Q: มีเพื่อนร่วมงานเป็นคนคุยสนุกแต่ช่างเม้าท์มาก ทำให้บางครั้งรู้สึกเสียเวลาในการติดต่องานกับเธอ แต่เนื่องจากดิฉันต้องติดต่องาน และขอความช่วยเหลือกับเธอบ่อยๆ จะมีวิธีการพูดอย่างไรไม่ให้เธอรู้สึกว่า เราตัดบทเธอเกินไปหรือกลายเป็นผู้ร่วมวงเม้าท์ถึงใครที่เราไม่ได้อยากมีส่วนร่วมด้วย
A: ปัญหานี้เข้าข่ายการบริหารจัดการแขกที่มิได้รับเชิญ ซึ่งเป็นการขัดจังหวะเวลาการทำงาน (Interruption) ที่หลายคนไม่ปรารถนา หากอยากเรียนรู้เพิ่มเติม หาหนังสือหรือไปเข้าสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการเวลา (Time Management) แต่ต้องดูเนื้อหาให้ดีว่ามีเรื่อง Interruption Management (การบริหารการขัดจังหวะ) หรือ Managing Time Wasters (การจัดการกับสิ่งที่ทำให้เสียเวลา) ด้วยหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจผิดหวังเสียตังค์ฟรี
สำหรับคำถามนี้ มีเทคนิคเล็กๆ มาแบ่งปัน
1. หากข้างหน้าโต๊ะของคุณมีเก้าอี้สำหรับให้แขกหรือผู้มาติดต่อนั่ง กรุณาเอาออกไปไว้ที่อื่นซะ เมื่อไม่มีเก้าอี้ ก็ไม่มีที่ให้นั่ง
2. ถ้าจำเป็นต้องคุย ให้ยืนคุย อย่านั่งคุย เพราะยืนคุยมีแนวโน้มยุติการสนทนาได้เร็วกว่าการนั่งคุย เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ในบริษัทญี่ปุ่น จะมีการประชุมแบบที่เรียกว่า ยืนประชุม (Stand up Meeting) เพราะเขาเชื่อว่าหากยืนประชุม จะใช้เวลาในการประชุมน้อยกว่าการนั่งประชุม เพราะยืนนานๆ เมื่อรู้สึกเมื่อย ก็จะได้รีบพูดรีบเลิก
3. หากเป็นไปได้ บอกเพื่อนคนนั้นไปว่า "ขอเวลาแป๊บเดียว เดี๋ยวเดินไปคุยด้วย" หลังจากนั้นเคลียร์งานให้เสร็จแล้วจึงเดินไปคุย (อย่ารับปากโดยไม่เดินไปคุยเด็ดขาด) การเดินไปคุย ช่วยให้เราบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น เมื่อเราเป็นฝ่ายเดินไปหา เราอยากจะกลับอยากจะเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่หากเชิญให้เพื่อนนั่งคุย คงเป็นการยากที่จะไล่ให้เพื่อนกลับไป
4. เตี้ยมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นในหน่วยงานที่สนิทๆ กันไว้ล่วงหน้าว่า หากเห็นว่ามีใครมาคุยกับเรานานๆ ให้โทรมาหาที่โต๊ะบอกว่า "นายเรียก" หรือ "นายของานด่วน" หรืออะไรประมาณนี้ แต่ต้องแน่ใจว่าเพื่อนคนที่ไหว้วานต้องไว้ใจได้ หากเรื่องนี้หลุดไป อาจทำให้เสียความรู้สึกจนพาลโกรธกันได้เลยทีเดียวเชียว
5. เอาโทรศัพท์มือถือมาตั้งเป็นสัญญาณปลุกไว้ โดยตั้งเสียงปลุกให้เหมือนกับเสียงโทรศัพท์เรียกเข้า อยากคุยกับเพื่อนคนนี้สักกี่นาที ก็ตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า พอเพื่อนคนนี้เดินมาคุย ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้หยิบโทรศัพท์มาเปิดสัญญาณ "ปลุก" (Alarm) พอถึงเวลา มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ก็ให้ทำเนียนๆ รีบรับแล้วตอบว่า "ค่ะ ค่ะ ครับ ครับ จะรีบทำให้เดี๋ยวนี้เลย" แล้ววางโทรศัพท์ จากนั้นหันมาขอโทษด้วยท่าทางนอบน้อมปนเสียดาย บอกว่า "มีงานด่วนจริงๆ ขอเวลาปั่นงานก่อนนะ วันหลังค่อยหาโอกาสคุยกันใหม่" เสร็จแล้วรีบหยิบโน่นนั่นนี่ขึ้นมาทำอย่างขะมักเขม้น ข้อพึงระวังสำหรับวิธีการนี้ คือ อย่าทำบ่อยเกินไป จนเขาจับได้ และต้องซ้อมให้เนียนที่สุด
หวังว่าคงพอเอาตัวรอดได้นะครับ
อันที่จริงเรื่องแบบนี้ ไม่น่าจะต้องเสียเวลาครุ่นคิดกลยุทธ์เลย แต่ชีวิตก็แบบนี้แหละ บางทีมีอะไรที่เป็นเรื่องมาก่อให้เกิดเรื่องเสมอๆ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com