โดย - ดร. วรพรรณ เอื้ออาภรณ์
ผู้เชียนหนังสือ” ไม่เก่ง...ก็เก่งได้ ด้วยกระบวนการโค้ช” และ” DNA CSR แบบไทยๆ ตามกระแสโลก”
Coach Associate Certified Coach (ACC), International Coach Federation (ICF), USA.
การโค้ชคืออะไร?
จากกระแสการโค้ช (Coaching) ที่กำลังเป็นที่นิยมและพูดถึงบ่อยมากในทศวรรษนี้ หลายท่านอาจจะเคยสงสัยว่า การโค้ช (Coaching) คืออะไร แล้วจะใช้เทคนิคการโค้ช การคิดแบบโค้ช การตั้งคำถาม การให้ข้อมูลป้อนกลับ การฟังแบบโค้ช เพื่อชีวิตดี๊ดีได้อย่างไร แล้วการโค้ชจะสามารถเพิ่มศักยภาพและเพิ่มความสุขของคุณและคนที่คุณรักได้อย่างไร?
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า
Coaching เหมือนหรือแตกต่างกับอบรม (Training) ที่ปรึกษา (Consultant) พี่เลี้ยง (Mentor) ที่ปรึกษา (Consultant) หรือผู้ให้คำแนะนำเชิงจิตวิทยา (Counselor) อย่างไร
ความต่างอยู่ที่กระบวนการคะ
ลองดูในแผนภูมิ APSI Model (อ่านว่า แอ็บสิ)
ซึ่งแสดงไว้สี่แกนด้วยกัน คือ
A = Ask ถาม
I = Inform (บอก/แจ้ง)
P = Problem (ปัญหา)
S = Solution (ทางแก้ไข)
แผนภูมิ APSI Model ซึ่งแสดงความแตกต่างระหว่าง Coaching กับ Training, Mentor, Consultant, หรือ Counselor
สำหรับโค้ชจะอยู่ตรงแกนระหว่างการถาม (Ask) ไปที่ทางออก (Solution)
เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการโค้ช (Coachee) ได้หาคำตอบ
หรือทางออกได้ด้วยศักยภาพของตนเอง
โดยโค้ชจะมีหลายเทคนิค
ในการตั้งคำถามบนวัตถุประสงค์ของโค้ชชี่
ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่บนความคิดหรือความต้องการของโค้ช
ฉะนั้นกระบวนการโค้ชจึงห้ามชี้นำหรือชี้แนะ
ส่วน Counselor (เคา'เซิลเลอะ) เป็นคำนาม แปลว่า ผู้ให้คำแนะนำเชิงจิตวิทยา ซึ่งจะมีความหมายต่างจาก Consultant ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผู้ให้คำปรึกษา ที่ปรึกษา
โดย Counselor จะอยู่ระหว่างแกนการถาม (Ask) และมุ่งไปที่ปัญหา (Problem) ในขณะที่Consulting จะอยู่ระหว่างแกน Inform and Problem คือ การบอกให้ทำโดยมุ่งที่ปัญหา
ฉะนั้นมุ่งไปที่ปัญหาเหมือนกัน
แต่ Counselor เน้นการถามไปที่ปัญหาเชิงจิตวิทยา อาทิ เพราะอะไรคุณถึงรู้สึกเศร้า สิ้นหวังต่อการทำงานในปัจจุบัน หรือ ที่คุณบอกว่าคุณรู้สึกโกรธแม่ ไม่รักแม่เพราะอะไร
ส่วน Consulting เน้นการบอกไปที่ปัญหา เช่น ที่คุณรู้สึกเศร้า สิ้นหวังในการทำงานในปัจจุบันเพราะคุณไม่เห็นอนาคตในการพัฒนาในตำแหน่งของคุณ หรือคุณคิดว่าเจ้านายไม่ยุติธรรม
คราวนี้คงจะมองภาพออกแล้วนะคะ
สำหรับการอบรม (Training) การสอน (Teaching) และพี่เลี้ยง (Mentor) จะอยู่ในแกน Inform และ Solution คือ การบอกหรือแจ้ง ให้ทำเพื่อไปที่ทางออกไปเลย
อาทิ อย่างเวลาเราเข้าเรียนในการอบรม การสอนต่างๆ อาจารย์ วิทยากรหรือเทรนเนอร์ และพี่เลี้ยง (Mentor) ก็จะบอกหรือสอนเลยว่า วิธีการทำ การดำเนินงาน การบริหารงาน การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพต้องทำอย่างไรบ้างเป็นต้น
อีกคำหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ Facilitator หรือวิทยากรกระบวนการ คือ คนที่ช่วยอำนวยความสะดวก เอื้อให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินต่อไปได้
สำหรับความต่างและเหมือนกันของโค้ช กับ Facilitator
จำง่ายๆ นะคะว่า
Coach สามารถเป็น Facilitator ได้ด้วยการใช้ความสามารถทางด้าน Facilitator แต่ Facilitator ไม่สามารถเป็นโค้ชได้
เพราะกระบวนการของโค้ชเน้นการใช้คำถาม
แต่ Facilitator จะเน้นเพียงการดำเนินการตามกระบวนการเท่านั้น
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจาก
Coach สามารถเป็น Facilitator ได้ด้วยการใช้ความสามารถหรือทักษะทางด้าน Facilitator มาผสานกระบวนการ (Process Coaching)
แต่ Facilitator ไม่สามารถเป็นโค้ช ได้
เนื่องการโค้ชเป็นการใช้คำถามอย่างเป็นกระบวนการ (Process Coaching)
กระตุ้นให้เกิดอาการตระหนักรู้ (Insight) ด้วยตัวเองด้วยการเกิดอาการ A-HA Moment ซึ่งเป็นทักษะที่ Facilitator ใช้ในกระบวนการน้อยมาก
ทั้งหมดนี้คือข้อแตกต่างของแต่ละกระบวนการ
แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ "ความเป็นผู้ให้" และ"ผู้ปรารถนาดี"
ในการที่จะช่วยเหลือและสร้างความสุขให้เกิดแก่ผู้อื่น
โค้ชทำหน้าที่ให้โค้ชชี่ได้คิดและตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อการปลดปล่อยศักยภาพที่ถูกกักขังของคุณได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มความสุขของคุณ และความสุขของคนที่คุณรักได้ด้วย