xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจไทยเกือบครึ่งตกเป็นเหยื่อภัยทุจริต PwC ชี้ยักยอกสินทรัพย์-ทุจริตจัดซื้อ-รับสินบนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำรวจพบ ‘ภัยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ’ ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สอง แนะผู้บริหารต้องตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภัยมืดภายในองค์กรและไซเบอร์คราม ภาครัฐต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการปราบปรามผู้กระทำการทุจริต-คอรัปชั่น

PwC ชี้ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังผลสำรวจล่าสุดพบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีบริษัทไทยที่ทำการสำรวจเกือบครึ่งตกเป็นเหยื่อการทุจริตองค์กรประเภทใดประเภทหนึ่งหรือมากกว่า แซงหน้าภูมิภาค ภาครัฐฯ และเอกชนต้องตื่นตัวในการแก้ปัญหาภัยทุจริตองค์กร พร้อมมีมาตรการป้องกันในการรับมือและออกบทลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey ประจำปี 2557 ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นปีที่สองสำหรับประเทศไทย พบว่ามีบริษัทไทยที่ทำการสำรวจถึง 37% ตกเป็นเหยื่อการทุจริต โดยเปรียบเทียบกับผลสำรวจโดยเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 32% และโลกที่ระดับเดียวกัน

สำหรับประเภทของการทุจริตที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) 71% ตามด้วยการทุจริตจัดซื้อ (Procurement fraud) 43% การรับสินบนและคอรัปชั่น (Bribery and corruption) 39%อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) 18% และการทุจริตทางบัญชี (Accounting fraud) 18%
วรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensics Advisory บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)
นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensics Advisory บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) และผู้จัดทำผลสำรวจ กล่าวว่า แนวโน้มอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Economic crime) ยังคงเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทยในระยะข้างหน้า โดยครอบคลุมเกือบทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ในขณะที่ปัญหาทุจริตองค์กรในไทยที่พบถึง 89% เกิดจากการกระทำของคนในองค์กร (Internal actor) ทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเอเชียแปซิฟิกที่ 61% และระดับโลกที่ 56%

“การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองของภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ และปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในไทย สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่องค์กรทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน”

“ในระดับสากล ไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราความเสี่ยงในการประกอบทุจริตอยู่ในระดับกลางถึงระดับสูง ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแนวโน้มการฉ้อโกงที่ซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรูปแบบต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก การอยู่เฉยโดยรอให้มีผู้เปิดเผยข้อมูลการประพฤติมิชอบ (Whistleblower) มาแจ้งหรือแก้ปัญหาหลังมีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว คงไม่ใช่ทางออกของการปกป้องทรัพย์สินและผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป”นายวรพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจไทยเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี Global Economic Crime Survey ดำเนินการโดย PwC Forensic Services ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักธุรกิจและผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวน 5,128 ราย ใน 99 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งบริษัทชั้นนำในประเทศไทยจำนวน 76 ราย

นอกจากการทุจริตคอรัปชั่นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ผลสำรวจระบุว่า ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อชื่อเสียง คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการทำทุจริตค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ที่ส่งผลกระทบไปทั้งระบบซัพพลายเชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีผู้จัดการแผนกจัดซื้อหรือฝ่ายควบคุมคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วมกับการฉ้อโกงด้วย ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมามีตั้งแต่ความปลอดภัย การเรียกคืนสินค้า (Recall) หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

ปัญหาทุจริตจัดซื้อและการรับสินบน

ผลสำรวจระบุว่า การทุจริตจัดซื้อถือเป็นปัญหาและภัยร้ายแรงที่พบมากที่สุดเป็นอันดับสองทั้งในไทยและระดับโลก เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของชาติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การทุจริตประเภทนี้ในประเทศไทย มักเกิดขึ้นในขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการเมื่อมีการเสนอราคาจากผู้ขายหรือผู้จำหน่าย (Vendor) จากนั้นจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลงเป็นลำดับ ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือก การตรวจสอบคุณภาพ การทำสัญญา และการชำระเงิน อันเป็นผลมาจากกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่มีความเข้มงวด อย่างไรก็ดี ผลจากสำรวจของไทยในประเด็นนี้ แตกต่างกับผลที่ได้ในระดับโลกที่พบว่าการทุจริตเกิดขึ้นอย่างเท่าๆ กันตลอดทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

นายวรพงษ์กล่าวว่า การเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบและพิจารณาสรรหาผู้ขายหรือผู้จำหน่าย รวมทั้งการตรวจสอบประวัติบริษัทและที่มาของ Vendor ถือเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตจัดซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือไปจากการจัดทำระบบประเมินผล หรือการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาทำแบบประเมินตรวจสอบทุจริต

“การที่ภาครัฐเตรียมแก้ไขร่างกฎหมายระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ไขปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เพราะนี่เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะช่วยให้กระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐเกิดประสิทธิผลสูงสุด”

เมื่อมองปัญหาการรับสินบนและคอรัปชั่น ผลสำรวจระบุว่า มีบริษัทไทยเกือบหนึ่งในสามหรือ 28% ถูกถามให้จ่ายสินบน (Bribe) ในระยะเวลา 24 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ 18% ขณะเดียวกัน มีผู้ถูกสำรวจอีก 24% กล่าวว่าสูญเสียโอกาสทางธุรกิจให้แก่คู่แข่งที่ตนเชื่อว่ามีการจ่ายสินบน

นอกจากนี้ การขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการฟอกเงิน (Money laundering) กฎหมายป้องกันการผูกขาดและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในประเทศยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการรับสินบนและคอรัปชั่นของไทยอีกด้วย
การตระหนักต่อภัยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ของไทยยังต่ำ

การตระหนักต่อภัยไซเบอร์ครามโดยเฉลี่ยของไทยที่ 39% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าเอเชียแปซิฟิกที่ 45% อย่างไรก็ดี อัตราดังกล่าวของไทยปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ 27% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 48%

การที่บริษัทต่างๆ หันมาใช้ระบบคลาวด์ในการจัดเก็บอีเมล์และข้อมูลต่างๆ แทนการใช้เซิฟเวอร์ภายในองค์กรโดยปราศจากการป้องกันที่รัดกุม ก็มีส่วนทำให้ความเสี่ยงจากการจารกรรมข้อมูลจากบุคคลภายนอก (External hacking) เพิ่มมากขึ้น
ผลสำรวจระบุว่าไซเบอร์ครามสร้างความสูญเสียให้แก่ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มการเงิน (Financial sector) โดยมีบริษัทอย่างน้อยหนึ่งรายที่ประเมินมูลค่าความเสียหาย (Estimated loss) มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.2 พันล้านบาทและอย่างน้อย 20% สูญเสียราว 5 หมื่นดอลลาร์หรือ 1.6 ล้านบาท

ในท้ายที่สุด ผลสำรวจพบว่า การทุจริตภายในองค์กรส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากการกระทำผิดของพนักงานระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับกลาง (Middle management) มากที่สุดที่ 56% โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่ 52% และระดับโลกที่ 42%

“คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่อยู่กับองค์กรอย่างน้อยมาเป็นเวลา 3 ถึง 5 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท รู้ทางหนีทีไล่ และมีความรู้ ความเข้าใจในโครงสร้างและกระบวนการทำงาน รวมทั้งเข้าถึงแหล่งข้อมูลของบริษัทได้เป็นอย่างดี” นายวรพงษ์กล่าว
เมื่อถามถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการทุจริต บริษัทไทย 76% เชื่อว่าขึ้นอยู่กับโอกาส (Opportunity) มากที่สุด ตามด้วยแรงจูงใจในการกระทำผิด (Incentive) 24% ในขณะที่การใช้เหตุผลสนับสนุนเพื่อความชอบธรรมในการกระทำความผิดของตน (Rationalisation) ไม่มีผลต่อการกระทำผิดตามทฤษฎีสามเหลี่ยมทุจริต (Fraud Triangle)

ผลสำรวจ Economic Crime Survey ดำเนินการโดย PwC Forensic Services ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักธุรกิจและผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำจำนวน 5,128 รายใน 99 ประเทศทั่วโลก (78 ประเทศในปี 2554) รวมทั้งบริษัทประเทศไทยจำนวน 76 ราย ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ถูกสำรวจแบ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง 50%, ตัวแทนจากบริษัทจดทะเบียน 35% และ ตัวแทนจากหน่วยงานและองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน 54%
กำลังโหลดความคิดเห็น