xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เร่งเดินหน้าภารกิจ เจาะใจ”วสันต์”ขับเคลื่อนบนความท้าทาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เดินหน้าเตรียมความพร้อมองค์กร ตั้งหลักรุกภารกิจ มุ่งขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย “วสันต์ ภัยหลีกลี้” ผจก.กองทุนฯ คนแรกชี้ “การมีส่วนร่วม”ของทุกภาคส่วนเป็นแนวทางมุ่งสู่ความสำเร็จ ล่าสุดเปิดเวทีจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาส” ระดมคนในวงการสื่อบอกเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิด

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงภารกิจหลักของกองทุนฯ ว่า มี 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง-การส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น สอง-การรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะการส่งเสริมในเด็ก เยาวชน และครอบครัว สาม-การเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสี่-การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภารกิจเหล่านี้ประสบผลสำเร็จคือการมีส่วนร่วม เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของกองทุนฯ หรือภาครัฐ หรือภาคเอกชนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นบทบาทร่วมกันของทุกภาคส่วน ถ้ามองในแง่คนผลิต ต้องมองในแง่ผู้รับสาร แง่วิชาการ แง่ผู้บริโภค เพราะทุกคนมีส่วนในการที่จะทำให้เกิดสื่อที่ดีในสังคม เช่น อาจจะมีผู้ผลิตบอกว่า ที่ผลิตสื่อแบบนี้เพราะคนอยากดูหรืออยากอ่าน ถ้าไม่มีคนดูหรือคนอ่าน ก็จะไม่ผลิตสื่อแบบนี้ ในทางกลับกัน ผู้บริโภคบอกว่า ก็มีแต่สื่อแบบนี้ที่ผลิตออกมาเหมือนๆ กัน ไม่แตกต่างกัน ไม่มีทางเลือกเท่าที่ควร หรือไม่มีอะไรสร้างสรรค์พอคือแทนที่จะตำหนิกันไปมา หรือบอกว่าเป็นหน้าที่ของอีกฝ่าย เรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงควรเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกัน

ผู้ประกอบการหรือฝ่ายวิชาชีพก็สำคัญมาก โดยเฉพาะวันนี้สื่อใหม่ๆ เข้ามา ประชาชนเป็นผู้ผลิตสื่อเองได้ ผู้ประกอบวิชาชีพยิ่งต้องยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อที่จะได้แตกต่าง ไม่เช่นนั้นสื่อมืออาชีพจะไม่แตกต่างอะไรจากคนทั่วไปเลย ขณะเดียวกัน ถ้าต้องการเห็นการผลิตสื่อที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้น หรือการบริโภคสื่อที่มีคุณภาพขึ้น บางทีผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานสูงก็จะเป็นแบบอย่างให้คนทั่วไปได้เห็นว่า นี่คือแบบอย่างในการทำสื่อที่ดีที่ควรจะเป็น

สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นสื่อหลัก เป็นสื่อเก่าแก่ แต่สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในวันนี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่ยากลำบากถามว่ากองทุนฯ จะเข้าไปช่วยอะไรสื่อสิ่งพิมพ์ได้บ้าง โจทย์ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสื่อที่ดี สื่อที่ปลอดภัย สำหรับสังคม สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป โดยจะไม่ได้ไปสนับสนุนในลักษณะที่ปัจเจกหรือรายใดรายหนึ่ง แต่มองในภาพรวม ว่าทำอย่างไรกองทุนฯ จะมีส่วนหรือทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สื่อสามารถดำรงอยู่ได้และสามารถทำหน้าที่สื่อที่ดี มีจรรยาบรรณ มีจริยธรรม เพื่อทำให้เกิดสื่อดีในภาพรวมของสังคม ซึ่งการจัดงานเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ“สื่อสิ่งพิมพ์:;วิกฤติคือโอกาส”ที่ผ่านมา ก็เพื่อให้การปรับตัวในครั้งนี้ แต่ละคนไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป

“เมื่อสื่อในปัจจุบันมีมากมายมหาศาล ต่างจากในอดีตอย่างมาก สื่อเปลี่ยนไปอย่างพลิกฟ้าพลิกดิน ทุกคนไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับสื่อ แต่เป็นผู้ผลิตสื่อ เฉพาะในไทยนับเป็นหลายล้าน และไม่มีพรมแดน สามารถเชื่อมต่อกันทั่วโลกเป็นหลายพันล้าน วันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ ขณะที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างเชี่ยวกราก รวดเร็วมาก จากทั่วทุกสารทิศและทุกมุมโลก ดังนั้น การจะทำอย่างไรให้คนตระหนักถึงสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันสื่อ นี่คือความท้าทาย”

“ผมมาจากการสรรหาเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ มีวาระ 4 ปี เมื่อกองทุนฯ นี้เกิดใหม่ การเข้ามาในตำแหน่งผู้จัดการคนแรกก็ต้องมาเริ่มต้นการทำงานในลักษณะบุกเบิก ตรงนี้ก็เป็นความท้าทาย เพราะองค์กรจะเดินไปอย่างไร จะเข้มแข็งจะสามารถทำประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรบางทีขึ้นอยู่กับก้าวแรกที่เดิน”

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ผ่านมาน่าจะช่วยขับเคลื่อนได้มากทั้งเรื่องงานความรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อ เพราะทำมาทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อวิทยุโทรทัศน์ และส่วนตัวคิดว่าการทำงานที่รักและชอบ การทุ่มเทเต็มที่ มีความสุขความพอใจกับงาน ซึ่งเมื่อทำแล้วเกิดประโยชน์กับสังคมและคนอื่น เมื่อเป็นอย่างนี้พลังในการทำงานจะเกิดขึ้นมาเอง

ในเบื้องต้นหลายเรื่องเดินไปได้ดี ทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยเฉพาะเรื่องระเบียบข้อบังคับที่จำเป็น เช่น ข้อบังคับด้านการบริหาร ด้านการตรวจสอบภายใน ฯลฯ ปัจจุบันมีทีมงานประมาณยี่สิบคนเพราะต้องการให้เป็นองค์กรเล็กแต่ประสิทธิภาพสูงหรือจิ๋วแต่แจ๋ว สำหรับสถานที่ทำงานชั่วคราวได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงวัฒนธรรม แต่ประมาณไตรมาสแรกของปี 2560 จะย้ายไปที่ทำการถาวร

ขณะเดียวกัน การเปิดตัวกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา มีตอบรับดีมาก เพราะส่วนหนึ่งกองทุนนี้เป็นความหวังของคนที่ต้องการเห็นสื่อที่ดี หรือสื่อที่มีประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน หลายส่วนคาดหวัง ส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่ากองทุนฯ เป็นตู้เอทีเอ็ม หรือเอาเงินมาให้ แต่มองว่าเป็นคนที่จะมาร่วมกันทำงาน

“เขามองตัวเขาด้วยว่าไม่ใช่คนมารับเงิน แต่เป็นคนที่มาร่วมกันขับเคลื่อน เราคุยกันว่าเราจะมาลงขันกันในการทำงานด้านนี้ ทั้งเรื่องกำลังคน ความคิด เพื่อผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องนโยบาย เรื่องการปฏิบัติ การผลิต การรณรงค์ การสร้างจิตสำนึก เครือข่ายที่ไปพบพูดคุยด้วยทุกคนรู้ ซึ่งอีกระยะจะเปิดรับภาคีเครือข่ายและโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่มีเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์แบบเดียวกัน มาร่วมกันขับเคลื่อน”

ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ ที่จะทำไม่ใช่กองทุนฯ ลงมือทำเป็นหลัก แต่คนที่จะทำเป็นหลักคือภาคีเครือข่าย และทุกภาคส่วนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ทำงานด้านสื่อ หรือกลุ่มที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่คือทำอย่างไรจึงจะร้อยเรียงความร่วมมือเหล่านี้เข้ามาด้วยกัน หรือจะเข้าไปมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ ส่วนที่เราจะขับเคลื่อนเองจะเป็นแค่บางส่วนที่จำเป็น หรือเพื่อให้เกิดกิจกรรม หรือเพื่อทำให้เกิดต้นแบบขึ้น

บทบาทของกองทุนฯ ไม่ใช่ผู้ควบคุมหรือวางกฎเกณฑ์ แต่เป็นผู้ส่งเสริมหรือผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้เกิดสื่อที่ดี ส่งเสริมศักยภาพผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับสื่อได้พัฒนาสื่อที่ดีเพิ่มขึ้นมากๆ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนที่จะเลือกสื่อดีๆ รู้เท่าทัน มีวิจารณญาณในการใช้สื่อ

เพราะรูปแบบการเรียนการศึกษาการพัฒนาคนอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนแบบเดิมๆ แล้ว วันนี้ทุกคนเรียนรู้จากนอกห้องเรียนอย่างมาก สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม สื่อช่วยพัฒนาคน สื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เป้าหมายท้ายที่สุดคือการมีสื่อที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ เพราะคนถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม จากสังคมโดยรวม สื่อเป็นสิ่งแวดล้อม และเป็นสังคมที่จะหล่อหลอมคน

เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาส และบทบาทของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2559 อาคาร KX (Knowledge Exchange Center) โดยได้เชิญวิทยากรชั้นนำในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยเข้าร่วม
ปกรณ์ พงศ์วราภา ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) นำเสนอเรื่อง ”Business Model : จากสิ่งพิมพ์สู่ออนไลน์ จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล” การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อรองรับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป
เรซินา อูเบรอยบาจาชจ์ รองผู้อำนวยการ บริษัท มีเดีย ทรานศ์เอเชียไทยแลนด์ จำกัด นำเสนอเรื่อง “โอกาสทองของนิตยสาร สู่โลกของ Content Marketing” เพื่อให้ได้เข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและความเป็นไปของโลกดิจิทัล
สิขเรศ ศีรากานต์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นำเสนอเรื่อง “ปรับ/เปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์” กระตุ้นแรงบันดาลใจด้วยรูปแบบการปรับตัวของสิ่งพิมพ์ในตลาดยุคใหม่ สร้างสรรค์และตอบโจทย์ พร้อมข้อมูลเชิงการตลาดจากดิจิทัลเอเยนซี
บรรยากาศงานเสวนาฯ
ผู้เข้าร่วมเสวนาฯ
ผู้บริหารและวิทยากรรับเชิญ
ผู้บริหารและวิทยากรรับเชิญ
กำลังโหลดความคิดเห็น