xs
xsm
sm
md
lg

ไปรษณีย์ไทย-กฟภ.ยกเครื่องเรื่องพลังงาน นำร่องพัฒนารถขนส่งไปรษณีย์ระบบไฟฟ้าและอาคารประหยัดพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไปรษณีย์ไทยจับมือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพัฒนาและส่งเสริมการประหยัดพลังงานในการขนส่งไปรษณีย์และอาคารสำนักงาน นำร่องทดลองใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์บรรทุกเล็กไฟฟ้าแบบ 4 ล้อ ในการนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศและระบบไฟส่องสว่างแบบ LED ภายในอาคารสำนักงาน คาดโครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานจากไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10% ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยที่ผ่านมา ปณท ดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ การสนับสนุนการใช้น้ำมัน E - 85 กับรถจักรยานยนต์ระบบหัวฉีด การรับบริจาคจักรยานเก่าเพื่อนำไปซ่อมแซมและบริจาคให้แก่เยาวชน ในโครงการ “ล้อ เรียน โลก” การรีไซเคิลไปรษณียบัตรหมีแพนด้าเป็นโต๊ะเก้าอี้นักเรียนสำหรับนำไปบริจาค ในโครงการ “ไปรษณียบัตรเพื่อน้อง” ฯลฯ

นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ปณท มีนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนาระบบงานด้านต่างๆ เพิ่มศักยภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้การบริการในทุกด้านได้มาตรฐานตามที่ ปณท กำหนด

โดย ปณท ถือเป็นหน่วยงานที่ต้องใช้พลังงานในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้า เนื่องจาก ปณท มีรถขนส่งไปรษณีย์และรถจักรยานยนต์นำจ่ายเป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งในอาคารสำนักงานใหญ่ และที่ทำการไปรษณีย์กว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยและพัฒนาส่งเสริมการประหยัดพลังงานในการขนส่งไปรษณีย์และอาคารสำนักงาน

สำหรับความร่วมมือกับกฟภ.นับเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (Synergy) ซึ่งจะได้ศึกษาและทดสอบการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์บรรทุกเล็กไฟฟ้าแบบ 4 ล้อ และปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศรวมไปถึงระบบไฟส่องสว่างแบบ LED ภายในอาคารสำนักงาน

โดยมีรายละเอียดความร่วมมือ ใน 2 เรื่อง ซึ่งจะดำเนินการภายในระยะเวลา 1 ปี ได้แก่ “รถขนส่งไปรษณีย์พลังงานไฟฟ้า” การศึกษาและทดสอบการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์บรรทุกเล็กไฟฟ้าแบบ 4 ล้อ จะทำการทดสอบในการนำจ่ายสิ่งของของที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ (ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์ราชการ เช่น กองบัญชาการทหารสูงสุด กรมการกงสุล กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานศาลฯ ฯลฯ รวมทั้งไปรษณีย์ไทยสำนักงานใหญ่) เนื่องจากระยะทางไม่ไกล ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์

หากผลการทดสอบเป็นผลดีอาจขยายผลไปในพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในส่วนอื่นๆ เช่น ภายในศูนย์ราชการของแต่ละจังหวัด หรือภายในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า รถดังกล่าวไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟฟ้าแบตเตอรี่แต่ละครั้งประมาณ 5 - 8 บาทต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ส่วน “อาคารสำนักงานใหญ่ประหยัดพลังงาน” จะมีการศึกษาการปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศ และระบบไฟส่องสว่างแบบ LED โดยนำร่องภายในอาคารสำนักงานใหญ่ ปณท อาคารศูนย์ฝึกอบรม ฝ่ายพัฒนาบุคลากร และอาคาร Asian-Pacific Postal Union หรือ APPU ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างแบบ LED กว่า 14,550 หลอด และปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศเป็นแบบ CHILLER ทั้ง 2 อาคาร

โดยอนาคตคาดว่าจะสามารถปรับปรุงระบบส่องสว่างของอาคารที่ทำการไปรษณีย์ในสังกัด จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มที่

ด้านนายนำชัย หล่อวัฒนะตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ในการผลิต จัดหา และจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 74 จังหวัดทั่วประเทศไทย

รวมถึง การบริหารการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับอาคารสำนักงานของไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนโยบาย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กฟภ. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการประหยัดพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนมีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และนายนำชัย  หล่อวัฒนะตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมลงนามความร่วมมือ “โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาส่งเสริมการประหยัดพลังงานในการขนส่งไปรษณีย์ และอาคารสำนักงาน” เมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศในการผลิตกระแสไฟฟ้า และยังจะเป็นการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย โดยการทดสอบการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์บรรทุกเล็กไฟฟ้าแบบ 4 ล้อ มาใช้ในกิจการของไปรษณีย์ ในครั้งนี้เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

รวมทั้ง การบริหารการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับอาคารสำนักงานของไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนโยบายการประหยัดพลังงานของประเทศชาติอีกทางหนึ่ง โดยให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟภ. เป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กฟภ. มีโครงการในการพัฒนาศักยภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ โครงการ Smart Grid ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เป็น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โครงการวิจัยนำร่องระบบจ่ายไฟฟ้าขนาดเล็กอัจฉริยะ (Smart Microgrid) ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น