xs
xsm
sm
md
lg

ถูกบังคับให้ลาออก เพราะทำงานเสริม ทำยังไงดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
Q : ผมทำงานอยู่บริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง เนื่องจากเงินเดือนน้อย จึงต้องทำงานเสริมโดยการขายของออนไลน์ไปด้วย อยู่มาวันหนึ่ง บริษัทบังคับให้เขียนใบลาออก บอกว่าเป็นเพราะผมทำงานอื่น ขณะที่ยังเป็นลูกจ้างของบริษัท ในวันที่ยืนใบลาออก HR ให้ฝ่ายกฎหมายมานั่งขู่ และยึดโทรศัพท์มือถือไว้ บอกว่าถ้าไม่เขียนจดหมายลาออก จะยึดมือถือไป เขามีสิทธิ์ทำแบบนี้ด้วยเหรอครับ
 
 

A : แบ่งเป็น 2 ประเด็นนะครับ 1. ทำงานเสริม ผิดไหม และ 2. ยึดโทรศัพท์มือถือไว้ แล้วให้เขียนจดหมายลาออกได้หรือเปล่า

ขอตอบเป็นข้อๆ

1. ทำงานเสริม ผิดไหม - องค์กรส่วนใหญ่ มักมีข้อความระบุในสัญญาจ้าง ว่าพนักงานจะต้องไม่ทำงานอื่น ที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้ง (Conflict of Interest) หรือใช้เวลารวมทั้งทรัพยากรขององค์กร ไปเพื่อการอื่นนอกเหนือจากงาน ที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นกรณีนี้ ต้องดูข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยว่า

ก. ในสัญญาจ้าง มีข้อความอะไร ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขียนไว้หรือไม่ แล้วเราทำผิด จากข้อกำหนด หรือกติกานั้นหรือเปล่า

ข. ในการขายของออนไลน์ คุณใช้เวลาตอนไหนทำ เวลางาน หรือนอกเวลางาน ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ทของใคร ในการซื้อขายของคุณเอง หรือขององค์กร เป็นต้น

ค. งานที่ทำ เข้าข่ายมีผลประโยชน์ ขัดแย้งกับธุรกิจ ที่บริษัททำอยู่หรือเปล่า

หากปรากฏว่า คุณใช้เวลา หรือทรัพยากรขององค์กร ไปทำงานเสริมส่วนตัว ก็มีความผิดแน่ๆ แต่จะต้องโทษสถานใด ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับ ของบริษัท ต้องไปดูกฎกติกา ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกที

แต่ถ้าว่ากันตามแนวที่องค์กรใหญ่ๆ ถือปฏิบัติกัน ก็ต้องตอบว่า การทำงานอื่นเสริมด้วย เป็นเรื่องที่ไม่สมควร หากจำเป็นต้องทำงานเสริมจริงๆ ควรพูดคุยเพื่อขออนุญาตให้ชัดเจน เพราะเรื่องทำนองแบบนี้ เข้าข่ายผิดจริยธรรม หรือจรรยาบรรณในการทำงาน

2. ยึดโทรศัพท์มือถือไว้ แล้วให้เขียนจดหมายลาออก ได้หรือไม่ -- ข้อนี้ตอบยาก เพราะไม่รู้ว่าในความเป็นจริง ณ ขณะนั้น คนที่ยึดโทรศัพท์ไว้ ใช้วิธีการอย่างไร และพูดว่าอะไร แต่หากว่ากันตามสามัญสำนึก ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเข้าข่ายบังคับข่มขู่ ขืนใจให้ต้องทำในสิ่งที่ตนเองไม่อยากทำ อาจมีความผิด ในแง่กฎหมายด้วย (แต่เนื่องจาก ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้) อันที่จริง หากคุณมีพยาน และหลักฐานชัดเจนว่า เขาปฏิบัติกับคุณอย่างนั้นจริงๆ ลองปรึกษาสภาทนายความดู(www.lawyerscouncil.or.th) เขามีหน่วยงาน ที่ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือช่วยเหลือด้านกฎหมายไว้บริการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีนี้ วิธีการที่เหมาะสม ผมคิดว่าองค์กร หรือฝ่ายบริหารควรใช้วิธีการพูดคุยกันดีๆ หากเป็นความผิดครั้งแรก ก็น่าจะตักเตือนก่อน เพราะการกระทำบางอย่าง ต้องดูที่เจตนาด้วย ทำแบบนี้ย่อมมีผลกระทบต่อขวัญ และกำลังใจของพนักงาน ที่ยังคงทำงานอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหา ในการบริหารจัดการได้ในอนาคต

ในส่วนของพนักงาน ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ถ้าจะให้ดี ควรพูดคุย หรือปรึกษาหารือ กับหัวหน้างานโดยตรงก่อน ในทำนอง “น้องปรึกษาพี่” ไม่ใช่ “ลูกน้องปรึกษาเจ้านาย” เพราะเรื่องทำนองแบบนี้ แต่ละองค์กร มีความเข้มงวดไม่เหมือนกัน

 

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น