กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวง ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกาศรายชื่อ 7 องค์กรไทยคุณภาพ ทั้งองค์กรรัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินกิจการทั้งในภาคการผลิต การบริการ และสาธารณสุข ที่ผ่านเกณฑ์คว้ารางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2559 ได้สำเร็จ ในงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว ให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล สำหรับในปีนี้ ไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA)
สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงรางวัลคุณภาพแห่งชาติกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลิตภาพของประเทศให้พร้อมมุ่งสู่ 4.0 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของรางวัลคุณภาพแห่งชาติว่า เมื่อองค์กรธุรกิจในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่รวดเร็วในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี 4.0 รางวัลคุณภาพแห่งชาติถือเป็นแนวทางที่จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จโดยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ในด้านกระบวนการ ด้านสินค้าและบริการ ด้านการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับผลิตภาพและปรับปรุงองค์กรให้ได้ตามมาตรฐานระดับสากล พร้อมรับมือกับการปรับเปลี่ยนสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อันเป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างความได้เปรียบในตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศและส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพโดยรวมของประเทศต่อไป”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ในฐานะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ในปี 2559 โดยมีจำนวนองค์กรที่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 7 องค์กร ดังต่อไปนี้ 1.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)2.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 3.บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด 4.บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 5.บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด 6.โรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ7.โรงไฟฟ้าบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ รวมทั้งประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติว่า องค์กรที่ดำเนินการตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล หากองค์กรทั้งหลายนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเข้าไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดในทุกขั้นตอน เริ่มต้นจากการประเมินตนเอง ผู้บริหารจะทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงว่าระบบการบริหารจัดการยังขาดตกบกพร่องในเรื่องใด จึงสามารถกำหนดวิธีการและเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดทำแผนปฏิบัติการ และเมื่อองค์กรปฏิบัติตามแผนจนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และตัดสินใจสมัครรับรางวัล องค์กรจะได้รับการตรวจประเมินด้วยกระบวนการที่มีประสิทธภาพ และจะได้รับรายงานป้อนกลับซึ่งระบุจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนปรับปรุงองค์กรให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทและการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี 2559-2560 ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ได้ผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ นำเกณฑ์รางวัลไปใช้พัฒนาการบริหารจัดการองค์กร ผ่านกิจกรรมสัมมนาและฝึกอบรม ซึ่งเกณฑ์รางวัลช่วยให้เกิดการบูรณาการกระบวนการบริหารจัดการไปสู่ผลลัพธ์ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน จนส่งผลให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีผลให้ภาคส่วนต่างๆ นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้เป็นกรอบการพัฒนาเกณฑ์รางวัลอื่นๆ ในภาครัฐและเอกชนอย่างแพร่หลาย
อีกทั้งยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ของโลกมีโดยอ้างอิงจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ว่าเกณฑ์รางวัลในปี พ.ศ. 2559 -2560 กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับความสามารถขององค์กรในการสร้างให้เกิดคามเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร 2) Big data มุ่งเน้นการจัดการวิเคราะห์ข้อมูล การคงสภาพข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกเชิงกลยุทธ์จากหลากหลายแหล่งที่มาที่แตกต่างกัน และ 3) การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับในอนาคต เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติจะคำนึงถึงเรื่อง Cybersecurity หรือกระบวนการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสาร ระบบและเครือข่ายที่ใช้ในการเก็บ และ Enterprise Risk Management (ERM) หรือการตัดสินใจขององค์กรในการจัดการกับความเสี่ยง โดยองค์กรต้องสร้างสมดุลระหว่างระดับของความเสี่ยงกับการสร้างความยั่งยืนและโอกาสในการสร้างนวัตกรรม