จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านแรงงานต้นปี 2560 ว่า จากฐานข้อมูลของเว็บไซต์พบว่าอัตราความต้องการแรงงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 โดยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 60,548 อัตรา ภาคตะวันออกจำนวน 9,400 อัตรา ภาคกลางจำนวน 3,177 อัตรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 2,280 อัตรา ภาคเหนือจำนวน 1,036 อัตรา และภาคใต้จำนวน 986 อัตรา ส่วนกลุ่มสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย จำนวน 18,313 อัตรา งานช่างเทคนิคสายต่างๆ-ซ่อมบำรุง จำนวน 8,090 อัตรา งานวิศวกรรม จำนวน 6,564 อัตรา งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ จำนวน 5,996 อัตรา และงานบริการ จำนวน 5,571 อัตรา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือนธันวาคม 2559 พบว่าความต้องการแรงงานด้านการขาย การบริการ และการซ่อมบำรุง ทั่วประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนคน
นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยในช่วงปลายปีจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำประมาณ 37 ล้านคน โดยจำนวนของผู้มีงานทำนั้นได้กระจายการทำงานอยู่หลากหลายสาขาอาชีพ นอกจากนี้ ยังพบว่าสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มการขาย การบริการ และการซ่อมบำรุง ที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 1.7 แสนคน
จากข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับฐานข้อมูลของเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1.2 ล้านคน รวมถึงบริษัทและองค์กรชั้นนำอีกมากมาย พบว่าความต้องการแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนงานอยู่ที่ 60,548 อัตรา รองลงมาคือภาคตะวันออก จำนวน 9,400 อัตรา ภาคกลาง จำนวน 3,177 อัตรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2,280 อัตรา ภาคเหนือ จำนวน 1,036 อัตรา และภาคใต้ จำนวน 986 อัตรา ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 เพิ่มขึ้น 1.6 % ส่วนสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย จำนวน 18,313 อัตรา งานช่างเทคนิคสายต่างๆ-ซ่อมบำรุง จำนวน 8,090 อัตรา งานวิศวกรรม จำนวน 6,564 อัตรา งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ จำนวน 5,996 อัตรา และงานบริการ จำนวน 5,571 อัตรา
นอกจากนี้ จ๊อบไทยดอทคอม ยังได้วิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของสาขาอาชีพในช่วงระหว่างปี 2557-2560 พบว่าอาชีพที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานผลิต-งานควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 33% งานด้านบริการ คิดเป็น 17% งานโยธา-สถาปนิก คิดเป็น 14% งานการตลาด คิดเป็น 6% และงานวิศวกรรม คิดเป็น 3% ส่วนกลุ่มงานที่มีแนวโน้มการเติบโตลดลง ได้แก่ กลุ่มงานด้านภูมิศาสตร์ ลดลง 68% งานสื่อสิ่งพิมพ์ ลดลง 57% งานอัญมณี-เครื่องประดับ ลดลง 45% และงานนักเขียน-บรรณาธิการ ลดลง 32% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การที่กลุ่มงานผลิตและบริการมีอัตราความต้องการแรงงานเฉลี่ยเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการขยายตัวดีตามไปด้วย ส่วนกลุ่มงานสื่อสิ่งพิมพ์ มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนเริ่มถูกแทนที่ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในการบริโภคข่าวสารในชีวิตประจำวันมากขึ้นนั้นเอง นางสาวแสงเดือน กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งรายงานสถานการณ์ผู้ว่างงานของไทยประจำเดือนธันวาคม ปี 2559 ที่มีจำนวนกว่า 3 แสนคน อาจเป็นตัวเลขที่ดูค่อนข้างน่าตกใจ แต่ภาวะการว่างงานจะเป็นไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อตลาดความต้องการแรงงานในประเทศไทยเปลี่ยนไป ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้น ไม่อยากให้คนที่กำลังมองหางานรู้สึกวิตกกังวลจนเกินไป เพราะบางตำแหน่งงานมีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มงานขาย ที่มีจำนวนความต้องการแรงงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ฉะนั้น หากแรงงานไทยมีการพัฒนาด้านทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพที่กล่าวมา รวมถึงติดตามความต้องการของตลาดแรงงานอยู่ตลอดเวลาก็จะช่วยเสริมโอกาสในการได้งานที่มากขึ้นเช่นกัน นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย