Q: มีลูกน้องอยู่คนนึงไม่ค่อยละเอียด และไม่ค่อยฟัง เวลาบอกหรือแนะนำอะไร โอเค โอเค ครับ คร้าบ ตลอด แต่พอทำจริงขาดๆ เกินๆ พอผิดพลาดเข้าก็แถจนสีข้างถลอกเลือดซิบ จะมีข้อดีอยู่อย่างก็คือไม่มีปัญหาเรื่อง attitude เป็นคนมองโลกในแง่ดี อยากได้เทคนิกการบริหารจัดการลูกน้องประเภทนี้ค่ะ
A : ความดื้อของคนมีหลายอย่าง นั่นคือเหตุผลที่คนสมัยก่อนจึงแบ่งประเภทของความดื้อไว้หลากหลาย เคยได้ยินไหม เช่น "ดื้อรั้น" แปลว่าบอกให้ทำอย่างไปทำอีกอย่าง บอกว่าอย่าทำก็จะทำ ไม่เชื่อไม่ฟัง เถียงคำไม่ตกฟาก หรือ "ดื้อดึง" ซึ่งอาจมีดีกรีความไม่เชื่อฟังน้อยกว่าดื้อรั้นหน่อย แต่ก็ยังคงดันทุรังอยู่ บอกแล้วไม่ฟัง ยังพยายามตะแบงต่อไป
สำหรับกรณีของน้องคนนี้ที่ยกขึ้นมาปรึกษาเข้าข่าย "ดื้อด้าน" แปลว่าเวลาบอกก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร ไม่โต้เถียง แต่ไม่ฟังและที่สำคัญไม่ทำตามด้วย
แนวทางการบริหารจัดการลูกน้องประเภทนี้
1) อย่าเชื่อในคำตอบที่ได้ยิน อย่าถามคำถามปิดประเภท "เข้าใจไหม" "เห็นด้วยหรือเปล่า" ให้ถามคำถามเปิด เช่น "คิดจะทำอย่างไร" "ทำไมถึงคิดจะทำอย่างนั้น" "ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร" "มีแนวทางหรือขั้นตอนในการทำคร่าวๆ อย่างไร" เป็นต้น เน้นคำถามที่เจาะจงคำตอบประเภท How (คือจะทำอย่างไร) เป็นหลัก เพราะคนจะทำได้หรือไม่ ไม่ใช่รู้ What, When, Where, Why หรือ Who แต่ต้องรู้ How
2) หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น อย่าถามคำถาม Why (ทำไมถึงผิดพลาด) เพราะรับรองได้ว่าจะได้รับฟังคำอธิบายที่ทำให้อารมณ์เสียอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ให้ถามว่า "ได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้" "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ใหม่ คิดจะทำอะไรที่แตกต่าง เพราะอะไร" และ "ตอนนี้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร"
3) ปัญหาคน "ดื้อด้าน" แก้ไขไม่ได้ด้วยการ "พูด" เพราะพูดเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาหมด คนพวกนี้ฟังเหมือนไม่ได้ฟัง เพราะใจคิดอย่างอื่น วิธีการที่แยบยลในการทำให้คนพวกนี้ทำงานได้ดีขึ้น คือ บังคับเขาให้คิดมากขึ้นด้วยวิธีการตั้งคำถาม ซึ่งแม้จะฟังดูเหมือนเสียเวลาสักหน่อย แต่อย่างน้อยทำให้เราได้เข้าใจวิธีคิดของเขาและหวังว่าเขาจะทำตามที่เขาคิดมากกว่าตามที่เราบอก
อย่างไรก็ตามหากพยายามแล้วแต่ยังไม่ได้ผล มีทางเลือกให้อีก 3 แนวทางดังนี้
1) ใช้เวลาจ้ำจี้จ้ำไชให้มากกว่านี้ ให้เขาเอางานมานั่งทำต่อหน้าเรา ว่ากันไปทีละ Step ยอมเสียเวลาตอนแรก ดีกว่าเสียอารมณ์และเสียเวลาตามไปแก้ทีหลัง
2) ย้ายงานไปหน่วยงานหรือแผนกอื่น ที่อาจจะมีหัวหน้าที่เด็ดขาด จัดการได้ดีกว่าเรา
3) ให้ออกไปซะ เพราะมองดูแล้วไม่มีงานอื่นเหมาะสม ประกอบกับเราเองก็ไม่มีเวลาที่จะมาจำจี้จำไชได้
ตลอดเวลาผมคิดว่าทำได้แค่นี้นะครับ ลองดู จากเบาไปหาหนัก !
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com