Q : ดิฉันทำงานกับองค์กรที่ค่อนข้างมั่นคง มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งก็มีความสุขดีกับที่เป็นอยู่ แต่เมื่อไม่นานนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในองค์กร เกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่ง ดิฉันถูกทาบทามให้ไปรับผิดชอบตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบใหม่ในต่างจังหวัด ตอนนี้กำลังชั่งใจว่าจะอยู่หรือจะไปดี เนื่องจากดิฉันมีครอบครัว ไม่อยากจากบ้านไป แต่อีกใจหนึ่งก็เสียดายโอกาสความก้าวหน้า ประสบการณ์และ ผลตอบแทนที่ได้รับ อาจารย์มีคำแนะนำมั๊ยคะว่าควรจะตัดสินใจอย่างไรดี หรือหากตัดสินใจจะปฏิเสธ ควรจะมีเหตุผลในการพูดอย่างไรดีคะ
A: เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน เพิ่งมีโอกาสตอบเรื่องคล้ายๆ กันนี้ไปเองครับ อาการแบบนี้เรียกว่า "อีหลักอีเหลื่อ" อันที่จริงผมคิดว่าคำตอบแนว "ตั้งคำถาม" น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะตอบเหมือนเดิม คงสร้างความผิดหวังให้กับผู้อ่านท่านอื่นๆ ที่ติดตามอ่านอยู่ด้วย ดังนั้นรบกวนเจ้าของคำถาม ลองหาอ่านย้อนหลังดูนะครับ
ส่วนวันนี้ขอตอบอีกแนว เป็นเชิงให้ความเห็นแล้วกัน ผมคิดว่าทางออกเรื่องนี้มี 3 วิธี
1. ตัดสินใจไม่ไป หากตัดสินใจแบบนี้ ก็คงต้องตอบตัวเองว่า ครอบครัวสำคัญกว่าเงินทองและความก้าวหน้า แล้วบอกหัวหน้าไปตรงๆ ว่า "ขอบคุณที่ไว้ใจและ ให้โอกาส หลังจากได้ปรึกษากันแล้ว ขอเลือกที่จะไม่ไป เพราะต้องดูแลครอบครัว"
บ่อยครั้งที่ผมมักได้ยินคนหลายๆ คนที่รู้สึกสนุกกับงานและ ชอบความท้าทาย ใช้ข้ออ้างที่ฟังดูดีว่า "ทำเพื่อครอบครัว" แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่กำลังหยิบยื่นให้ ไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวอยากได้ ฝรั่งมีคำพูดว่า Value defines by receiver แปลเป็นไทยว่า "คุณค่าของสิ่งที่ให้กำหนดโดยผู้รับ" แปลอีกครั้งให้เข้าใจง่ายขึ้น สิ่งที่ให้ จะมีค่าหรือไม่อยู่ที่คนรับ อยากได้หรือเปล่า คนในครอบครัวมักต้องการ "เวลา" แต่คนที่ชอบความก้าวหน้ามักหยิบยื่น "เงินตรา" ให้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมหลายๆ ครอบครัว จบลงด้วยการเลิกลา โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน
ในเชิงจิตวิทยาเชื่อว่าภาษาในการแสดงความรักต่อกันมี 5 อย่าง บางคนอยากได้เวลาที่มีคุณค่า บางคนอยากได้การเอาอกเอาใจ บางคนอยากได้ของขวัญที่มาเซอร์ไพร์สในโอกาสพิเศษ บางคนอยากได้การกอดและสัมผัสที่นุ่มนวล บางคนอยากได้คำพูดหวานๆ ที่จริงใจ (อยากรู้ว่าใครต้องการอะไร ไปทำแบบทดสอบได้ที่ http://www.5lovelanguages.com จงหยิบยื่นสิ่งที่อีกฝ่ายอยากได้ ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองอยากให้
ดังนั้นหากเลือกทางนี้ กรุณามอบความรัก ให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ อย่างที่ตั้งใจ ไม่ใช่ตัดสินใจไม่ไป แต่ยังทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง จนไม่ได้อยู่กับครอบครัวอย่างเดิม
2. ตัดสินใจไป หากตัดสินใจแบบนี้ ให้บอกตัวเองว่าการไปครั้งนี้ เป็นการลงทุนเพื่อจะเก็บเกี่ยวดอกผลในอนาคต ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน มักตามมาด้วยรายได้ที่มากขึ้น หากรู้จักเก็บออมให้ดีในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ต้องจากบ้านไป ก็เป็นโอกาสในการสั่งสมความมั่งคั่งให้สามารถเกษียณอายุได้เร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทำงานจนแก่
การไปครั้งนี้ควรกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน บอกกับครอบครัวและ หัวหน้าหรือองค์กรตั้งแต่ต้นว่าจะไปแค่ 2 ปี เมื่อครบแล้วขอกลับ หากตกลงจึงจะไป ถ้าเป็นไปได้บันทึกเป็นเอกสารไว้เผื่ออนาคตที่ไม่แน่นอน วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาต้องกลับ คนที่เราคุยด้วยอาจไม่อยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว ที่สำคัญต้องใจแข็ง ครบกำหนดกลับก็ต้องกลับ แม้จะรู้สึกว่า งานยังไม่เสร็จ ผลสำเร็จยังไม่เห็นก็ตาม
ในระหว่างอยู่ต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ผมมีลูกค้าหลายคนที่บอกว่าระหว่างที่ทำงานต่างประเทศ ได้คุยกับแฟนและลูกๆ มากกว่าอยู่ด้วยกันซะอีก เพราะด้วยความห่างไกลและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้สื่อสารได้ง่ายขึ้น ไม่แน่วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิดมากกว่าแต่ก่อน ก็เป็นได้
3. ตัดสินใจว่าจะยังไม่ตัดสินใจ หากตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งข้างต้น ยังไม่ได้จริงๆ อาจใช้แนวทางที่ 3 คือ "ซื้อเวลา" สักระยะ บอกกับหัวหน้าว่าขอเวลาพูดคุยกับครอบครัว เพื่อตัดสินใจและจัดการธุระส่วนตัวที่คั่งค้างอยู่ให้เรียบร้อยก่อน ขอสัก 3 เดือนแล้วจะมาตอบว่าตัดสินใจอย่างไร ตอนนี้ขออนุญาต "ตัดสินใจว่าจะยังไม่ตัดสินใจ" ไปก่อนสักระยะ
ในระหว่าง 3 เดือนนี้ คิดทบทวน พูดคุยกับคนในครอบครัว มองหาทางเลือกอื่นๆ ที่อาจจะมี เช่น มองหางานใหม่ที่ได้เงินเพิ่มขึ้นอย่างที่อยากได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น บางทีเวลาก็ช่วยแก้ปัญหาได้เหมือนกัน
ถ้ายังคิดไม่ออกจริงๆ นี่อาจเป็นทางเลือกที่ดี ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็เป็นได้โชคดีครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com