xs
xsm
sm
md
lg

วินเซ็นท์ฯ โชว์ความแกร่ง คว้ารางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี'58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนทกานติ อุมาแสงทองกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเซ็นท์ แฟคทอรี่ จำกัด รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2558
บริษัท วินเซ็นท์ แฟคทอรี่ จำกัด ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2558 ภายใต้การนำของ “มนทกานติ อุมาแสงทองกุล” ซึ่งตั้งเป้าหมายในวันนี้ว่าต้องการ”สร้างแบรนด์ Vincent ให้แข็งแกร่งและเติบโตบนความยั่งยืน” ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจกระเป๋าเมื่อปี 2531 การก้าวเดินบนเส้นทางก็ก้าวไกลมาเป็นลำดับ ด้วยการขยับขยายจากร้านค้าเล็กๆ 1 คูหา มาเป็นโรงงานขนาด 2 คูหา และกลายเป็นโรงงานที่มีพื้นที่ใช้สอย 1,650 ตารางเมตรในปัจจุบัน จุดขายของวินเซ็นท์อยู่ที่”การขายความเป็นตัวเอง ไม่ได้ขายกระเป๋า” มิติแรกของความเป็นตัวเองคือนอกจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ยังหมายถึงการนำความต้องการหรือโจทย์ของลูกค้ามาเป็นแนวทาง จากการเริ่มต้นพูดคุยกับลูกค้าในเรื่องไอเดีย กลุ่มเป้าหมาย ราคา การนำไปใช้ ฯลฯ ผนวกกับไอเดียของวินเซ็นท์ที่เพิ่มเติมให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์

รวมถึง การเป็นตัวเชื่อมให้กับเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมที่ลูกค้าต้องการติดแบรนด์ลงบนกระเป๋าที่สั่งผลิตกับวินเซ็นท์ เพราะมีลูกค้าไม่น้อยที่ต้องการใช้สินค้าแบรนด์เนม เช่น ELLE , G2000 เป็นต้น

มิติที่สองคือการตอบโจทย์ลูกค้าแบบครบวงจร ช่วยแก้ปัญหาหรือหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และให้บริการตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด เพราะนอกจากจะเป็นผู้ผลิตแล้วยังทำหน้าที่จัดส่งไปถึงปลายทางที่ลูกค้าต้องการ หลังจากจุดเริ่มแรกที่ก่อสร้างโกดังเพื่อเก็บสต๊อกสินค้าของตนเอง กลายเป็นการต่อยอดธุรกิจโดยเปิดให้บริการโลจิสติกส์กับลูกค้า

ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบมาก่อนทำให้ได้ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและจัดส่งได้ตรงตามกำหนดเวลา จนทำให้ลูกค้ามอบความไว้วางใจให้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการผลิตกระเป๋าซึ่งส่วนมากเป็นการผลิตให้กับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ นำไปแจกเป็นของพรีเมี่ยม ยังให้บริการอื่นๆ เช่น การส่งการ์ดอวยพรวันเกิดให้กับลูกค้าของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต การส่งบัตรของขวัญให้กับลูกค้าของเทสโก้โลตัส เป็นต้น

ในส่วนของบุคลากร บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ ความไว้ใจ ซึ่งผู้บริหารไม่ได้เพียงสั่งการแต่ลงมาฝึกฝนการปฏิบัติให้เห็นแบบอย่างที่ถูกต้อง หลักยึดในเรื่องคนมุ่งมองไปที่เรื่องจิตใจก่อนเพราะเชื่อว่าเริ่มต้นต้องเป็นคนดีซึ่งน่าจะสอนได้ทุกอย่างและสามารถเป็นคนเก่งได้ในภายหลัง แม้จะไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนในตอนแรกแต่เชื่อว่าการเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมและบริบทที่ดี พร้อมกับการสอนสิ่งดีๆ ทุกวันอย่างต่อเนื่อง จะได้ผลลัพธ์ที่น่ายินดี

“ด้วยระบบการจัดการที่วางไว้มีการฝึกอบรมสม่ำเสมอ และความใกล้ชิดกัน ทำให้ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เมื่อเต็มไปด้วยคนดีมาอยู่ด้วยกัน คนไม่ดีจะอยู่ไม่ได้โดยอัตโนมัติ เราจะมองว่าคนนี้ดีตรงไหนก็จะพยายามให้คุณค่ากับเขา เมื่อเราทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เขาจะทำสิ่งที่ดี”

นอกจากนี้ ยังหล่อหลอมให้มองว่าทุกคนเป็นเจ้าของและมีส่วนในการบริหาร เช่น การให้พนักงานที่ทำงานมานานเป็นหุ้นส่วน การมีเงินโบนัสพิเศษ สำหรับอายุงานสิบปีขึ้นไปขั้นแรกมาจากการประเมินผลงาน ขั้นที่สองมาจากการคิดเปอร์เซ็นต์จากอายุงาน

เนื่องจากพนักงานส่วนมากอยู่อาศัยในย่านใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงงาน จึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน เช่น การทำบุญกับวัดและให้ของขวัญกับเด็กๆ ในละแวกนั้น ทำให้พนักงานรู้สึกดีเพราะเป็นชุมชนหรือสังคมของเขา และส่งผลให้พาลูกหลานมาฝึกงานในช่วงปิดเทอมหรือมาทำงานเพราะเห็นว่าเป็นบริษัทที่ดี จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ดีทั้งภายในและภายนอกบริษัท เป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยให้ประเทศชาติมีสังคมดีๆ เพิ่มขึ้น

ด้วยความเข้าใจในเรื่องของการปลูกฝังและสรรค์สร้างคนให้มีคุณภาพ การฝึกทายาทวันนี้ให้เป็นเถ้าแก่ในวันหน้าจึงก่อเกิดให้เห็นที่นี่ในวันนี้ 2 ทายาทโดยสายเลือดได้รับการบ่มเพาะให้มาเป็นทายาททางธุรกิจ ทั้งลูกชายคนโตและคนกลางเข้ามาช่วยดูแลกิจการ

การขัดเกลาทายาทเริ่มจากการพาไปวัดตั้งแต่ยังเล็กให้ซึมซับในเรื่องธรรมะและฝึกปฏิบัติตั้งแต่เด็ก เพื่อฝึกพื้นฐานจิตใจและสอนเรื่องกฎระเบียบเพื่อให้ชีวิตมีแบบแผนงดงาม นอกจากนี้ ยังสอนให้รู้จักวางแผนและคิดอย่างมีเป้าหมาย

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการพยายามถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นให้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนมือ ด้วยการย้ำว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ทุกวันไม่ใช่วิชาลูกจ้างแต่เป็นวิชาเถ้าแก่ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและการรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย

จาก”การวางรากฐานอันแข็งแกร่ง”ในด้านการผลิตของรุ่นพ่อแม่ ตอกเสาเข็มทางธุรกิจด้วยการวางระบบและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี รวมทั้ง การสร้างชื่อเสียงจากงานคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเป็นผู้รับจ้างผลิต มาถึงรุ่นลูกที่ต้องรับสืบทอดกิจการสำหรับวินเซ็นท์เป็นขั้นของ “การสร้างแบรนด์" เพื่อเผชิญกับการแข่งขันในยุคใหม่

ก่อนที่จะก้าวต่อไป เมื่อได้ไตร่ตรองถึงปัจจัยของความสำเร็จที่ทำให้องค์ก้าวมาถึงวันนี้ ก็พบว่ามีองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ 1.ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมรอบข้าง 2.ความโปร่งใสของพนักงานในการปฏิบัติงานและระบบการทำงานที่ดี 3.คุณธรรมและจริยธรรมที่ยึดถือว่าเป็นผู้ให้ย่อมดีกว่าผู้รับ และ4.ทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กรให้เติบโตอย่างเป็นไปตามทำนองคลองธรรม

โดยเชื่อมั่นว่าความโปร่งใสทำให้ได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรหรือคู่ค้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ การดูแลเอาใจใส่พนักงานทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างราบรื่น

นั่นเป็นเพราะการนำธรรมะมาบริหารจัดการองค์กร ทำให้เกิดความยุติธรรมสูงสุดแก่พนักงาน ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้องค์กรมีประสิทธิภาพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบการตรวจสอบซึ่งเป็นที่ยอมรับควบคู่กับการปลูกฝังให้พนักงานเดินตามแนวทางที่ถูกต้องซึ่งผู้บริหารปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น