xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มดีไซเนอร์ไทยบุกเวทีโลก เตรียมพร้อมรับเออีซี พาณิชย์ดันเป้าส่งออกอุตสาหกรรมแฟชั่นปีนี้แตะหมื่นล้านเหรียญฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าปั้นดีไซเนอร์ไทย ติวเข้มต่อเนื่องผ่าน 3 โครงการ ยกระดับคุณภาพสู่มืออาชีพ เดินหน้าขึ้นชั้นเวทีโลก เร่งเตรียมความพร้อมรองรับตลาดเออีซี หวังสร้างรายได้และชื่อเสียงให้ประเทศ ตั้งเป้าส่งออกแฟชั่นปีนี้เพิ่ม 5-7% แตะหมื่นล้านเหรียญฯ

ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเนื่องจากในภาพรวมระดับโลกมีความต้องการแฟชั่นดีไซเนอร์อย่างมาก ในขณะที่แฟชั่นดีไซเนอร์ไทยไม่เคยมีเพียงพอ โดยเฉพาะแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นคนที่มีทั้งความรู้ความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจ เช่น การคำนวณต้นทุน-ค่าใช้จ่าย การเจรจาต่อรอง การทำการตลาด และการสร้างแบรนด์  

ดังนั้น กรมฯ จึงมีแผนผลักดันนักออกแบบไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับโลก ภายใต้ 3 โครงการคือ 1.Designer ‘ s Room 2. Fashion Designer Workshop และ3.Fashion Designer USA ตามภารกิจของกรมฯ คือการพยายามพัฒนาให้นักออกแบบในโครงการนี้เป็นมืออาชีพให้ได้ และรองรับการทำตลาดส่งออกที่แตกต่างกันออกไป

“สิ่งที่กรมฯ ทำแล้วประสบความสำเร็จคือการสร้างนักออกแบบที่มีแบรนด์ของตนเอง และนักออกแบบที่สามารถป้อนให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย เช่น ในช่วง 13 ปีของการจัดโครงการดีไซเนอร์รูมได้พัฒนานักออกแบบไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีแบรนด์ของตัวเองกว่า 400 ราย โดยในแต่ละปีวางเป้าหมายสร้างนักออกแบบแฟชั่นไม่ต่ำกว่า 30 ราย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับกระบวนคัดเลือกนักออกแบบมีคณะกรรมการคัดเลือก 2 รอบ รอบแรก นักออกแบบต้องเตรียมผลงานที่นำเสนอให้เข้าตากรรมการให้ได้ รอบสอง การสัมภาษณ์ เพื่อแสดงศักยภาพการนำเสนอตนเองให้เห็นถึงบุคลิกหรือตัวตน โดยมีขั้นตอนค่อนข้างเข้มงวด

เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว นักออกแบบจะได้รับการพัฒนา เรื่องความรู้ โดยมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งเรื่องการผลิต การตลาด การสร้างแบรนด์ จากนั้น จึงเป็นเรื่องโอกาส ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่ได้เพิ่มขึ้น เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า BIFF&BIL และ BIG&BIH ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นการเปิดตัวให้ผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ รวมทั้ง การไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยโครงการนี้มีระยะเวลาสองปีเต็ม จึงเชื่อว่าจะสร้างดีไซเนอร์ที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงได้

สำหรับ การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 คือทำอย่างไรที่จะให้แฟชั่นจากนักออกแบบไทยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน เพราะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย ดีไซเนอร์ไทยจึงต้องศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเหล่านั้นให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ม.ล.คฑาทอง ทิ้งท้ายว่า ดีไซเนอร์หรือการสร้างสรรค์เป็นโอกาสทองของไทย เพราะเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการอย่างยิ่ง และนักออกแบบไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

กระทรวงฯ กำหนดเป้าหมายไว้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นจะมีการส่งออกเติบโต 5-7% หรือมีมูลค่าราว9,800-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ จากในปี2556 ซึ่งมีการส่งออกสินค้าแฟชันและเครื่องหนังรวมกันประมาณ 9,223 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงการนี้จึงมีส่วนส่งเสริมฯ เพราะเป็นการสร้างดีไซเนอร์ในการประกอบธุรกิจส่งออก และอาจจะมีบางคนที่เข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ จึงเป็นการป้อนทรัพยากรมนุษย์ให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ ส่วนดีไซเนอร์ที่มีแบรนด์ของตนเองจะเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น