อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการประชุมโครงการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของ 11 สถาบันเครือข่ายในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า โครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกรม 7 หน่วยงาน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 1 หน่วยงาน และมีสถาบันเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อแบ่งเบาภาระของกระทรวงฯ ในการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในลักษณะเชิง Function และเชิง Sector ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันเครือข่ายของกระทรวงฯ ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และมีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งปัจจุบันนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบคลัสเตอร์ยังต้องอาศัยความรู้ ความสามารถเฉพาะทางของสถาบันเครือข่าย
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการดำเนินงานของสถาบันเครือข่ายอาจให้ความสำคัญในเรื่องความอยู่รอดขององค์กร จนกระทบกับภารกิจที่กระทรวงฯ ต้องการเห็น เช่น การเสนอแนะข้อมูลและความเห็นเชิงนโยบายแก่กระทรวงฯ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เป็นต้น โดยพบว่าสถาบันเครือข่ายยังมีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน ขาดการบูรณาการ รวมถึงขาดความคล่องตัวในการพัฒนาองค์กร ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวงทั้งในปัจจุบันและอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ด้าน อาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นการมอบนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สถาบันเครือข่ายฯ ยึดถือเป็นพันธกิจหลักในการดำเนินงาน มีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยภายใต้วิสัยทัศน์ของประเทศไทย โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และการนำเสนอผลการศึกษาของที่ปรึกษาซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ว่าจ้างมาศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัดในการดำเนินงาน และการเชื่อมโยงการทำงานให้ตอบรับนโยบายของกระทรวงฯ เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน เช่น บทบาทของสถาบันเครือข่ายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย บทบาทและรูปแบบการดำเนินงานของมูลนิธิ รวมถึงโครงการและความร่วมมือของสถาบันเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ปรึกษาฯ ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อประมวลผลมาเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับสถาบันเครือข่ายในการปรับปรุงการดำเนินงาน
การประชุมดังกล่าว นอกจากผู้บริหารสถาบันเครือข่ายทั้ง 11 แห่งแล้ว ยังครอบคลุมถึงคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ คณะกรรมการบริหารสถาบัน หน่วยงานระดับกรม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนและปรับปรุงบทบาทภารกิจสถาบันเครือข่ายให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต
ทั้งนี้ 11 สถาบันเครือข่ายในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันพลาสติก และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย