• ลูกน้องหนีไม่ยอมทำงานเกินเวลาจะแก้ปัญหาอย่างไรดี
Q: ผมเป็นผู้จัดการอยู่โรงงานแห่งหนึ่ง ต้องคุมพนักงานที่ทำงานวันละ 12 ชม. ระยะหลังๆ มานี้ลูกน้องหลายคนหนี OT ไม่ยอมทำงานเกินเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายกับนายจ้าง มีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้างครับ
A : การทำงานล่วงเวลา (OT) มีข้อกำหนดในกฎหมาย(คุ้มครองแรงงาน) อย่างชัดเจนว่างานประเภทใด ทำงานได้ไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมทั้งมีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาไว้แล้วด้วย ผมแนะนำให้ศึกษากฎหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขขั้นต่่ำที่นายจ้างต้องปฏิบัติ
การ ให้พนักงานทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ดูเหมือนจะมากเกินไปสักหน่อย เพราะหากทำงานอาทิตย์ละ 5 วัน สัปดาห์หนึ่งก็ทำถึง 60 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ลองตรวจสอบดู
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ในเรื่องของการทำงานล่วงเวลา มีข้อแนะนำดังนี้
1) พูดคุยกับพนักงานให้เข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำงานล่วงเวลา หลีกเลี่ยงการบังคับให้ต้องทำ
2) หากต้องทำงานล่วงเวลาจำนวนมาก ลองพิจารณาจ้างพนักงานประจำเพิ่มจะดีกว่า เพราะถูกต้องตามกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า และงานน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย
3) ควรมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานที่ทำงานล่วงเวลา ตามความเหมาะสม เช่น หากต้องทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่น องค์กรควรจัดรถรับส่งให้พนักงานเหล่านั้นด้วย เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น
4) นอกจากการทำงานล่วงเวลา (ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ) ลองพิจารณาทางเลือกอื่นประกอบด้วย เช่น นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน ใช้พนักงานเอาท์ซอร์ทเพิ่มเติม ใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์อิเลคโทรนิคมาแทนแรงงานคน เป็นต้น
5) การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและสัมพันธภาพอันดีระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาด้านแรงงานส่วนใหญ่มักเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วนหรือความสัมพันธ์ที่มีช่องว่างระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง
ปัญหาลักษณะนี้คล้ายกับสุขภาพของคนเรา หากป่วยแล้วจะรักษา บางโรคอาจหายขาดได้ยาก แต่ถ้ารักษาสุขภาพให้แข็งแรง โอกาสเจ็บป่วยก็น้อยลง
องค์กรก็เช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้นครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร
สลิงชอท กรุ๊ป