Q : อยากกระตุ้น ลูกน้องคนหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างอาวุโส ให้เปลี่ยนการทำงานแบบ Manual ไปเป็นแบบ Automatic แต่เนื่องจากความอาวุโส ทำให้ไม่ค่อยเปิดรับ ควรทำอย่างไรดี
A : ทุกพฤติกรรมมีเหตุผล (ของผู้กระทำ) ดังนั้น อย่าเพิ่งตัดสินว่าพี่ท่านนี้ “ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง”
ทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ที่ได้รับการพูดถึง มากที่สุดในโลก คือ “การเป็นผู้นำ ตามสถานการณ์” (Situational Leadership) สอนให้ผู้นำ ต้องรู้จัก “วินิจฉัยก่อนสั่งยา”
พนักงานไม่ทำตามที่หัวหน้าคาดหวัง อาจมีสาเหตุมาจาก การขาดความรู้ความสามารถ (Ability) ที่จะทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย หรือ เป็นเพราะขาดแรงจูงใจ (Willingness) ในการทำสิ่งนั้นๆ
ผู้นำต้องค้นหา สาเหตุที่แท้จริงให้พบก่อน จึงค่อยหาทางบริหารจัดการ
หากปัญหาเกิดมาจาก การขาดความรู้ความสามารถ การค่อยๆ ให้ความรู้ทีละน้อยและให้โอกาสทดลองทำดู ให้เวลาอย่าเพิ่งรีบกดดัน การช่วยให้เกิดความสำเร็จเล็กๆ จะช่วยสร้างความมั่นใจและความกล้าที่จะทำมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่การได้มีโอกาสลงมือทำ จะช่วยเพิ่มทักษะและ ความรู้ความสามารถของพนักงานให้มากขึ้น ในระยะยาว หวังว่าเขาจะสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีขึ้น
แต่หากปัญหาเกิดมาจาก การขาดแรงจูงใจ ที่จะทำ ต้องหาสาเหตุให้เจอ เป็นไปได้ไหมที่เขาไม่อยากเปลี่ยนการทำงาน จากแบบ Manual ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของเขา ไปสู่การทำงานแบบ Automation ซึ่งไม่จำเป็นต้อง อาศัยความชำนาญอีกต่อไป อาจทำให้รู้สึกว่า ตนเองหมดความสำคัญ ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตการทำงานเริ่มไม่มั่นคง เพราะองค์กรไม่จำเป็นต้องมีเขาในอนาคต ก็เป็นไปได้ ดังนั้น หากหาสาเหตุพบและ แก้ไขปัญหาได้ที่ต้นตอ โอกาสที่พนักงาน จะกลับมาสนใจและ ตั้งใจทำงานเหมือนเดิม หรือมากขึ้นกว่าเดิม ก็มีความเป็นไปได้
หากพนักงาน มีปัญหาทั้งเรื่องความรู้ ความสามารถและ ความสนใจใส่ใจที่อยากจะทำ ให้เริ่มต้นจากประเด็นเรื่องแรงจูงใจก่อน เพราะหากคนสนใจอยากทำ การเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ความสามารถ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากพนักงานไม่อยากทำ การให้ความรู้และ เครื่องมือต่างๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และไม่สามารถช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงได้
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th