xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานฯ หนุนโรงงาน SMEs แปลงเครื่องจักรเป็นเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs แปลงเครื่องจักรเป็นทุน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท พร้อมชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อรับสิทธิประโยชน์

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถิติการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรช่วงไตรมาสแรก เดือนมกราคม-มีนาคม 2560 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมียอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรแล้ว 306 ราย จำนวน 1,639 เครื่อง รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนเครื่องจักร 21,383,461,711 ล้านบาท และในส่วนของตัวเลขยอดจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรช่วงไตรมาสแรก มีมูลค่าวงเงินจำนองกว่า 41,043,317,241 ล้านบาท

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรสูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ 113 ราย จำนวนเครื่องจักร 354 เครื่อง รองลงมาคือผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 53 ราย จำนวนเครื่องจักร 317 เครื่อง , การขัด การสี การโม่, การพิมพ์ ราย 53 ราย จำนวนเครื่อง 104 เครื่อง และผลิตภัณฑ์อโลหะอื่น 33 ราย จำนวนเครื่อง 56 เครื่อง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2515 ถึงปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรรวม 59,247 ราย จำนวน 808,994 เครื่อง รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนเครื่องจักร 5.8 ล้านล้านบาท

นายมงคล กล่าวต่อว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของ ปี2560 นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ ดำเนินโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเร่งส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในกิจกรรมการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และ กิจกรรมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยให้นำเครื่องจักรภายในโรงงาน เข้ามาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำใบจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับในการเข้าร่วมโครงการ ได้แก่

1.ได้รับเงินทุนหมุนเวียนและเครื่องจักรใหม่ โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องนำเครื่องจักรเดิมมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อจะได้รับเงินหมุนเวียนในกิจการหรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2. ได้รับสิทธิพิเศษด้านการเงิน ผู้ประกอบการจะได้วงเงินกู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท สามารถกู้ได้สูงสุดถึง 90% ของใบสั่งซื้อเครื่องจักร โดยดอกเบี้ย 4% ต่อปี ตลอดอายุสัญญาและสามารถผ่อนนานได้ถึง 7 ปี โดยปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

3.ได้รับการยกเว้นภาษี ผู้ประกอบการจะได้ยกเว้นอากรขาเข้าของเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินทุนโดยไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ได้ดำเนินการอยู่เดิมแล้ว

4.ได้รับ Fast Track จดทะเบียน ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรผ่านช่องทางพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SME ได้รวจเร็วทันใจ ภายใน 3 วัน

5.ได้รับคำแนะนำ ผู้ประกอบการทุกท่านจะได้รับคำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการเพื่อการประหยัดพลังงาน และคำแนะนำในการลดต้นทุนทั้งในด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และได้นวัตกรรมใหม่ๆ ใช้ในการต่อยอดประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs ยื่นขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 500 ราย และผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการให้คำปรึกษาแนะนำในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และสามารถนำเครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 1,000 เครื่อง เพื่อยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับธนาคารไว้ 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเกียรตินาคิน วงเงินที่จะปล่อยสินเชื่อได้รวม 10,400 ล้านบาท รวมถึงสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ในด้านการนำเข้าเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลัดดันและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น