xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสความสำเร็จการขยายตลาดสู่ฮาลาลในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย - ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล และ ลลิตา งามโขนง นักวิจัย ศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

โอกาสมหึมาของตลาดฮาลาลที่ไม่อาจมองข้าม

ตลาดฮาลาลถือเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นตลาดที่มิได้จำกัดเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นทั้งธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายภูมิภาค ทั้งตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาและเอเชีย ด้วยเม็ดเงินไหลหมุนเวียนมหาศาลพร้อมกับการคาดการณ์ของจำนวนประชากรมุสลิมที่จะเพิ่มขึ้นถึง 2.8 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2593 หรืออัตราการเติบโตที่ร้อยละ26.4 นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของตลาดและผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้นขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 8 ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกหลายประเทศทั้งในกลุ่มสินค้าอาหารและอุปโภคบริโภคสนใจที่เจาะตลาดฮาลาลกันอย่างจริงจัง ความท้าทายจึงอยู่ที่การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ให้ตอบโจทย์ของโลกของตลาดฮาลาลที่กำลังเติบโตอย่างทันท่วงที

เริ่มจากเพื่อนบ้านในประชาคมก่อนออกสู่ตลาดโลก

ด้วยขนาดของตลาดที่มีความน่าสนใจและจำนวนประชากรที่มีการเติบโตทั้งในภูมิภาคและระดับโลก ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับประชาคมอาเซียนด้านการวางยุทธศาสตร์ในฐานะศูนย์กลางฮาลาล (Halal Hub) เพื่อตอบโจทย์ประชากรทั้งในและนอกภูมิภาค ถ้ามองตัวเลขของประเทศที่มีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกนั้นอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อมองอีกมิติหนึ่ง ก็พบว่า จากจำนวนประชากรในอาเซียนกว่า 600 ร้อยล้านคนนั้น หนึ่งในสามของประชากรอาเซียนอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 250 ล้านคน เมื่อรวมกับมาเลเซียและบรูไนดารุสซาราม ตลาดภายในอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มาก โดย 53% ของประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองและใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ (Urbanization) อีกทั้งมีทรัพยากรแรงงานมากซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน โดยมีค่าแรงถูกกว่าไทย ประมาณ 4 เท่า นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2554 - 2568) โดยได้อนุมัติเงินลงทุนจำนวน 4.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 72 เป็นการลงทุนจากภาคเอกชน หากมองทางด้านความร่วมมือ ทางรัฐบาลจะลดหย่อนภาษีให้ในส่วนวัตถุดิบและเครื่องจักรหากวางแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากอินโดนีเซียสำหรับผู้ประกอบการจากภายนอก

“ถ้าเราบุกตลาดอินโดนีเซียได้ เราก็สามารถไปตลาดมุสลิมในระดับโลกได้เช่นกัน”

คุณปรญา คุณาเทียน ผู้บริหารและทายาทน้ำปลาตราปลาหมึกรุ่นสาม

หัวใจของฮาลาลอยู่ที่ความเชื่อมั่น

กระบวนการฮาลาล หรือ Halalization ถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่เป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการเพิ่มอำนาจการซื้อสำหรับกลุ่มลูกค้าในโลกมุสลิม อีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจในประชาคมอาเซียนคือ ประเทศมาเลเซีย โดยความตั้งใจของรัฐบาลอยู่ที่การมีเป้าหมายสร้างรายได้ของประชากรเพิ่มขึ้นจากระดับ 6,700 เหรียญสหรัฐ/คน/ ปี เป็น 15,000 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี และสนับสนุนการพัฒนาให้ภาคการค้าบริการเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ มาเลเซียมีนโยบายเปิดเสรีภาคบริการให้แก่บริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยปลอดข้อบังคับในการนำเงินออกนอกประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เดินทางไปลงทุนในมาเลเซียจึงสามารถนำเงินกลับประเทศได้ทั้งหมด นอกจากนี้ มาเลเซียจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Industry Development Centre) โดยมีพันธกิจหลักในการวางเป้าหมายให้ฮาลาลไปสู่อุตสาหกรรมระดับโลก อีกนัยหนึ่ง หากผู้ประกอบการจากไทยเข้าสู่กระบวนการมาตรฐานฮาลาลของมาเลเซียได้ น่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่สำคัญของสินค้าไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดโลก มาเลเซียเป็นตลาดอาหารฮาลาลขนาดใหญ่ และมีมาตรฐานสินค้าที่กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ให้การยอมรับ

โอกาสทางธุรกิจของฮาลาลมีมากกว่า “อาหาร”

โอกาสของตลาดฮาลาลมีมากกว่าอาหารรวมไปถึงสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า ความงาม ผลิตภัณฑ์ส่วนตัว ท่องเที่ยวและบริการ อย่างกรณีของสีทาเล็บสูตรฮาลาลกับการละหมาดตามหลักศาสนาที่ต้องดำเนินการวันละ 5 ครั้ง ด้วยนวัตกรรมล่าสุดได้มีการพัฒนาสีทาเล็บที่สามารถทำให้น้ำและอากาศแทรกซึมผ่านเล็บได้ จึงไปสู่การตอบโจทย์ของตลาดเครื่องสำอางแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์สปาและธุรกิจด้านบริการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจอันดับต้นๆ ของประเทศที่สร้างรายได้ หากมีการปรับประยุกต์ให้ตอบโจทย์ตามหลักฮาลาลได้ ก็จะไปสู่ตลาดช่องทางใหม่ในภูมิภาค นอกจากนี้ นวัตกรรมกับความงามตามหลักศาสนาได้มีการก้าวกระโดดในการพัฒนาผ้าคลุมผมสตรีมุสลิมที่มีส่วนผสมในการบำรุงรักษาผม และสามารถใช้ได้จริงสอดคล้องตามแนวทางของศาสนาอิสลาม

ควรสัมผัสตลาดฮาลาลจริงที่เพื่อนบ้านอาเซียน

ยุทธศาสตร์ในการเข้าถึงตลาดสำหรับผู้ประกอบการจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ การเข้าใจถึงวิถีวัฒนธรรม รสนิยมและความชอบของคนในท้องที่ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องไขความลับวิถีฮาลาลสู่ธุรกิจ พร้อมถอดรหัสความสำเร็จผ่านประสบการณ์จากนักธุรกิจจริงที่บุกตลาดฮา ลาลในอาเซียน พร้อมสัมผัสตลาดสินค้ามุสลิมอย่างลึกซึ้งในช่วงเดือนรอมฎอนที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดของชาวมุสลิม ผ่านหลักสูตร ASEAN Entrepreneur Club หรือ AEC Club พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Knowledge-Network-Opportunities โดยศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา นิด้า ร่วมกับ C asean ในรูปแบบหลักสูตรสัมมนาธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการสู่ประชาคมอาเซียน จากความสำเร็จมาแล้วถึง 3 รุ่น ในตลาดประเทศเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมา ในปี 2560 นี้ AEC Club เจาะตลาดสินค้าฮาลาลในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “Strategies for the Halal Market in ASEAN” ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ที่มา Euromonitor.com, Pew Research Center, fti.or.th, hdcglobal.com & dtn.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น