ผู้นำสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติคนใหม่ มองการเพิ่ม Productivity ของประเทศไทย ชี้แนวทางหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ ไขกระบวนการเกิด Productivity ด้วย 3 กุญแจสำคัญ”Head-Hand-Heart“ เผยสิ่งแรกที่ตั้งใจทำคือเดินเครื่องรณรงค์ให้ความรู้เรื่อง Productivity ในวงกว้าง พร้อมกำหนดนโยบายบริหารงาน 5 ข้อ สู่การเป็น”High Performance Organization“
สร้างความแกร่งประเทศไทย
หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ดร.วีรชัย กู้ประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับการเพิ่ม Productivity ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หลายประเทศประสบความสำเร็จจากการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เช่น สิงคโปร์ เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศเป็นเวลาต่อเนื่อง โดยใช้ Productivity เป็นแกนหลักของการขับเคลื่อน ทำให้สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำทางเศรษฐกิจมาได้โดยตลอด
สำหรับการเพิ่ม Productivity ของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศไทยนั้น มองว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญ ต้องเร่งรัดการเพิ่ม Productivity ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศอย่างบูรณาการ ภายใต้ Productivity วาระแห่งชาติ
โดยเริ่มตั้งแต่การเพิ่ม Productivity ของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มีส่วนสร้างรายได้ของประเทศ นั่นคือผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งภาครัฐและและเอกชนต้องผนึกกำลังกันอย่างใกล้ชิดในการสร้างรากฐานความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยเพื่อการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสามารถพัฒนาสู่การเป็น Productivity Hero ได้ด้วยการเรียนรู้อยู่ตลอด (Life-Long Learning) เพื่อเอาชนะอุปสรรคและสร้างความสำเร็จบนความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และมีความไม่แน่นอนสูง
Productivity จึงเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ และเป็นเครื่องมือบริหารจัดการที่ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อนำไปใช้อย่างเหมาะสมถูกต้องถูกเวลา องค์กรนั้นๆ ย่อมจะแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ส่วนการผลักดัน Productivity ของประเทศจะประสบความสำเร็จได้ด้วยการสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนไปด้วยกันทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้วยการปลูกฝังในชีวิตประจำวัน ให้ความสำคัญกับเพิ่มศักยภาพของทุนมนุษย์ (Human Capital) ปรับเปลี่ยนจิตสำนึกใหม่ พัฒนาให้คนไทยเป็นบุคคลที่มีสมรรถนะ ความสามารถสูง เริ่มด้วย Productivity Mindset ระดับบุคคล โดยเฉพาะผู้นำภาครัฐและเอกชน เจ้าของกิจการธุรกิจทุกระดับ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เป็น Productivity Enterprise เพื่อนำไปสู่ Productivity Province และขยายสู่ประเทศชาติโดยรวม
Head-Hand-Heart
กระบวนการเกิด Productivity
“ความท้าทายของประเทศไทยคือกับดักรายได้ชนชั้นกลาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ 5 พันกว่าเหรียญ ซึ่งจะก้าวข้ามไปได้ต้องอยู่ที่ 1.2 พันเหรียญ ขณะที่มาเลเซียอยู่ในระดับ 7-8 พันเหรียญ แต่ประกาศแล้วว่าปีค.ศ. 2020 จะหลุดจากกับดักรายได้ชนชั้นกลางนั่นคือทะลุ 1.2 หมื่นเหรียญ”
“เหมือนกับสิงคโปร์เมื่อ 20-30 ปีที่แล้วเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศและทำได้ ด้วยการใส่ใจและทุ่มงบประมาณอย่างมากเพื่อพัฒนาคน เพราะไม่มีทรัพยากรอื่นและประเทศจะอยู่รอดหรือไม่อยู่ที่คนอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยมี 3 ปัจจัยหลักคือ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้ โดยใช้ 3 องค์ประกอบคือ Head-Hand-Heart หมายถึง เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือทำ และมีใจเต็มร้อย อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย” ผู้อำนวยการฯ คนใหม่ ขยายความ
Productivity เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่เริ่มด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดในการมองก่อนเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม คือ Head เช่น เปลี่ยนการมองขวดน้ำมาเป็นภาชนะอะไรก็ได้ที่ใส่น้ำได้แล้วน้ำไม่เน่า หรือถ้วยกาแฟพลาสติกที่ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้เพื่อให้สอดรับกับการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน
จากนั้น ต้องลงมือคือ Hand เพราะอะไรก็ตามจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลยถ้าไม่ลงมือทำ ซึ่งจะเห็นอุปสรรค ความท้าทาย ฯลฯ และสุดท้ายการมีใจเต็มร้อยคือ Heart เพื่อทุ่มเทอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
“ณ วันนี้ เราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก เพราะการสื่อสารที่ทันสมัยเข้าถึงทุกที่ทั่วโลก ดังนั้น เมื่อมีทั้งหมดคือ Head-Hand-Heart ก็พร้อมจะเข้าสู่สนามประลองหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิด Productivity”
กำหนดนโยบายบริหาร 5 ข้อ
มุ่งสู่ ”High Performance Organization“
ผู้นำคนใหม่ของสถาบันฯ กล่าวถึงนโยบายการบริหารงาน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ผลักดัน Productivity เป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ในทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างความตื่นตัวให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของ Productivity ในฐานะที่สถาบันเป็นกลไกของรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. สร้างแนวร่วม ขยายความร่วมมือ เพื่อผลักดัน Productivity ในระดับยุทธศาสตร์ของประเทศ และการนำไปสู่การปฏิบัติจริงขององค์กรภาครัฐ เอกชน ทุกระดับ
3. ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่ม Productivity ในทุกระดับ เช่น โครงการอุตสาหกรรมดีเด่นด้านการเพิ่มผลิตภาพ รางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ รวมถึง โครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award)
4. เสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน Productivity กับองค์กรแนวร่วมทั้งในและต่างประเทศ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาครัฐและเอกชน
5. ให้บริการเป็นที่ปรึกษาในด้านการเพิ่ม Productivity กับองค์กรส่งเสริม Productivity ในภูมิภาคอินโดจีน
สำหรับสิ่งแรกที่ตั้งใจจะทำเมื่อได้รับตำแหน่งคือ รณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้าน Productivity ในวงกว้าง ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาบุคลากรของสถาบัน ให้ทำหน้าที่เป็น Productivity Ambassador เพื่อเผยแพร่ความรู้ ด้าน Productivity แก่องค์กรต่างๆ และสาธารณชน
โดยมีการกำหนดทิศทางที่จะขับเคลื่อนสถาบันฯ ไปในอนาคต ด้วยการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่เรียกได้ว่าเป็น ”High Performance Organization“ สามารถชี้นำและผลักดัน Productivity ของประเทศ ให้มีการนำ Productivity ไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และชักชวนให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่ง ใช้ Productivity เป็นแนวทางบริหารจัดการ เพื่อเป็นต้นแบบแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศ
อีกทั้งคาดหวังให้สถาบันฯ มีภาพลักษณ์ที่ดี จากการได้รับความเชื่อถือยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ เป็นแหล่งความรู้ และรวบรวมประสบการณ์ในทางปฏิบัติ (Practical Knowledge) ของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากความรู้ในตำราทั่วไป เป็นความรู้ที่มีคุณค่าสูงเนื่องจากได้มาจากการลงมือปฏิบัติจริง เป็นองค์ความรู้ซึ่งมุ่งที่การปฏิบัติทั้งสิ้นกว่า 90 เครื่องมือให้นำไปใช้ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานและองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่องค์กรที่มาใช้บริการของสถาบัน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ว่า “สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ มีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ดร.วีรชัย กู้ประเสริฐ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผ่านประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานต่างๆ มากว่า 33 ปี เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสสว.ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ , บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) , ธนาคารดอยช์แบงก์ เยอรมนี และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล