 3% และปี 2558 มีจำนวน 1,864,064 คน เติบโต 6.97% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย ทั้งนี้ตัวเลขอัตราการเติบโตดังกล่าว เป็นการเติบโตที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากก่อนหน้านี้อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2554 และ 2555 จะเติบโตปีละ 53.44% และ 48.17% ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตที่ลดลงในปี 2556 อาจมาจากฐานจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นมาหลายปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม อพท. หวังว่า โครงการการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวประเทศกัมพูชานี้ จะมีส่วนช่วยให้จังหวัดตราดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งจากภายในประเทศและที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา