สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเร่งเพิ่มระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย รุกจัดกิจกรรมผลักดัน “Productivity” เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรม จับมือม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กับ 3 สถานประกอบการต้นแบบ พร้อมเผย 3 ทิศทางในอนาคต เน้นเดินตามแผนพัฒนาฯ- แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนระดับโลก และการบริหารตามเกณฑ์มาตรฐานโลก ด้านมทร.อีสานต่อยอดเตรียมเปิดหลักสูตร “Productivity” แห่งแรกของประเทศไทย
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดกิจกรรม "ผลักดัน Productivity สู่ภาคอีสาน เสริมศักยภาพธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการ "การสร้างจิตสำนึกความเข้าใจ เรื่องการเพิ่มผลิตภาพเพื่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ "Productivity Awareness" ประจำปี 2559
ฉันทลักษณ์ มงคล ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ และการขยายผลมาสู่ภาคอีสานว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องทำให้การเพิ่มผลผลิตเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงริเริ่มให้สถาบันฯ ดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้หรือจิตสำนึกในเรื่องการเพิ่มผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปลายน้ำ รวมทั้ง ในภาคการศึกษาผู้ผลิตบุคลากรซึ่งเป็นต้นน้ำให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนแรก
จึงมีการทำโครงการให้ความรู้ผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เป็นแห่งแรก เนื่องจากขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน ที่เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็น East-West Coridor
โดยเริ่มจากการให้ความรู้กับอาจารย์ และยังขยายผลไปสู่นักศึกษาภายใต้โครงการสหกิจด้วยการเป็นที่ปรึกษา และเนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการก่อตั้งสาขาวิชาผลิตภาพ หรือ Productivity จึงจัดทำโมเดลทดลองเพื่อให้อาจารย์ได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้แนวทางการปรึกษาของสถาบันฯ โดยเลือก 3 องค์กรต้นแบบ ซึ่งมีรูปแบบและขนาดแตกต่างกันมาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และความคิดเห็นกันต่อไป
ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.) กล่าวถึงกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนผลิตภาพและผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมว่า ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญในเรื่องผลิตภาพอย่างมาก มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการบ่มเพาะบุคลากรเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมจึงมองว่าเป็นโอกาสอย่างยิ่งในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
โดยกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินไปแล้วมีมากมาย เช่น การฝึกอบรมบุคลากรทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนในภาคอีสาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักในเรื่องผลิตภาพ การส่งนักศึกษาเข้าไปทำโครงงานพัฒนาผลิตภาพในสถานประกอบการเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน โครงการ Think Smart Act Smart เป็นต้น ทำให้ได้การรับรู้และต่อเนื่องสู่ความยั่งยืน
สำหรับสถานประกอบการ 3 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ เริ่มโดย วีรเสน เพชรแท้ ผู้บริหาร บริษัท เพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวถึงแรงจูงใจของการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า จากการเข้าร่วมโครงการต่างๆ มาแล้วไม่น้อยแต่ที่ผ่านมามักจะพบว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จะจำกัดอยู่เพียงระดับผู้บริหารหรือบุคลากรระดับบน ไม่ถูกถ่ายทอดไปยังบุคลากรระดับล่าง ดังนั้น โครงการนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ขององค์กรได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะมีการสร้างทีมพี่เลี้ยงเพื่อถ่ายทอดหรือสอนอย่างเป็นระบบ
โดยในส่วนของบริษัทฯ เลือกกิจกรรมไคเซ็นซึ่งเป็นการนำความคิดจากพนักงานระดับล่างมาพัฒนา ปรากฏว่าได้ผลอย่างดี เนื่องจากที่ผ่านมา แม้จะมีกิจกรรมเพื่อการพัฒนาแต่หากผู้บริหารไม่มีคำสั่งลงไปก็จะไม่เกิดการปฏิบัติจริง และไม่มีความคิดใหม่ๆ เพราะมักจะคิดว่าตนเองไม่มีความสำคัญ
“สิ่งที่เห็นชัดเจนคือบรรยากาศการทำงานดีขึ้น พนักงานระดับล่างมีปฏิกิริยาที่ดี เราพยายามทำให้องค์กรเราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แม้ในขั้นแรกจะเริ่มจากฝ้ายโรงงาน แต่ต่อไปจะขยับไปสู่ทุกฝ่ายขององค์กรให้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนางาน รวมทั้ง การผิดพลาดน้อยลง ก็เป็นผลทางอ้อมที่ดีต่อองค์กรเช่นกัน และการดึงศักยภาพของพนักงานให้ได้ออกมาเต็มที่เป็นโจทย์ขององค์กรที่ต้องทำต่อไป นอกจากนี้ จะนำรูปแบบที่ทำในโรงงานนี้ไปใช้กับอีกโรงงานหนึ่ง”
วุฒิไกร สุวรรณวานิช รองประธานฝ่ายประสานงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นและผู้บริหารห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นอินเตอร์การ์เมนท์ กล่าวว่าการเข้าร่วมโครงการนี้ส่งผลดีต่อบริษัทฯ อย่างยิ่ง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและร่วมมือจากพนักงานอย่างมาก โดยเริ่มด้วยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในองค์กร เป็นการให้คำปรึกษาและติดตามดูผลอย่างเป็นระบบโดยละเอียด ส่งผลให้ทีมงานสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมคิกออฟขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นกุศโลบายให้พนักงานรู้สึกว่าต้องให้ความสำคัญ การให้รางวัลเมื่อพนักงานร่วมกิจกรรม ส่งผลให้พนักงานส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิด ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการทำงานเป็นทีมมากขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้นจากเดิมที่ต่างคนต่างทำ และกล้าแสดงความคิดเห็น รวมทั้ง การเสนอปัญหาเพื่อให้เกิดการแก้ไขเพิ่มขึ้น ในท้ายที่สุด สามารถทำให้พนักงานเข้าใจเป้าหมายขององค์กรและพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ต้นทุนบางแผนกลดลง การทำงานเร็วขึ้น และได้ผลงานดีขึ้น แม้จะเป็นก้าวแรกแต่เป็นก้าวสำคัญ ซึ่งจะนำไปปฏิบัติต่อไป
ธีระศักดิ์ สุวรรณธาร ผู้บริหาร บริษัท ขอนแก่นพลาสติกประชาสโมสร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคอีสาน กล่าวว่าการเพิ่มผลิตภาพให้กับองค์กรที่ผ่านมามีปัญหาเช่นเดียวกับองค์กรอื่นนั่นคือไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมหรือกระตุ้นให้บุคลากรระดับล่างตื่นตัวเข้าร่วม เกิดการปรับปรุงงาน และพัฒนาได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้ไม่เกิดการปรับปรุงงานหรือเพิ่มผลิตภาพได้อย่างแท้จริง ต่างจากโครงการนี้ซึ่งมีแนวทางและวิธีการที่ได้ผลอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปรับปรุงและพัฒนางานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ บริษัทฯ จะกำหนดแผนการทำกิจกรรมให้เหมาะสม เช่น 5ส และไคเซ็น เพื่อให้มีเครื่องมือและกระบวนการที่ถูกต้องในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร
ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางการดำเนินการของสถาบันฯ ว่า มีการปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมเรื่องผลิตภาพ (Productivity) เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และเน้นการพัฒนาทั้ง 3 องค์ประกอบคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กันไป ซึ่งแนวทางในการบริหารสถาบันฯ สอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 โดยเน้นเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy
ที่ผ่านมามักเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาคการเกษตร แต่ในความเป็นจริงในภาคอุตสาหกรรมนั้น ภาครัฐมีการกำหนด มอก.9999 ซึ่งเน้นในเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างคนกับกระบวนการ โดยนำหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาผสมผสานเพื่อเน้นมิติของคนมากขึ้น เป็นการสร้างสมดุลการบริหารจัดการในองค์กร นั่นเป็นแนวทางแรก
ส่วนแนวทางที่สอง การนำ 3 องค์ประกอบของความยั่งยืนมาใช้ ต้องใช้วิธีคิดว่าทำอย่างไรให้องค์กรเติบโตประสบความสำเร็จโดยรับผิดชอบและไม่ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน และแนวทางที่สาม การเน้นเรื่องการบริหารแบบองค์รวม (Holistic) โดยการบูรณาการ 7 เรื่องหลักที่จำเป็นของทุกองค์กร ตามเกณฑ์มาตรฐานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ช่วยให้ความพร้อมของอาจารย์ซึ่งมีความรู้ทางทฤษฎีอยู่แล้ว และยังได้ประสบการณ์จากสถานประกอบการ รวมทั้ง ความรู้ที่ได้จากสถาบันฯ ทำให้สามารถสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพได้อย่างดี ส่วนการเพิ่มวิชาผลิตภาพ (Productivity) ในหลักสูตรปวส.และหลักสูตรปริญญาตรีจะดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำหลักสูตรผลิตภาพซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย
สำหรับโครงการสหกิจศึกษานั้นเป็นประโยชน์อย่างมากไม่เพียงอาจารย์ นักศึกษา และสถานประกอบการที่เสียสละ ยังส่งผลดีต่อประเทศชาติซึ่งมีบัณฑิตที่มีความสามารถเป็นบุคลากรที่ดีต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องผลิตภาพซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศชาติและช่วยให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืน