xs
xsm
sm
md
lg

ลูกน้อง จำเป็นต้องขอหยุดต่อเนื่อง จากวันหยุดยาว ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่พอใจ โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอทกรุ๊ป
Q : มีลูกน้องผมคนหนึ่ง มีธุระจำเป็น จะต้องลาต่อเนื่องจากวันหยุดยาว ไปอีกหลายวัน ผมจำเป็นต้องยอมให้ลา แต่ก็มีเสียงครหา จากลูกน้องคนอื่นว่า ไม่ควรให้ลา เพราะขัดกับกฎบริษัท ที่ห้ามลาต่อเนื่อง ในวันหยุดยาว ผมอยากจะอธิบาย ถึงความจำเป็นของลูกน้องคนนั้น แต่ข้อมูลส่วนนี้ ก็ดันเป็นความลับ ผมควรจะทำอย่างไรดี เพื่อลดความขุ่นเคือง

A : น่าเห็นใจและ รู้สึกได้ถึงความหนักใจ ของคนที่เป็นหัวหน้าเลยครับ สถานการณ์แบบนี้เรียกว่า “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” จะเงียบๆ เฉยๆ ไป ก็ไม่ได้ เพราะคนที่ไม่เข้าใจ คงเอาไปพูดกันในทางเสียหาย ดีไม่ดีกลายเป็นข้ออ้าง ที่จะเอาอย่างบ้างไปซะเลย ในทางกลับกัน จะป่าวประกาศให้ทุกคนรับทราบ ก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ของพนักงาน ที่คงไม่อยากให้ใครรับรู้
เผอิญไม่ได้บอกมาด้วยว่า “ความลับ” ที่ว่านี้เป็นเรื่องอะไร ประมาณไหน แต่ผมคิดว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้า ความเข้าใจและ เห็นใจพนักงาน ที่มีปัญหา หรือมีความจำเป็นส่วนตัว ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พอเข้าใจได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองภาพรวมของทีม ดูความรู้สึกของพนักงานคนอื่นๆ ประกอบกันด้วย

ผมขอแนะนำดังนี้ครับ

1. คุยกับพนักงานคนนี้ แบบตรงไปตรงมา ว่าต่อไปคงไม่สามารถให้ลาต่อเนื่องได้ ทุกๆ ครั้งที่มีวันหยุดยาว เพราะต้องแบ่งให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้ลาบ้าง เพื่อความยุติธรรม (ไม่ต้องบอกว่าเพื่อนๆ หรือพนักงานคนอื่น เริ่มรู้สึกไม่ดีกับเขา เพราะถ้าพูดเช่นนั้น อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยไม่ได้ตั้งใจ) อธิบายให้พนักงานเข้าใจว่า เรื่องส่วนตัว ก็เป็นหน้าที่ที่พนักงาน ต้องบริหารจัดการ องค์กรคงไม่สามารถ ช่วยเหลือได้ทุกๆ ครั้ง

2. ถ้าจำเป็นต้องลาทุกๆ ครั้งจริง ให้ปรึกษากับพนักงานว่า หากจำเป็นต้องบอกให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ถึงปัญหาและ ความจำเป็นที่ต้องลาต่อเนื่องทุกๆ วันหยุดยาว จะต้องพูดอย่างไร จึงดูเหมาะสม บางทีการแก้ปัญหาของพนักงาน ก็ควรให้พนักงานมีส่วนในการช่วยคิด หาทางแก้ด้วย ไม่ใช่เป็นภาระ ที่หัวหน้าต้องคิดทางออก อยู่คนเดียว

3. ปรึกษาผู้บังคับบัญชา ระดับสูงขึ้นไป หรือหน่วยงาน HR เพื่อขอคำแนะนำว่า ควรทำอย่างไรดี จึงจะเหมาะสม ถูกต้องตามกฎระเบียบและ ได้ช่วยเหลือพนักงาน ที่เดือดร้อนด้วย เพราะบางครั้งการที่พยายาม ขบคิดปัญหาอยู่คนเดียว อาจมองไม่เห็นทางออกอื่น การได้มีโอกาสพูดคุย หรือขอความช่วยเหลือ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ได้อยู่กับปัญหาโดยตรง อาจได้มุมมองที่เป็นกลางและ สร้างสรรค์มากขึ้น เรื่องบางเรื่อง ทางออกอาจง่ายกว่าที่เราคิด เพียงแต่มันเป็น “เส้นผมบังภูเขา” เท่านั้น

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น